Lifestyle

แตะหลังคา ‘ตาก’ ที่ ‘ดอยสอยมาลัย’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แตะหลังคา ‘ตาก’ ที่ ‘ดอยสอยมาลัย’ : คอลัมน์ ชวนเที่ยว เรื่อง / ภาพ : นพพร วิจิตร์วงษ์

 

         ยังไม่เข้าฤดูร้อนดี แถมปีนี้ลมหนาวแถมให้ถึงเดือนกุมภาพันธ์แบบถูกใจใครหลายต่อหลายคน และฉันก็เช่นกัน ที่รีบจัดสรรเวลาไปแอ่วดอยสูง แถบตะวันตก กับผองเพื่อน

 

จุดชมวิวดอยเปเปอร์ จุดชมวิวดอยเปเปอร์

 

          อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เป็นหนึ่งในสถานที่ ที่ไปได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะสถานที่ที่ถูกจริตคนชอบลุย จะปีนเขา เข้าป่า หากแต่คราวนี้ การเดินทางต่างออกไป เพราะเส้นทาง ...รถเข้าถึง แม้จะเป็นดอยสูง เอ่ยชื่อไป ขาออฟโรด เป็นร้องอ๋อ

 

แตะหลังคา ‘ตาก’ ที่ ‘ดอยสอยมาลัย’
บันไดพญานาคขึ้นไปยังเจดีย์
 

         ดอยเปเปอร์-ดอยสอยมาลัย คำเชิญชวนของเพื่อนกลุ่มนิยมรถ 2 เพลา ไม่ได้ทำให้ต้องคิดอะไรมาก เพราะจริงๆ สองดอยนี้อยู่ในความอยากมานาน เพียงแต่ยังไม่ได้กลุ่มที่ชอบ พาหนะที่ใช่ ไปด้วยกัน

         ดอยเปเปอร์ เป็นแนวเทือกเขาที่แบ่งเขตจ.ตาก-เชียงใหม่ ด้านบนเป็นที่ตั้งของหน่วยจัดการต้นน้ำดอยเปเปอร์ที่ก่อตั้งในปี 2544 มีเรื่องเล่ากันว่า ดอยนี้มาได้ชื่อดอยเปเปอร์เมื่อราว 50 ปีก่อน เมื่อมีมิชชันนารีจากตะวันตกเดินเท้าเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ บ้างว่ากันว่าพวกเขาลงหมุดหมายไว้ในกระดาษแผ่นหนึ่ง แต่บางคนก็ว่า เพราะเส้นทางที่พับวนไปมาบนเทือกเขาที่ทอดยาวนั้นเหมือนกับกระดาษพับไว้

 

แตะหลังคา ‘ตาก’ ที่ ‘ดอยสอยมาลัย’
พระมหาธาตุเจดีย์โลกะวิทู (โม๊ะผะโด๊ะ)
 

        จุดที่ขึ้นถึงดอยแห่งนี้ อยู่ก่อนถึงตัว อ.ท่าสองยางไม่เกิน 7 กม. บนถนนสาย 105 เป็นทางแยกเข้าหมู่บ้านพะน๊อคี สมัยก่อนแค่เลี้ยวเข้าทางไปหมู่บ้านก็เปลี่ยนโลก จากถนนดำเป็นถนนแดง แต่เดี๋ยวนี้มีเทคอนกรีตไปเป็นช่วงๆ แต่ความชันยังคงที่ ด้านในเป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยง แยกย่อยไปอีกหลายหมู่บ้าน ถ้ามองจากที่สูง จะเห็นกระจายกันออกไป แค่พอเริ่มขึ้นเขา เราก็เห็นพื้นที่เกษตร ที่กินพื้นที่เขาไปหลายลูกมองเห็นถึงความแห้งแล้งที่แผ่รัศมีมา

 

แตะหลังคา ‘ตาก’ ที่ ‘ดอยสอยมาลัย’
ฐานปฏิบัติการสื่อสารดอยสอยมาลัย
 

          กระทั่งมีหน่วยต้นน้ำเข้ามาช่วยจัดการ ทั้งเพื่อสื่อสารและดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำของเชียงใหม่และพื้นที่โดยรอบ หลังจากที่ตรงนี้เคยมากมายไปด้วย ฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอย ส่วนที่เห็นแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกพืชหมุนเวียนที่ชาวพื้นที่สูงเหล่านี้ ต้องทำเพื่อดำรงชีพ และถ้าชาวบ้านทำกินได้

 

แตะหลังคา ‘ตาก’ ที่ ‘ดอยสอยมาลัย’

ดอกหญ้างามในรายทาง
 

          ระหว่างที่รถไต่ขึ้นดอยสูง ทำให้รับรู้ได้ถึงโค้งเขาที่พับไปมา บางเหลี่ยมบางโค้งราวกับกระดาษที่ถูกพับไว้จริงๆ เป็นโค้งที่หาไม่ได้ในเมืองจริงๆ ยิ่งถ้าดูแผ่นที่จาก GPS จะยิ่งตกใจกับโค้งที่เป็นเพียงตัว V แคบๆ

          เส้นทางผ่านขึ้นไปกลางเนินเขา ลูกแล้วลูกเล่า เส้นทางนี้เอง ได้ชื่อว่า “ถนนพระบารมีครูบาศรีวิชัย” ระหว่างทางช่วงแรก ผ่านเขาหัวโล้นที่เป็นพื้นที่เกษตรที่สูง มีทางแยกไปตามหมู่บ้านต่างๆ ที่กระจายอยู่กันคนละหุบเขา

 

แตะหลังคา ‘ตาก’ ที่ ‘ดอยสอยมาลัย’
ลงทางชัน
 

          ทางขึ้นแล้ว ขึ้นเล่า แล้วที่สุดก็ถึงจนได้หน่วยต้นน้ำเล็กๆ ซ่อนตัวอยู่ในหุบ ที่มองเห็นวิวท่าสองยาง และหุบเขาโดยรอบ จากทางแยกตรงนี้เอง มีทางไปถึง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ในระยะทาง 126 ก.ม.

          ไปต่อซิ รออะไร ... เพราะเป้าหมายไปตั้งแคมป์ที่หน่วยต้นน้ำขุนห้วยโป่ง เลี้ยวขวาตามเส้นทางที่ป้ายชี้ไปอ.อมก๋อยนั่นแหละ ไม่นานนัก ก็ถึงเจดีย์สีทองบนเขาที่เห็นโดดเด่นแต่ไกล ที่นี่เป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ดาวดึงสีวนาราม ที่เป็นศาลาไม้หลังไม่ใหญ่นัก ด้านหลังเป็น พระมหาเจดีย์ โลกะวิทู (โฆ๊ะผะโด๊ะ) สีทองอร่าม ตั้งอยู่บนเนิน ด้านหลังเจดีย์ถึงจะเป็นโบสถ์

 

แตะหลังคา ‘ตาก’ ที่ ‘ดอยสอยมาลัย’
กิจกรรมยามเช้า

 

          ถ่ายรูปอยู่ดีๆ หันไปเห็นป้ายถึงกับตกใจ เย้ยยยย... นี่เรามายืนอยู่ในเขตอ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่แล้วหรือนี่ มันช่างดูไกลกันในความรู้สึกระหว่างตากกับเชียงใหม่ แต่ถ้าเป็นทางเขาก็ใกล้แค่ลัดมือเดียวจริงๆ

          หน่วยจัดการต้นน้ำขุนห้วยโป่งอยู่ห่างจากพระเจดีย์ไปไม่ไกล ที่พื้นที่ลานกางเต็นท์กว้างกว่าที่หน่วยฯ ดอยเปเปอร์ ที่นี่จึงมักเป็นชุมนุมของออฟโรดผู้มาเยือนในระยะหลังๆ มานี่ วันรุ่งขึ้น ไม่ทันทักทายตะวัน เพราะเหลี่ยมเขาบัง กว่าจะเห็นก็ลอยสูงแล้ว วันนี้ เราจะเขยิบสูงขึ้นไปอีก กะว่าจะนอนบนหลังคาตากให้ได้

          กลับลงทางเดิม มุ่งหน้าเป้าหมายอีกแห่ง “ดอยสอยมาลัย” หลังคาเมืองตาก ด้วยความสูง 1,664 เมตร ไปตามเส้นทางแม่ระมาด-บ้านตาก ถึงที่ตั้งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น หน่วยกิ่วสามล้อ หลักกม.ที่ 30.5 เลยมาไม่กี่เมตรก็ถึงทางขึ้นดอยสอยมาลัย

 

แตะหลังคา ‘ตาก’ ที่ ‘ดอยสอยมาลัย’
ยอดดอยหัวหมด
 

          เส้นทางขึ้นดอยสอยมาลัยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเส้นทางสุดโหด ร่องลึก ทางเละ จากช่วงแรกทางชันผ่านไป ไปสู่ทางชันไต่ดอย บางช่วงเลาะไปตามไหล่าเขาแคบๆ ที่นี่จึงต้องปิดเดินรถขึ้นเขาช่วงหน้าฝน ระหว่าง 1 กรกฎาคม ถึง 31 ตุลาคมของทุกปี เพราะอันตราย

          ระยะทางขึ้นเขา 8 กม.ถึงจุดชมวิวที่ 1 ฐานปฏิบัติการสื่อสารดอยสอยมาลัย จากจุดนี้จะขึ้นไปดอยสอยมาลัยต้องแยกซ้ายไปอีก 12 กม. หรือจะไปตามทางขวาถึงหน่วยจัดการต้นน้ำเขื่อนภูมิพล ก็จะมีทางขึ้นไปยอดดอยหัวหมด ปัจจุบันเป็นเส้นทางฮิตขึ้นไปตั้งแคมป์กัน ปรึกษากันเสร็จ แยกสายไปดอยสอยมาลัย ให้น้องในทริปคนหนึ่งหายคาใจเพราะมาไม่เคยถึง แล้วไปๆ มาๆ เราก็เลาะไปตามทางรถมอเตอร์ไซค์ มุ่งขึ้นดอยสูง ที่อยู่ประจันหน้ากับดอยหัวหมด แต่ไปต่อไม่ได้ เพราะมีหินก้อนใหญ่ขวางทาง เลยต้องยอมถอนทัพ ขาขึ้นว่าเสียว แต่ขาลงเสียวกว่า เพราะมองลงมาขวาเป็นเหวลึกขนาดไม่มีใครอยากลงไปวัดความลึก ขวาถ้าแฉลบก็ลงเหวได้เหมือนกัน กว่าจะพ้นทางเสียวที่มีหินก้อนใหญ่ให้เกยตื้น ก็หมดเวลาไปพักใหญ่

 

แตะหลังคา ‘ตาก’ ที่ ‘ดอยสอยมาลัย’
ลงชัน ซ้ายก็เหว ขวาก็เหว
 

          ตะวันคล้อยบ่ายจัด คงไม่พอหาทางไปดอยสอยมาลัย สุดท้ายมาตั้งต้นที่ฐานปฏิบัติการสื่อสาร ที่เห็นวิวได้ 180 องศา สวยไม่แพ้กัน

          ธีรศักดิ์ กรุมุติ หรือพี่มน บอกว่า ไม่ค่อยมีใครไปดอยสอยมาลัย พอขึ้นไปแล้ว จะมีทางแยกลงด้านซ้ายอีกทีหนึ่ง ตอนนี้เส้นทางถูกปิดรกด้วยต้นไม้ แถมมีหิน ทางลำบาก คนเลยไปขึ้นดอยหัวหมดกัน ไว้มีโอกาสคราวหน้าจะพาไป เพราะบนยอดดอยสอยมาลัยในวันที่อากาศดีๆ จะเห็นไปไกลถึงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล กับทิวเขาสลับซับซ้อน “ขึ้นไปชมวิวยอดดอย แล้วค่อยลงมานอนที่ฐานก็สะดวก เพราะมีห้องน้ำ ที่ตั้งแคมป์ก็สบาย เสียแต่ว่าเป็นช่องลม ช่วงหนาวๆ นี่จะอาบน้ำได้ ต้องเอาไปตั้งตากแดดให้น้ำอุ่นแล้วค่อยอาบ บางทีก็อาบมันกลางแดดนี่แหละ” พี่มนเล่าไปขำไป

 

แตะหลังคา ‘ตาก’ ที่ ‘ดอยสอยมาลัย’
ลานกางเตนท์หน่วยจัดการต้นน้ำขุนห้วยโป่ง
 

          อากาศบนที่สูงแค่อาทิตย์ลับขอบฟ้า อุณหภูมิก็ตกวูบเหมือนคนตกใจ คืนนั้น (13 ก.พ.) จาก 17 องศาตอน 18.00 น. ผ่านไปแค่ครึ่งชั่วโมงก็เหลือเพียง 14.4 องศา กับเรื่องราวเล่ากันขำๆ บังลมอยู่ข้างล้อรถไปจนค่อนคืน

          ครั้งนี้อาจจะได้แค่แตะๆ หลังคาเมืองตาก แต่หวังว่าโอกาสหน้าจะได้ตะลุยขึ้นไปถึงหลังคาเมืองตากกับเขาบ้างนะ
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ