Lifestyle

ตัวด้วงจิ๋ว ‘โบราณ’ ในอำพัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตัวด้วงจิ๋ว ‘โบราณ’ ในอำพัน

                เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบตัวด้วงจิ๋วคล้ายแมงดาทะเลที่ติดกับอยู่ในอำพันตั้งแต่ยุคครีเทเชียสเมื่อราว 99 ล้านปีก่อน ด้วงชนิดนี้จัดอยู่ในประเภทเทอร์มิโตฟิลิส หรือพวกที่ชอบปลวก ซึ่งเป็นสัตว์ที่มักขุดโพรงจอมปลวกเพื่ออาศัยอยู่กับแมลงชนิดต่าง ๆ ทั้งยังได้รับประโยชน์จากแหล่งอาหารด้วย ก่อนที่จะพบซากดึกดำบรรพ์ฝังในอำพัน สัตว์จำพวกเทอร์มิโตฟิลิสที่เก่าแก่ที่สุดมาจากสมัย 19 ล้านปีก่อน อีกทั้งแมลงกลุ่มชนิดพิเศษนี้เคยบุกจอมปลวกและอาศัยร่วมกับอาณาจักรแมลงอื่น ๆ มานานกว่าที่คาดไว้

              ด้วงที่ค้นพบมีชื่อว่า ครีโตไตรคอปเซเนียส เบอร์มิติคุส (Cretotrichopsenius burmiticus) โดยชื่อสกุลมาจากชื่อของยุคครีเทเชียส และด้วงสกุล Trichopsenius ส่วนคำว่าเบอร์มิติคุส หมายถึงอำพันที่ห่อหุ้มซากดึกดำบรรพ์ที่เรียกว่า เบอร์ไมต์ พบในเหมืองแร่แห่งหนึ่งของเมียนมา (หรือพม่าเดิม) ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่สถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาศาสตร์หนานจิง ของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ณ กรุงปักกิ่ง

              ด้วงครีโตไตรคอปเซเนียส เบอร์มิติคุส มีความยาวราว 0.7 มิลลิเมตร หัวทรงรีกว้าง มีหนามบริเวณขาทั้งสองข้าง และมีลำตัวสีน้ำตาลเป็นหยักพร้อมปลายขนเล็ก ๆ หนาแน่น ลักษณะบางอย่างบนลำตัวชี้ให้เห็นว่า ด้วงชนิดนี้เป็นชนิดใหม่ แม้โดยรวมจะดูคล้ายด้วงก้นกระดกปัจจุบันที่อาศัยร่วมกับบรรดาปลวก งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารซูแทกซา เมื่อปี 2554 ระบุว่า ด้วงตระกูลสตาฟีลินิดี (Staphylinidae) มีขนาดหลากหลายแบบ หรือที่เรียกว่า ด้วงก้นกระดก มีอยู่ราว 3,500 สกุล และ 56,000 ชนิดโดยประมาณ นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ปลวกน่าจะถือกำเนิดขึ้นในยุคจูราสสิก (199.6 ล้าน-145.5 ล้านปีก่อน) โดยซากดึกดำบรรพ์ที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุ 135 ล้านปี

                 การสืบเสาะความสัมพันธ์ระหว่างปลวกโบราณและสัตว์อิงอาศัยอย่างด้วงก้นกระดกนับว่าท้าทาย เพราะหลักฐานใหม่บ่งบอกว่า ด้วงก้นกระดกจับคู่กับปลวกชนิดต่าง ๆ เมื่อ 80 ล้านปีก่อน ยาวนานกว่าที่คิดไว้ ชี้ว่า ด้วงชนิดต่าง ๆ มีความเชี่ยวชาญในการรุกรานที่อยู่อาศัยของปลวกอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว “ซากดึกดำบรรพ์ยังแสดงให้เห็นถึงระบบนิเวศวิทยาอันอุดมสมบูรณ์ของสังคมแมลงยุคครีเทเชียส รวมถึงวิวัฒนาการร่วมระหว่างปลวกอันยาวนาน ทั้งยังเป็นครั้งแรกของสังคมแมลงทั้งปวงและกลุ่มสัตว์มีปล้องอีกหลายชนิด” ผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวารสาร “เคอร์เรนต์ ไบโอโลจี” เมื่อวันที่ 13 เม.ย.60 ที่ผ่านมา จากการสนับสนุนของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ร่วมกับมูลนิธิวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ มูลนิธิวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมณฑลเจียงซู และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ