Lifestyle

‘หนู’สัตว์ร่วมบ้านมนุษย์มากว่าหมื่นปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘หนู’สัตว์ร่วมบ้านมนุษย์มากว่าหมื่นปี

                  หลักฐานจากซากฟอสซิลชี้ว่า หนูอาศัยร่วมกับมนุษย์นาน 15,000 ปีแล้ว นับว่ายาวนานกว่าที่คาดไว้ และก่อนเข้าสู่ยุคเกษตรกรรม บรรดานักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หนูป่าคืบคลานเข้ามาในดินแดนพระจันทร์เสี้ยว หรือภูมิภาคแถบตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในปัจจุบัน เพื่อขโมยธัญพืชป่า และเมล็ดพืชที่คนโบราณรวบรวมมาเก็บสะสมไว้ ผู้บุกรุกในอดีตเหล่านี้ ได้กลายมาเป็นหนูบ้านในปัจจุบัน เป็นหนูที่เพลิดเพลินอยู่กับอาหาร และมีที่อยู่อาศัยภายในบ้านของมนุษย์

                โธมัส คุชชี จากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติประวัติศาสตร์ธรรมชาติ กรุงปารีสของฝรั่งเศส บอกว่า ปัจจุบันนี้หนูบ้านสร้างอาณานิคมเกือบทุกซอกมุมของโลก แทบจะแพร่หลายไม่ต่างจากมนุษย์ และยังเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจอมรุกรานที่สุดอีกด้วย คุชชี ยังตั้งทีมวิจัยร่วมกับ ลิออร์ ไวสบรอด นักโบราณคดีผู้ทำวิจัยจากมหาวิทยาลัยไฮฟาของอิสราเอล เพื่อศึกษาฟันกรามของหนูหลายร้อยตัว จากถ้ำต่างๆ และพื้นที่เปิด 5 แห่งทั่วดินแดนพระจันทร์เสี้ยว โดยพบรูปแบบที่สลับซับซ้อนในช่วงเวลาที่ผ่านมา

                 อย่างเช่น เมื่อประมาณ 200,000 ปี ก่อนที่ชนเผ่านักล่าสัตว์หาอาหารนาทูเฟียนเข้ามาตั้งรกรากที่นี่ ฟันกรามที่พบ 100% เป็นของหนูมาซิโดเนียน (Mus macedonicus) ทว่าในช่วงราว 15,000 ปีก่อน ฟันกรามเหล่านี้กลับมาจากหนูบ้าน การศึกษายังพบว่า หนูเริ่มต้นความสัมพันธ์ร่วมกับมนุษย์ ในเวลาเดียวกับที่มนุษย์เราเริ่มตั้งถิ่นฐานและสร้างบ้านเมื่อ 15,000 ปีก่อน โดยเป็นบ้านทรงกลมที่ทำจากหินและโคลน พร้อมทั้งหาอาหารประเภทธัญพืชป่าอย่างข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ รวมถึงล่ากวางและหมีป่า

                 หนูยังเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบเดียวกันด้วยอาหารที่สมบูรณ์เพียงพอ แถมยังมีผู้ล่าไม่มากนัก เพียงช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่แมวและสุนัขจะเข้ามาในถิ่นที่หนูอาศัยอยู่ ที่น่าสนใจคือ พื้นที่แห่งนี้ยังประกอบด้วยหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดบางชิ้นที่บ่งชี้ถึงการเลี้ยงสุนัข โดยอยู่ในรูปของพิธีฝังศพมนุษย์ซึ่งวางมือบนลูกสุนัข

                 เจเรมี ซีเริล จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล กล่าวว่า ผลการศึกษาได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของหนูบ้านกับมนุษย์ยุคก่อนอุตสาหกรรม สิ่งสำคัญคือ การดำรงชีวิตด้วยการเก็บสะสมเมล็ดพืชต่างๆ โดยไม่ต้องนำมาเพาะปลูก แต่อาจเป็นแหล่งอาหารป่าที่นักล่าสัตว์และหาอาหารรวบรวมไว้ แม้หนูบ้านจะเป็นสัตว์ป่า แต่พวกมันมักจะอาศัยร่วมกับมนุษย์ ทั้งยังถูกเลี้ยงดูอย่างเต็มที่ราวกับเป็นสัตว์เลี้ยงหรือหนูในนิทาน ไม่เว้นแม้กระทั่งหนูทดลอง ซึ่งเป็นรูปแบบในการศึกษาทางการแพทย์ที่สำคัญที่สุดรูปแบบหนึ่ง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ