Lifestyle

ตามหาเสียงร่ำไห้ของ “บ่าง” 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย -โต๊ะข่าวสัตว์เลี้ยง

        บ่าง  ชื่อวิทยาศาสตร์ Cynocephalus variegatus มีรูปร่างคล้ายกระรอกบินขนาดใหญ่ลำตัวยาวระหว่าง 34-42 เซนติเมตร หางมีลักษณะแหลมและยาว 17.5-27 เซนติเมตร และมีน้ำหนักอยู่ที่ 0.9-2 กิโลกรัม พวกมันมีขนที่เล็กละเอียด มีสีแดงหรือน้ำตาลเทา พร้อมเกล็ดแสงและก้นสีซีด หัวมีขนาดเล็ก มีนัยน์ตากลมโต หูที่เล็กกลม และจมูกทื่อ บ่าง มีพังผืดที่แข็งแรงเชื่อมติดต่อกันไปทั่วตัว โดยเชื่อมระหว่างขาหน้าและขาหลัง ขาหลังกับหางและระหว่างขาหน้ากับคอ

         พังผืดเหล่านี้ทำให้มันบินไปได้ไกลกว่าร้อยเมตรระหว่างต้นไม้ โดยที่ยังบินสูงได้ไม่ตกเลย บ่าง เป็นสัตว์ที่พบได้ตามป่าดิบในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมักจะอาศัยตามลำพัง หรือเป็นกลุ่มเล็กอย่างหลวม ๆ ในบริเวณที่มีใบไม้หนาแน่นตามต้นไม้สูง ๆ หรือโพรงไม้ โดยอาศัยได้ในป่าทุกสภาพ ไม่เว้นแม้กระทั่ง ป่าเสื่อมโทรม หรือตามเรือกสวนไร่นาที่มีการทำเกษตรกรรม

           ตอนกลางวัน บ่างจะนอนหลับพักผ่อน และออกหามากินช่วงกลางคืน โดยกินจำพวกดอกไม้ ต้นอ่อน หน่อ ใบอ่อน ผลไม้ น้ำหวานและน้ำเลี้ยงต้นไม้ บ่างจะตั้งท้องนานประมาณ 60 วัน ออกลูกครั้งละตัว บางครั้งอาจมี 2 ตัวลูกบ่างแรกเกิดมักมีการพัฒนาไม่มากนักคล้ายสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง แม่บ่างจะเลี้ยงลูกไว้โดยให้เกาะที่ท้อง เวลาเกาะอยู่กับต้นไม้ ผังผืดระหว่างขาจึงทำหน้าที่เหมือนเปลเลี้ยงลูกเป็นอย่างดีซึ่งลูกบ่างจะเริ่มหย่านมเมื่อมีอายุได้ 6 เดือน

          ลักษณะเฉพาะของบ่างอย่างหนึ่งคือ มีเสียงร้องคล้ายเสียงคนร้องไห้ ซึ่งคนที่อาศัยตามชายป่า หรือผู้ที่ชื่นชอบการผจญภัยจะทราบว่า เสียงร้องของมันน่ากลัวเหมือนผี และเมื่อยามโพล้เพล้พระอาทิตย์ตกดิน บ่างจะออกมาจากที่พักของมัน แล้วห้อยหัวลงมาที่พื้นโดยใช้เท้าทั้ง 2 ข้างเกาะกิ่งไม้เหมือนค้างคาว ส่วนหัวและเท้าหน้าจะม้วนเข้าหาลำตัว มันจะทำเช่นนี้จนกว่าแสงสุดท้ายของวันหมดลง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครทราบถึงสาเหตุที่ทำให้บ่างมีพฤติกรรมเช่นนี้

          แม้ว่าทางภาคเหนือและอีสานจะเรียกบ่างว่าเป็นกระรอกบิน แต่บ่างต่างจาก กระรอกบิน ตรงที่บ่างมิใช่สัตว์ในอันดับสัตว์ฟันแทะอย่างกระรอก(Petaurista petaurista) อีกทั้งพังผืดของกระรอกบินมีหน้าที่ไว้สำหรับร่อนตามระหว่างต้นไม้ แต่มันบินไม่ได้ ในขณะที่ภายใต้ของไทยจะเรียกบ่างว่าพุงจง หรือพะจง แทน สำนวนไทยเรา มีคำที่กล่าวเกี่ยวกับบ่างว่า “บ่างช่างยุ” มีความหมายเปรียบกับ คนที่ชอบยุแยงให้ผู้อื่นแตกแยกกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ