Lifestyle

'“โรคเชื้อรางู”' ภัยคุกคามงูหางกระดิ่งทิมเบอร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย-โต๊ะข่าวสัตว์เลี้ยง

               ประชากรงูในสหรัฐ กำลังเจอกับการโจมตีจากการติดเชื้อแบบแปลกประหลาด และยังไม่มีใครรู้ถึงสาเหตุของเรื่องนี้ เมื่อปี 2549 เหล่านักชีววิทยา ที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับงูหางกระดิ่งทิมเบอร์ ซึ่งเป็นงูหางกระดิ่งชนิดเดียวที่พบในรัฐนิวแฮมเชียร์ ได้ทำการบันทึกถึงสัญญาณเตือนภัยบางอย่าง ซึ่งก็คือ จำนวนประชากรงูที่ลดลงอย่างมาก

              นักวิจัยพบว่า งูหางกระดิ่งชนิดนี้ ที่ปกติเป็นสัตว์หายากอยู่แล้ว มีเหลืออยู่ตามธรรมชาติราว 40 ตัวเท่านั้น เริ่มตายลงในอัตราที่มากอย่างผิดปกติ มีเหลือรอดอยู่ไม่เกิน 20 ตัว และในอีก 5 ปีต่อมา จำนวนของงูหางกระดิ่งทิมเบอร์ก็ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำมากเหมือนเดิม ก่อนที่จะตายนั้น งูหางกระดิ่งทิมเบอร์จำนวนมาก มีอาการบ่งบอกถึงการติดเชื้อที่ผิวหนังอย่างรุนแรง บริเวณหัว และตามลำตัว

               ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณบ่งชี้ของโรคที่เกี่ยวกับเชื้อรา ที่มีความรุนแรงถึงชีวิต และกำลังระบาดอยู่ภายในกลุ่มงูทั่วภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ ปัจจุบัน รัฐต่างๆ ในสหรัฐมากกว่า 16 รัฐ และในพื้นที่บางส่วนของแคนาดา มีรายงานการค้นพบงูอย่างน้อย 30สายพันธุ์ที่ติดเชื้อ “โรคเชื้อรางู” อาการเริ่มต้นของโรคในงูที่ติดเชื้อโรคดังกล่าวมักไม่ค่อยรุนแรงนัก แต่เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของงูตรวจพบเชื้อโรค และเริ่มทำปฏิกิริยาเพื่อขจัดเชื้อ ผิวหนังส่วนที่ติดเชื้อจะเริ่มหนาขึ้น และตายลง กลายเป็นแผ่นหนาสีน้ำตาล หรือเหลือง บางครั้งแผ่นเหล่านี้จะลอกออก ทำให้เนื้องูเปิดโล่ง และเชื้อราก็จะเริ่มแพร่กระจายอีกครั้ง

            ถ้าหากการติดเชื้อลามไปถึงหัวงู อาจส่งผลกระทบต่อสายตา หรือระบบการดมกลิ่นของงู ทำให้ล่าเหยื่อไม่ได้ และต้องตายลงในที่สุดเพราะขาดอาหาร หรือต่อให้การติดเชื้อจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณลำตัวงู ก็อาจส่งผลรบกวนต่อพฤติกรรมของงู ในแบบที่ทำให้เกิดความเสี่ยงที่งูจะตายได้

           แม้เหล่านักชีววิทยาจะรับรู้เกี่ยวกับรายละเอียดของโรคนี้เป็นอย่างดี แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังตรวจสอบให้แน่ชัดลงไปไม่ได้ว่า เชื้อราชนิดใดที่เป็นตัวทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นมา ผลการศึกษา 2 ชิ้นที่เผยแพร่เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า งูที่สุขภาพแข็งแรงจะเป็นโรคนี้ หากติดเชื้อราในดินที่เรียกว่า โอฟิดิโอไมซิส โอฟิโอดิอิโคลา (Ophidiomyces ophiodiicola) แต่สิ่งที่น่าสงสัยคือ เชื้อราชนิดนี้พบได้ในแถบอเมริกาเหนือมานานแล้วก่อนที่โรคเชื้อราในงูจะเริ่มระบาดเสียอีก

            แมตต์ อัลเลนเดอร์ ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยจาก 1 ใน 2 ชิ้น จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ของสหรัฐ กล่าวว่า เชื้อราเหล่านี้พบได้ในถิ่นที่อยู่อาศัยที่ต่างกันโดยแพร่กระจายอยู่ทั่วบริเวณ และมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดการระบาดอย่างเช่น โรคที่เกิดจากจุลชีพก่อโรค แต่การที่เชื้อรากลายเป็นฆาตกรสังหารงูเมื่อไรนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด

                    ขณะที่เจฟฟรีย์ ลอร์คผู้ร่วมเขียนงานวิจัยเชื้อราอีกชิ้นหนึ่ง จากศูนย์สำรวจทางธรณีวิทยาและสุขภาพสัตว์ป่าแห่งชาติสหรัฐ ที่รัฐวิสคอนซินระบุไว้ในรายงานที่ออกมาเมื่อเดือนต.ค.ว่า อาจเป็นไปได้ว่าสภาพแวดล้อมในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกาเหนือ มีความชื้นมากผิดปกติในปี 2549 ที่มีการพบโรคเชื้อราในงูนี้เป็นครั้งแรก

                อัลเลนเดอร์ บอกด้วยว่า โรคเชื้อราในงูบางชนิดกำลังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะต่องูสายพันธุ์หลักๆ ที่เขาวิจัยอยู่ ซึ่งเป็นงูหางกระดิ่งพื้นเมืองสายพันธุ์แมสซาซอกา (EasternMassasaugaRattlesnake) มีอัตราการตายจากโรคดังกล่าวถึง 92.5% ทั้งนี้ งู ถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเพราะช่วยกำจัดหนู และสัตว์อื่นที่เป็นพาหะนำโรค หากงูเริ่มหายไปจากท้องถิ่นแล้ว อาจเกิดโรคระบาดร้ายแรงที่คุกคามต่อสุขภาพของคนเพิ่มมากขึ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ