พระเครื่อง

พระนาคปรก พระร่วงนั่ง กรุบ้านพลูหลวง จ.สุพรรณบุรี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บ้านพลูหลวง ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี มีอาณาเขตอยู่ใกล้กับวัดหน่อพุทธางกูร พื้นเพก่อกำเนิดขึ้นมาจากโบราณกาล จนถึงในยุคปัจจุบันนี้

  เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๙ ชายหนุ่มคนหนึ่งไปรับจ้างขุดร่องสวนในบริเวณดังกล่าว เพื่อปลูกมะม่วง ขณะขุดดินอยู่ก็ได้พบพระเครื่องพิมพ์ พระร่วงนั่ง และ พิมพ์นาคปรก เป็นพิมพ์ขนาดเล็กจิ๋ว บรรจุอยู่ในไห เคลือบสีน้ำตาลอ่อน จำนวนประมาณ ๒๕๐ องค์

 ต่อมาอีกไม่กี่วัน ก็มีผู้ขุดพบพระ ๒ พิมพ์นี้ได้อีก ในบริเวณใกล้ๆ กัน บรรจุอยู่ในตลับเคลือบขาวของจีน สมัยซ่งภาคใต้ จำนวนพระที่ได้คราวนี้ประมาณ ๔๐ องค์

 จากการขุดพบ พระร่วงนั่ง และ พระนาคปรก ซึ่งเป็นพระพิมพ์ที่ชนชาวขอมนิยมสร้าง และบรรจุอยู่ในตลับเคลือบขาวของจีน ทำให้ทราบได้ว่า ขอมมีการติดต่อกับประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งราชวงศ์นี้ถือกำเนิดในราว พ.ศ.๑๗๐๐ ในยุคโบราณ ล่วงมาแล้วหลายร้อยปี

 พระร่วงนั่ง กรุบ้านพลูหลวง ของเมืองสุพรรณบุรี สร้างด้วยเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง องค์พระประทับนั่ง ปางสมาธิ บนฐานบัวเล็บช้าง จำนวน ๓ กลีบ พระเศียรสวมหมวกลักษณะมงกุฎสามชั้น

 พุทธศิลป์ เป็นพระสมัยลพบุรี ยุคปลาย องค์พระมีขนาดเล็ก กะทัดรัด น่ารักมาก คือ มีความกว้างเพียง ๑.๒ ซม. ความสูงประมาณ ๒.๕ ซม. เท่านั้น

 นอกจากนี้ ตอนที่ขุดพบพระครั้งแรก ยังพบพระอีกพิมพ์หนึ่ง เป็นพระปาง นาคปรก เป็นพระพิมพ์เหมือน พระร่วงนั่ง ที่ขุดได้ในคราวเดียวกันทุกอย่าง ต่างกันเพียงมี พญานาค ๗ เศียร แผ่พังพาน คลุมอยู่เหนือพระเศียรองค์พระ ที่เรียกกันว่า พระนาคปรก (พระประจำวันเกิด-วันเสาร์)

 พระนาคปรก กรุบ้านพลูหลวง เป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ขนาดองค์พระใกล้เคียงกับพิมพ์ พระร่วงนั่ง ต่างกันตรงสูงกว่าเล็กน้อยเท่านั้น คือ มีความกว้าง ๑.๒ ซม. ความสูงประมาณ ๒.๗๕ ซม.

 พุทธลักษณะ พระปางนาคปรก องค์พระพุทธปฏิมาปางสมาธิ ประทับนั่งบนบัลลังก์นาค ตามพุทธตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งพระพุทธองค์ได้ทรงพิจารณาธรรมในเรือนแก้ว ใต้ร่มนิโครธเจ็ดวันแล้ว เสด็จไปประทับใต้ร่มไม้จิก ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นศรีมหาโพธิ์ บังเอิญในวันนั้นเกิดพายุฝนตกหนักไม่ขาดสาย ตลอดเจ็ดวัน พญานาคชื่อ มุจลินท์ จึงออกมาจากพิภพ แล้วทำขนดล้อมพระวรกายของพระพุทธเจ้าโดยรอบ สูงถึงเจ็ดชั้น แล้วแผ่พังพาน ทำคล้ายร่มใหญ่ คลุมพระเศียรพระพุทธองค์เอาไว้ เหมือนประหนึ่งกั้นเศวตฉัตรถวาย จนพายุฝนหาย

 นั่นคือภาพที่ปรากฏตามความเป็นจริง แต่ในการสร้างสรรค์เป็นรูปเคารพของพระปางนี้ เพื่อความสวยงามทางด้านงานศิลปะ ช่างผู้ออกแบบมักจะนิยมสร้างให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่บนบัลลังก์ขนดนาค ซึ่งดูงดงามสง่ายิ่งนัก

 สำหรับ พุทธคุณ ของพระทั้ง ๒ พิมพ์นี้ ก็เหมือนกับพระเมืองลพบุรี ทั่วๆ ไป คือ แคล้วคลาด ปลอดภัย และคงกระพันชาตรี เป็นหลัก

 ขนาดองค์พระ จัดอยู่ในตระกูลพระเนื้อสนิมแดง ชุดเล็ก  ขนาดและน้ำหนักเบา เหมาะสำหรับคุณสุภาพสตรีสามารถบูชาขึ้นคอได้อย่างสวยงาม  ราคาเช่าหายังไม่สูงมากนัก ประมาณหลักหมื่นกลางๆ เท่านั้น

 บ้านพลูหลวง นอกจากจะเป็นชื่อกรุพระสำคัญดังกล่าวมาแล้ว ในสมัยกรุงศรีอยุธยา คำว่า บ้านพลูหลวง ก็ยังได้ปรากฏเป็นชื่อของ ราชวงศ์พระมหากษัตริย์ แห่งราชอาณาจักรอยุธยา อีกด้วย

 โดยมีบันทึกในประวัติศาสตร์กล่าวว่า ราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นชื่อลำดับที่ ๖ แห่งอาณาจักรอยุธยา เป็นราชวงศ์สุดท้ายก่อนการเสียกรุง ใน พ.ศ. ๒๓๑๐ มีพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์นี้ทั้งสิ้น ๖ พระองค์ โดยเริ่มตั้งแต่รัชกาล สมเด็จพระเพทราชา พ.ศ.๒๒๓๑ ถึงรัชกาล สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ พ.ศ.๒๓๑๐ รวมระยะเวลา ๗๙ ปี

 ชื่อ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง นี้ มาจาก แขวงเมืองสุพรรณบุรี อันเป็นถิ่นกำเนิดเดิมของ สมเด็จพระเพทราชา นั่นเอง

 ลำดับพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีดังนี้ ๑.สมเด็จพระเพทราชา ๒.สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ ๓.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ๔.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ๕.สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ๖.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์)

 ราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นการจัดลำดับพระราชวงศ์ โดยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ แท้จริงราชวงศ์นี้ก็คือ ราชวงศ์ที่สืบต่อมาจาก พระเจ้าปราสาททอง โดยตรง จึงนับเป็นสายหนึ่งของราชวงศ์อยุธยา

 จดหมายเหตุจีน และ ญี่ปุ่น ได้กล่าวอย่างค่อนข้างชัดเจนว่า ในช่วงที่ราชวงศ์บ้านพลูหลวงปกครองกรุงศรีอยุธยานั้น กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางทางด้านพาณิชยกรรม และการเดินเรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นศูนย์รวมสินค้าทุกชนิด จากประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก

 ความเคลื่อนไหวทางด้านเศรษฐกิจดังกล่าว ได้สร้างเสริมสถานภาพทางการเมืองระหว่างประเทศ และพัฒนาการทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้ทวีความรุ่งเรืองมากขึ้น

 แต่ในที่สุด กรุงศรีอยุธยาก็มีสภาพเช่นเดียวกับเมืองหลวงอื่นๆ ของอารยธรรมโลก ที่หลีกหนีสัจธรรมแห่งความจริงบนโลกใบนี้ไม่พ้น ซึ่งเมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความเจริญสูงสุดแล้ว ก็ต้องถึงคราวล่มสลาย ตามกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ

 ความร่ำรวย และการว่างเว้นจากการทำสงคราม เป็นเวลานาน ทำให้กรุงศรีอยุธยาตกอยู่ในความประมาท มีการแก่งแย่ง ช่วงชิงผลประโยชน์ทางการเมือง มีการแข่งขันประกวดประชันกันในสังคม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพาหะที่ทำลายความเป็นเอกภาพโครงสร้างเก่าแก่ของราชธานีแห่งนี้

 ทำให้ในเวลาต่อมา เมื่อกองทัพพม่าเคลื่อนกำลังเข้ามาปิดล้อมกรุงศรีอยุธยา ราชธานีแห่งนี้จึงถูกทำลายลงอย่างไม่ยากนัก

 ในช่วงปลายราชวงศ์บ้านพลูหลวง ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างหมู่เจ้านายเชื้อพระวงศ์ด้วยกันเอง มากกว่าจะเกิดจากขุนนางกับสถาบันพระมหากษัตริย์

 และความขัดแย้งนี้เอง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาด้อยประสิทธิภาพในระบอบการปกครอง เพราะอำนาจไม่เป็นเอกภาพ จนในที่สุดก็ต้องเสียเมืองให้แก่พม่าเป็นครั้งที่ ๒ ในสมัย สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์

 ในขณะที่กรุงศรีอยุธยาประสบความล้มเหลวทางด้านการปกครอง แต่รุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้สังคมกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้น ทุ่มเทให้งานศิลปกรรมแขนงต่างๆ จนสามารถแสดงเอกลักษณ์ได้อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะในสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๕-๒๓๐๑)

 เพราะงานศิลปกรรมเกือบทุกแขนงในรัชสมัยนี้ ได้รับการยกย่องให้เป็น ศิลปะอยุธยาบริสุทธิ์  นับเป็นเอกลักษณ์แห่งศิลปะเฉพาะตัว ที่มีความงดงามอลังการไม่ด้อยไปกว่าศิลปกรรมยุคอื่นใดเลย

 

"ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ