Lifestyle

รู้หรือไม่ “มือเท้าชา” เสี่ยงโรคปลายประสาทอักเสบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แพทย์ เตือน “มือเท้าชา” สัญญาณอันตราย เสี่ยงโรคปลายประสาทอักเสบ ตรวจก่อน รู้ก่อน ป้องกันได้

   หลายๆ คนคงเคยเกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้าอยู่บ้าง ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยใส่ใจเพราะคิดว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวและสามารถหายได้เอง แต่หารู้ไม่ว่าอาการชาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคปลายประสาทอักเสบ ซึ่งถ้าปล่อยไว้เป็นเวลานานโดยไม่รักษา อาจจะทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ และความรู้สึกรับรู้ลดลงจนหมดความรู้สึกได้

รู้หรือไม่ “มือเท้าชา” เสี่ยงโรคปลายประสาทอักเสบ

   นพ.สมชาย โตวณะบุตร แพทย์ทรงคุณวุฒิทางอายุรกรรม สาขาประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โรคปลายประสาทอักเสบ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เฉลี่ยอายุ 30 ปีขึ้นไป โดยกลุ่มคนที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน คนที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย คนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ คนที่รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ คนที่ร่างกายขาดวิตามินบางชนิด (วิตามิน บี 1 บี 6 บี 12) และคนที่รับประทานยาบางตัวที่มีผลข้างเคียงต่อเส้นประสาท

รู้หรือไม่ “มือเท้าชา” เสี่ยงโรคปลายประสาทอักเสบ

   ระบบประสาทของเราแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1.ระบบประสาทส่วนกลาง ประกอบด้วยสมองและไขสันหลัง ซึ่งมีหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุม สั่งการและส่งคำสั่งโดยกระแสประสาท 2.ระบบประสาทส่วนปลาย ทำหน้าที่รับคำสั่งจากระบบประสาทส่วนกลางและส่งต่อคำสั่งไปยังกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เราสามารถเคลื่อนไหวและรับรู้ความรู้สึกได้ โดยระบบประสาทส่วนปลายมีเส้นประสาททำหน้าที่เหมือนเป็นสายไฟฟ้าในการนำคำสั่งไปตามอวัยวะต่างๆ ซึ่งเส้นประสาทส่วนปลายที่ออกจากสมอง มีอยู่ทั้งหมด 12 คู่ซ้ายขวา แต่ละคู่ควบคุมการทำงานในแต่ละส่วนของร่างกายที่แตกต่างกันไป โดยเส้นประสาทที่มักพบอาการอักเสบ และเห็นความผิดปกติของร่างกายได้ชัด เช่น เส้นประสาทคู่ที่ 7 เป็นเส้นที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ถ้าเกิดการอักเสบ ทำให้เกิดโรคหน้าเบี้ยว ใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในช่วงที่เราทำงานหนัก พักผ่อนน้อย,เส้นประสาทคู่ที่ 8 ถ้าเกิดการอักเสบ ทำให้สูญเสียการทรงตัว เกิดอาการบ้านหมุนตามมา บางรายอาจเกิดเสียงแว่วในหู หรือ หูดับ เส้นประสาทคู่ที่ 3,4,6 อักเสบ มักจะพบในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน อาการที่เจอคือ เห็นภาพซ้อนในแนวใดแนวหนึ่ง และเส้นประสาทที่อาจจะพบการอักเสบได้อีก ได้แก่ เส้นที่5จะมีอาการปวดเสียวแปล๊บๆ บนใบหน้า เหมือนไฟฟ้าช็อต มักเกิดซีกใดซีกหนึ่งของหน้า

รู้หรือไม่ “มือเท้าชา” เสี่ยงโรคปลายประสาทอักเสบ

   นพ.สมชาย กล่าวต่อว่า เส้นประสาทที่ออกจากไขสันหลังมีหลายสิบคู่ ซึ่งอาจเจอในเรื่องของเส้นประสาทถูกกดทับ หรืออักเสบได้ จากการที่เราใช้อวัยวะ อาทิ คอ มือ เอว ในท่าทางที่ไม่ถูกต้องนานๆ โดยกลุ่มแม่บ้าน คนที่ใช้มือเยอะๆ เช่น คนขี่มอเตอร์ไซด์ คนที่พิมพ์คอมพิวเตอร์นานๆ รวมไปถึงคนที่มีหมอนรองกระดูกเสื่อม อาจจะพบเส้นประสาทถูกกดทับได้มากกว่าคนทั่วไป อาการที่พบคือ ชา ปวดแปล๊บๆ ปวดร้อนๆซ่าๆ ตามบริเวณที่ถูกกดทับหากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ก็จะมีโอกาสทุเลาลง หรือหายขาดได้ แต่ถ้าเรานิ่งเฉย ไม่สนใจ และปล่อยให้อาการเหล่านี้เกิดต่อเนื่องเรื่อยๆ และทวีความรุนแรงขึ้น ก็อาจจะส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบเล็กลงหรือ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต จนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ หรือ ไม่สามารถรับความรู้สึกได้เหมือนเดิม 

  "การดูแลตัวเองและป้องกันไม่ให้เกิดโรคปลายประสาทอักเสบ เป็นสิ่งสำคัญวิธีการป้องกันสามารถทำได้โดย การพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลิกดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ปรับรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันไม่ให้เส้นประสาทเสี่ยงต่อการถูกกดทับ แต่หากประชาชนมีอาการที่ใกล้เคียงกับที่กล่าวไปก่อนหน้านี้และสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคปลายประสาทอักเสบ สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองเบื้องต้น จากสถานพยาบาลทั่วประเทศ นอกจากนี้ ทางบริษัท เมอร์ค จำกัดได้จัดกิจกรรม เนิร์ฟ คลินิก แอคทิเวชั่น โดยให้การสนับสนุนสถานพยาบาลสำหรับเครื่องมือตรวจคัดกรองแบบไวโบรมิเตอร์ โดยเครื่องมือนี้ใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบการรับความรู้สึกที่เท้า โดยวัดความรู้สึกจากแรงสั่นสะเทือนที่เท้า ซึ่งเหมาะสำหรับตรวจคัดกรองเบื้องต้นสำหรับกลุ่มคนที่มีภาวะโรคปลายประสาทอักเสบแอบแฝงส่วนขั้นตอนในการรักษา แพทย์จะรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค เช่น การให้ยาหรือการให้วิตามิน บี 1 บี 6 บี 12 ขนาดที่เหมาะสม รวมถึงการทำกายภาพบำบัดในรายที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง

รู้หรือไม่ “มือเท้าชา” เสี่ยงโรคปลายประสาทอักเสบ

   สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับโรคชาปลายประสาทอักเสบสามารถเข้าร่วมสัมมนาได้ที่งาน “แคร์ ยัวร์ เลิฟ, แคร์ ยัวร์ เนิร์ฟ” พร้อมกับตรวจคัดกรองเบื้องต้นฟรี ในวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม เวลา 06.30–9.30 น. และ 16.00 - 19.00 น. ที่ศาลาภิรมย์ภักดี สวนลุมพินี สำรองที่นั่งได้ที่ 08-1622-6444 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ