Lifestyle

นวัตกรรมสุดล้ำหนึ่งเดียวในโลกสู้มะเร็งเต้านม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

3 นวัตกรรมใหม่ เพิ่มความแม่นยำในการตรวจพบมะเร็งเต้านม

     อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งเต้านมของสตรีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่มารับการรักษามีอัตราสูงขึ้น ปัจจุบันสถิติเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งสตรีในประเทศไทย ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรักษามะเร็งเต้านม จึงมีการปรับปรุงและพัฒนาการรักษาขึ้นใหม่ โดย นพ.กฤษณ์ จาฏามระ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดงานเปิดตัวเครื่องตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมเครื่องแรกของโลก และนวัตกรรมสำหรับต่อสู้โรคร้าย ในการนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตร

     นพ.กฤษณ์ เผยถึงเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านม เดดิเคตเต็ด ทรีดี โคน-บีม คอมพิวเต็ด โทโมกราฟี ซึ่งเป็นเครื่องแรกของโลกที่สามารถสร้างภาพสามมิติของเต้านม โดยไม่มีการบีบเต้านมและใช้เวลาในการตรวจเพียง 10 วินาทีเท่านั้น ซึ่งสามารถระบุตำแหน่งที่มีความผิดปกติได้อย่างแม่นยำ ภาพจากการเอกซเรย์ก็มีความละเอียดสูง สามารถหมุนได้ทุกทิศทางและขยายภาพเฉพาะจุดได้ หากตรวจพบเซลล์ผิดปกติ แพทย์สามารถเปิดด้านข้างของเครื่องและนำเครื่องมือเข้าไปเจาะชิ้นเนื้อตรวจได้ทันที โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

     “เพื่อเพิ่มมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม จึงได้เพิ่มศักยภาพโดยการติดตั้งเครื่องแมมโมแกรมสามมิติ ล่าสุดได้ติดตั้งเครื่องที่มีการพัฒนาเป็นรุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นเครื่องแรกในประเทศไทย คือ Affirm Tomosynthesis ที่สามารถตรวจเต้านมสามมิติ พร้อมฉีดสารทึบรังสี สามารถระบุพิกัดของจุดที่มีความผิดปกติได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังสามารถติดตั้งอุปกรณ์เจาะชิ้นเนื้อ และวางลวดนำเพื่อระบุตำแหน่งในการผ่าตัดได้ โดยปัจจุบันมีเครื่องที่เปิดให้บริการรวมทั้งหมด 3 เครื่อง” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเผย

     ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าศูนย์ กล่าวอีกว่า เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดคือเครื่องดิจิทัล บราสต์ อินฟราเรด อิมเมจจิง ซิสเต็ม เป็นการตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วยการวัดอุณหภูมิในจุดต่างๆ ของเต้านมที่ละเอียดที่สุดเครื่องแรกของประเทศไทย เนื่องจากเซลล์มะเร็งที่มีการแบ่งตัวเร็วขึ้นจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีการสร้างเส้นเลือดใหม่ ทำให้กล้องตรวจพบบริเวณที่มีเซลล์แปลกปลอมได้ก่อนจะกลายเป็นก้อนมะเร็ง ซึ่งกล้องตัวนี้ทำงานด้วยรังสีอินฟราเรด สามารถพบความต่างอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 0.02 องศาเซลเซียส จุดเด่นของเครื่องมือชนิดนี้คือไม่ต้องมีการบีบเต้านม ไม่ต้องสัมผัสรังสีเอกซเรย์ และไม่ใช้การฉีดยาเข้ามาในกระบวนการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

     “สำหรับเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านม และเครื่องดิจิทัล บราสต์ อินฟราเรด อิมเมจจิง ซิสเต็ม เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก จึงต้องใช้เวลาในการศึกษาและทดสอบประสิทธิภาพก่อน คาดว่าต้องใช้เวลาราว 3 เดือน ก่อนเปิดให้ประชาชนใช้บริการ ซึ่งการทำงานของทั้ง 3 เครื่องนั้นต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน แต่ทั้ง 3 เครื่องล้วนช่วยให้การวินิจฉัยมีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ซึ่งสำคัญสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม หากตรวจพบและรักษาตั้งแต่ระยะแรก มีโอกาสหายเป็นปกติมากถึงร้อยละ 90 นอกจากนี้ยังสามารถลดจำนวนคนไข้ที่ต้องผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยที่สุด เสียเงินน้อยที่สุด และมีแผลน้อยที่สุด” ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าศูนย์สิริกิติ์กล่าว

     ทั้งนี้ นพ.กฤษณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สืบเนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีรับสั่งเมื่อครั้งเสด็จฯ มาทรงเปิดศูนย์ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2548 ว่า “อยากให้ศูนย์เป็นที่พึ่งของผู้หญิง” ซึ่งตัวเองก็น้อมนำมาตีความว่า ศูนย์แห่งนี้จะต้องเก่งและเป็นเลิศ จึงเป็นที่มาทำให้จัดซื้อเครื่องมือวินิจฉัยโรคเหล่านี้มา แม้จะราคาสูงมาก แต่ก็ได้มาโดยการบริจาค ฉะนั้นค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยที่มารักษาจะต้องถูกสุดๆ ไม่ว่าจะใช้สิทธิ์อะไรก็สามารถเข้ามารักษาได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ