Lifestyle

“พาราเซตามอล” กินพร่ำเพรื่อ เสี่ยงตับพัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ข้อดีของพาราเซตามอลคือ ไม่ระคายเคืองกระเพาะ แต่แท้จริงแล้วมีผลข้างเคียงที่อันตรายมากคือ การเกิดพิษต่อตับ หากใช้เกินขนาดหรือใช้ติดต่อกันนานเกินไป

       “พาราเซตามอล” กินพร่ำเพรื่อ เสี่ยงตับพัง

     ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พาราเซตามอล” หรือยาแก้ปวด ลดไข้ เป็นยาที่คนไทยซื้อรับประทานเองมากที่สุด พฤติกรรมการซื้อยาเองอย่างพร่ำเพรื่ออาจส่งผลไปสู่การรับประทานยาเกินขนาด การดื้อยา และปัญหาสุขภาพจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ สอดคล้องกับรายงานของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า มูลค่าการบริโภคยาของคนไทยในปี 2553 ทั้งยาแผนปัจจุบัน และแผนโบราณที่ผลิตเองและนำเข้าประมาณ 4.7 หมื่นล้านเม็ดต่อปี หรือเฉลี่ย 128 ล้านเม็ดต่อวัน มีผู้ป่วยซื้อยาเองร้อยละ 15 โดยอาการป่วยที่เป็นสาเหตุให้หาซื้อยาเองเพื่อรักษานั้น ได้แก่ ปวดหัว ตัวร้อน และปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งตรงกับชนิดของยาที่คนทั่วไปเลือกซื้อหามาใช้เป็นอันดับแรกคือ กลุ่มยาแก้ปวดลดไข้อะเซตามิโนเฟน หรือ พาราเซตามอลนั่นเอง

“พาราเซตามอล” กินพร่ำเพรื่อ เสี่ยงตับพัง

 ณรงค์ศักดิ์ ใบเนียม

       ณรงค์ศักดิ์ ใบเนียม เภสัชกรประจำร้านขายยา จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ข้อดีของพาราเซตามอลคือ ไม่ระคายเคืองกระเพาะ แต่แท้จริงแล้วมีผลข้างเคียงที่อันตรายมากคือ การเกิดพิษต่อตับ หากใช้เกินขนาดหรือใช้ติดต่อกันนานเกินไป ถึงแม้ว่าจะเป็นยาที่มีความปลอดภัยในการใช้ก็ตาม จากการสำรวจวิจัยทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ พบว่ามีการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดมากขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับจำนวนของผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากพิษของพาราเซตามอลที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับนั้น จะยิ่งเพิ่มโอกาสอาการเกิดภาวะตับเป็นพิษ และอาการตับวายเฉียบพลันได้ แม้ไม่ได้รับประทานเกินขนาดก็ตาม คนกลุ่มนี้ ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรังหรือดื่มเป็นประจำ, ผู้สูงอายุ, มีประวัติครอบครัวเป็นโรคตับ, ผู้ที่มีประวัติหรือมีโอกาสเป็นไวรัสตับอักเสบ, ผู้ที่รับประทานยาชนิดอื่นเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว โดยกลุ่มคนเหล่านี้มักจะมีภาวะเนื้อเยื่อตับถูกทำลายและผิดปกติ โอกาสที่การทำงานของตับจะกลับคืนสู่สภาพปกติจะยากกว่าคนทั่วไป จึงทำให้มีโอกาสเกิดภาวะความเป็นพิษของยาต่อตับนั้นรุนแรงกว่า

“พาราเซตามอล” กินพร่ำเพรื่อ เสี่ยงตับพัง

       “ยาพาราฯ สำหรับผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง ห้ามรับประทานเกินกว่า 4,000 มิลลิกรัม หรือ 8 เม็ดต่อวัน ซึ่งยาพาราเซตามอลชนิดเม็ดส่วนใหญ่จะมีขนาด 500 มิลลิกรัม โดยแต่ละครั้งห้ามรับประทานเกิน 1,000 มิลลิกรัม หรือ 2 เม็ด และห้ามรับประทานบ่อยภายในช่วงเวลาต่ำกว่า 4 ชั่วโมง ซึ่งการคำนวณยาในการรับประทานควรใช้น้ำหนักตัวเป็นเกณฑ์ โดยขนาดยาที่เหมาะสม คือ 10-15 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ดังนั้นหากน้ำหนัก 50 กิโลกรัม ก็สามารถรับประทานได้ที่ 500-750 มิลลิกรัมต่อครั้ง แต่หากน้ำหนักตัวมากจนคำนวณแล้วเกินกว่า 1,000 มิลลิกรัม ก็ควรรับประทานแค่ 1,000 มิลลิกรัมเท่านั้น และไม่เกิน 4 ครั้ง เพื่อไม่ให้เกิน 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน และไม่ควรรับประทานติดต่อกันนาน 7 วัน จะส่งผลอันตรายต่อตับ”

      ภาวะตับเป็นพิษจากพาราเซตามอล เกิดจากตัวยาจะผ่านกระบวนการเมตาบอลิซึม และถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของสาร NAPQI ซึ่งถ้ามีปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดภาวะออกซิเดชันสเตต ซึ่งทำให้เซลล์ตับเสียหายได้ ถ้าตับนั้นไม่มีความสามารถที่จะกำจัดออกได้อย่างทันท่วงที ภาวะนี้เกิดได้จากการรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันและได้รับยาเกินขนาด แม้ว่าจะไม่มีอาการใดที่ชี้ชัดว่าเกิดภาวะเป็นพิษขึ้น แต่อาการที่เกิดขึ้นอาจจะมีส่วนคล้ายอาการไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่อด้วยความเข้าใจผิด ทำให้อาการรุนแรงขึ้น และในบางคนอาจจะไม่มีอาการใดเลย จนกระทั่ง 48-72 ชั่วโมงภายหลังรับประทานยา" ภก.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว 

“พาราเซตามอล” กินพร่ำเพรื่อ เสี่ยงตับพัง

      ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ล่าสุดมีงานวิจัยหลายเรื่องที่ตีพิมพ์ถึงคุณสมบัติของ “ทอรีน” นอกจากจะช่วยบำรุงสายตาแล้ว ยังช่วยป้องกันความเป็นพิษของยาที่มีต่อตับ ซึ่งทอรีนเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของร่างกาย ควบคุมของเหลวในเซลล์, ควบคุมระดับการเข้าออกของแคลเซียมระหว่างเซลล์ และสามารถป้องกันความเป็นพิษและความผิดปกติที่เกิดกับอวัยวะต่างๆ โดยทอรีนนั้นสามารถลดความเสียหายจากอนุมูลอิสระที่เพิ่มมากขึ้นในตับอันเป็นผลมาจากปริมาณ NAPQI ที่สูงขึ้นดังนั้นยาพาราเซตามอลที่มีส่วนประกอบของทอรีนจึงสามารถนำมาใช้ในการป้องกัน และรักษาความเป็นพิษของตับที่เกิดจากการรับประทานยาได้ แต่เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัย ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ