Lifestyle

 ‘ละมั่งมองโกเลีย’ เหยื่อไวรัสพีพีอาร์ เสียชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย -โต๊ะข่าวสัตว์เลี้ยง

          การเสียชีวิตของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤตอย่าง “ละมั่งมองโกเลีย“ กว่า 2,000 ตัว มีสาเหตุมาจากโรคที่อาจคุกคามประชากรละมั่งทั้งหมด นักวิทยาศาสตร์จากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (ดับเบิลยูซีเอส) ซึ่งทำงานในพื้นที่ทุ่งหญ้าทางมองโกเลียตะวันตก พื้นที่เกิดโรคระบาด ระบุว่า โรคที่อุบัติขึ้นภายในปศุสัตว์ เกิดจากไวรัสพีพีอาร์ หรือไวรัสจากโรคระบาดในสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก

            เอนค์ตุชิน ชิลลีกดัมบา สัตวแพทย์จากดับเบิลยูซีเอส บอกว่า มีละมั่งเสียชีวิตไปแล้วจำนวน 2,500 ตัว และต้องดำเนินการเผาทิ้งซากศพเหล่านี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค บรรดานักวิจัยกล่าวถึงความเร็วในการระบาดของโรคว่า อยู่ในระดับที่น่าตกใจ และว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นกรณีการติดเชื้อร้ายแรงครั้งแรก ที่เกิดขึ้นในหมู่ประชากรละมั่ง และนอกเหนือจากการสูญเสียสัตว์หายากชนิดนี้แล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังกังวลถึงผลกระทบต่อสัตว์สายพันธุ์เดียวกันชนิดอื่นๆ อาทิ แพะป่า และแกะเขาใหญ่ที่อาศัยในพื้นที่เดียวกัน

             “หากโรคระบาดนี้แพร่ไปถึงฝูงกวางกาเซลล์มองโกเลีย ที่มีอยู่ราว 1.5 ล้านตัว ตระเวณไปทั่วภาคตะวันออกของจีนแล้ว ก็จะเกิดหายนะอย่างมากต่อทั้งเศรษฐกิจและระบบนิเวศ”

               ข้อวิตกอีกอย่างหนึ่งของเหล่านักวิจัยที่มีต่อโรคระบาด คือ การขาดแคลนเหยื่อสำหรับเสือดาวหิมะ สัตว์ท้องถิ่น รวมถึง ผลกระทบที่จะมีต่อสุขภาพ และประชากรของสัตว์ประเภทนี้ ทั้งอาจทำให้เสือดาวหิมะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกนายพรานล่า เพราะการขาดเหยื่อที่เป็นอาหารตามธรรมชาติ จะบีบให้พวกมันหันไปหาฝูงสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านแทน ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาโรคระบาดในสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก คือการให้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพในปศุสัตว์ และขจัดเชื้อให้หมดไปจากทวีปเอเชีย ซึ่งฝูงแกะ แพะ และปศุสัตว์ในท้องถิ่นอื่นๆ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้รับวัคซีนแล้ว อแมนดา ไฟน์ สัตวแพทย์ในโครงการสุขภาพสัตว์ป่าดับเบิลยูซีเอสในเอเชีย ระบุว่า การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคมีความจำเป็น ไม่เพียงแต่ในพื้นที่ที่ละมั่งอาศัยอยู่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงที่อยู่อาศัยของสัตว์ได้รับผลกระทบชนิดอื่นด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าโรคจะไม่ระบาดไปยังสัตว์ที่เหลืออยู่ และปกป้องประชากรละมั่งมองโกเลียชุดสุดท้ายจากการสูญพันธุ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ