Lifestyle

เริ่มที่เสริมความงาม...จบที่เสียน้ำตา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ประเด็นหลักๆ ของปัญหาการร้องเรียน คือ โฆษณาเกินจริง เช่น ใช้รูปที่สวยงามจริงที่ทำได้ คิดค่าบริการแพงกว่าที่โฆษณา ฯลฯ

       การทำศัลยกรรมเสริมความงาม การเสริมจมูก เสริมหน้าอก เสริมคาง ทำตาสองชั้น ฯลฯ รวมถึงการให้บริการดูแลความงาม กระชับสัดส่วน ลดน้ำหนัก ฉีดโบท็อกซ์ กลายเป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นในปัจจุบัน แทบทุกส่วนบนใบหน้าและร่างกาย สามารถผ่านมือแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบตามความเชื่อ และตามความชอบได้ทั้งสิ้น กลายเป็นธุรกิจที่พบได้ทุกที่ แม้แต่ในห้างสรรพสินค้า

       พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อธิบายว่าปัญหาเกี่ยวกับธุรกิจเสริมความงามแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ธุรกิจเสริมความงามที่เกี่ยวกับแพทย์ คือ การผ่าตัดเสริม หรือตกแต่งอวัยวะต่างๆ ฯลฯ และธุรกิจเสริมความงามที่ไม่เกี่ยวกับแพทย์ คือ การดูแล บำรุงผิวพรรณ การลดความอ้วน กระชับสัดส่วน (โดยไม่ผ่าตัด) ฯลฯ

เริ่มที่เสริมความงาม...จบที่เสียน้ำตา

 พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์

       “ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้บริการที่ไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ เช่น การลดน้ำหนัก หรือลดสัดส่วน การทำผิวขาว ฯลฯ โดยผู้บริโภคดูจากโฆษณาตามสื่อต่างๆ แต่เมื่อไปใช้บริการ ผลที่ได้กลับไม่เป็นตามที่โฆษณาไว้ นอกจากนั้น ยังได้รับความเสียหาย บาดเจ็บ จมูกที่เสริม หรือหน้าอกที่เพิ่มขนาดด้วยวัสดุที่ไม่มีคุณภาพ ดูดไขมัน หรือฉีดโบท็อกซ์ แบบไม่มีคุณภาพ เมื่อไปเรียกร้องจากคลินิกเหล่านั้น กลับพบความจริงว่า บางครั้งคลินิกก็แก้ไขให้ไม่ได้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่แพงมาก หรือถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็มาร้องเรียนที่ สคบ.” เลขาธิการ สคบ. กล่าว

       ประเด็นหลักๆ ของปัญหาการร้องเรียน คือ โฆษณาเกินจริง เช่น ใช้รูปที่สวยงามจริงที่ทำได้ คิดค่าบริการแพงกว่าที่โฆษณา ฯลฯ คุณภาพของยา และวัสดุอุปกรณ์คุณภาพต่ำ แพทย์ผู้ทำศัลยกรรมไม่ใช่แพทย์เฉพาะทาง ซึ่งไม่มีใบอนุญาตโดยเฉพาะ ถือว่าผิดกฎหมาย และที่ร้ายแรงที่สุด คือ ผู้ลงมือดูดไขมันหรือฉีดโบท็อกซ์ เป็นเพียงผู้ช่วยแพทย์เท่านั้น

เริ่มที่เสริมความงาม...จบที่เสียน้ำตา

        เลขาธิการ  สคบ. กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดจากผู้บริโภคคือ ผู้บริโภคสมัครใช้บริการเสริมความงามแล้วแต่ขอยกเลิก ซึ่งมีเหตุผลหลากหลาย อาทิ เปลี่ยนใจ ไม่อยากทำ สมัครเพราะต้องการอวดเพื่อน อวดรวย แล้วมาแอบยกเลิกภายหลัง ฯลฯ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ทำให้ สคบ.ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ แพทยสภา กรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ออกมาตรการเพื่อควบคุมธุรกิจเสริมความงาม ดังนี้ 1.ผู้ประกอบการจะต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการสถานเสริมความงามจากกระทรวงสาธารณสุข 2.จะต้องมีการจัดแพทย์เฉพาะทางที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่ให้คำปรึกษา และรักษาผู้รับบริการในทุกสาขา โดยมีการติดประกาศรายชื่อแพทย์ผู้ทำการรักษาในแต่ละวันไว้อย่างชัดเจน 3.เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการ ผู้ประกอบการต้องดำเนินการเยียวยาแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเกี่ยวกับเรื่องเดิมขึ้นซ้ำอีก

       4.กำหนดราคาค่าบริการที่เป็นธรรม โดยใช้มาตรฐานราคากลางเป็นหลัก ตามที่แพทยสภากำหนดมาตรฐานราคาค่าบริการไว้แล้ว และอยู่ในระหว่างปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้มีความครอบคลุมกับชนิดของการให้บริการในปัจจุบัน และ 5.ใช้ข้อความโฆษณาที่เป็นธรรม เพราะปัจจุบันพบการโฆษณาสถานเสริมความงามที่นิยมนำดารามาเป็นผู้แสดงในโฆษณาอย่างแพร่หลาย ทั้งทางสื่อโทรทัศน์ และนิตยสาร บางครั้งมีการใช้ข้อความโฆษณาที่เกินจริง ข้อที่ 6.สำคัญมาก กรณีผู้ใช้บริการอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องได้รับอนุญาตและความยินยอมจากผู้ปกครองแล้วเท่านั้น โดยผู้ปกครองจะต้องเดินทางไปยังสถานประกอบการ เพื่อลงนามอนุญาตในเอกสารการขอรับการรักษาด้วยตนเอง ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

เริ่มที่เสริมความงาม...จบที่เสียน้ำตา

       “ถ้าเราใช้ความรอบคอบพิจารณาก่อนตัดสินใจ เราจะพบว่า บางสิ่งที่ราคาสูง เพราะคัดเลือกมาแต่ของคุณภาพดี หรือเสริมความงามแล้วมีความงดงามถูกใจ เพราะด้วยฝีมือแพทย์และเครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนอุปกรณ์เกี่ยวข้องที่มีมาตรฐาน ซึ่ง สคบ.พอจะช่วยเหลือในกรณีนี้ได้ คือ นอกจากจะรับเรื่องร้องเรียนแล้ว ยังสามารถให้คำแนะนำให้รอบคอบก่อนเลือกใช้บริการ อย่าหลงเชื่อโฆษณาง่ายๆ ถ้าไม่แน่ใจให้สอบถามไปได้ที่ สายด่วน สคบ.1166 เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการใช้บริการเสริมความงามเหล่านี้” พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เน้นย้ำ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ