Lifestyle

มาสด้า “จี-เวคเทอริ่ง”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เพิ่มความนิ่ง ลดความโคลง

ช่วงที่ผ่านมาตลาดรถยนต์มีรถยนต์เปิดตัวหลายรุ่น ซึ่งต่างก็น่าสนใจกันหลายรุ่นทีเดียว รวมถึงมาสด้า 3 รถที่มีคนพูดถึงมากในช่วงนี้

  ในส่วนของรูปลักษณ์แม้การปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะทำในจุดเล็กๆ แต่เมื่อรวมกันหลายๆ จุด ก็ทำให้รถดูสปอร์ตขึ้นและหรูหราขึ้นทีเดียว และที่ซ่อนอยู่ข้างในก็น่าสนใจเพราะใส่มาเต็มที่รวมถึงระบบที่เรียกว่า G-Vectoring Control หรือ GVC ที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกในมาสด้า 3 ซึ่งหลายคนอาจจะยังสงสัยว่ามันคืออะไร

   มาสด้าบอกว่าระบบนี้ก็เป็นการต่อยอดมาจากแนวคิดหลักคือ “จินบะ-อิตไต” ซึ่งเป็นการพัฒนารถให้ม่ีความเป็นหนึ่งเดียวกับคนให้มากที่สุด โดยยึดเอา “คน” เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา และแนวคิดก็เป็นที่มาของเทคโนโลยีสกายแอ็กทีฟที่กำลังโด่งดังของมาสด้าในเวลานี้

มาสด้า “จี-เวคเทอริ่ง”

  เข้ามาที่ตัวเอกของเรื่องที่จะพูดกันวันนี้คือ GVC มันมีที่มาอย่างไร มาสด้าบอกว่าที่มาก็คือความต้องการเพิ่มความราบรื่นอย่างต่อเนื่องระหว่างค่าของแรงจี (G-forces) ที่เกิดขึ้นจากการเบรก การเข้าโค้งและการเร่งความเร็ว เพื่อให้ได้สมรรถนะที่ทรงพลังและเป็นหนึ่งเดียว ทำให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมรถได้ง่ายดายและแม่นยำ

มาสด้าบอกว่า GVC เป็นเทคโนโลยีแรกของโลกที่ปรับแรงบิดของเครื่องยนต์ให้แปรผันตามการสั่งการจากพวงมาลัยเพื่อควบคุมให้แรงเหล่านี้เป็นหนึ่งเดียวและเสริมประสิทธิภาพการรับน้ำหนักในแนวดิ่งของยางแต่ละเส้นเพื่อให้รถยนต์ขับเคลื่อนไปได้อย่างนุ่มนวลและมีประสิทธิภาพสูงสุด รถจะขับเคลื่อนไปได้ดั่งความตั้งใจของผู้ขับขี่ หมายความว่าการที่ผูัขับจะต้องมานั่งแก้ไขอาการต่างๆ ด้วยพวงมาลัยจะน้อยลง ซึ่งการแก้ไขอาการต่างๆ นี้ มาสด้าบอกว่าจริงๆ แล้วเกิดขึ้นบ่อยมากในการใช้รถในชีวิตประจำวัน แต่คนขับมักไม่ค่อยรู้ตัว

  ดังนั้นเมื่อไม่ต้องแก้ไขมาก เพราะรถนั้นตอบสนองตามการควบคุมได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ความเหนื่อยล้าสะสมจากการขับในระยะทางไกลจะลดลง

มาสด้า “จี-เวคเทอริ่ง”

   นอกจากนี้ในส่วนของผู้โดยสาร เมื่อระบบนี้ทำให้การเปลี่ยนผ่านของแรงจีทั้งแนวนอนและแนวตั้งราบรื่นมากขึ้น ก็หมายความว่าการเหวี่ยง การโคลงของรถก็จะลดลงตามไปด้วย ทำให้ผู้โดยสารนั่งได้สบายมากยิ่งขึ้น

   นอกจากนี้มาสด้าบอกว่าอีกว่า ความสามารถในการควบคุมอาการของตัวรถนี้จะส่งผลดีต่อการขับขี่ในเส้นทางลื่นรวมไปถึงเส้นทางที่ปกคลุมด้วยหิมะด้วย

นั่นคือสิ่งที่ได้ แต่กลไกของ GVC ทำงานอย่างไร

มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลไกนี้เริ่มตั้งแต่การเสริมสมรรถนะของยางรถยนต์เพราะเป็นส่วนสำคัญในการรองรับน้ำหนักในแนวดิ่ง และในการใช้งาน เมื่อผู้ขับหักพวงมาลัยเพื่อเข้าโค้ง GVC ก็จะเริ่มงานด้วยการควบคุมแรงบิดของเเครื่องยนต์เพื่อให้เกิดแรงจีในการชะลอความเร็วลง น้ำหนักของรถจะถูกถ่ายไปที่ล้อหน้า ทำให้พื้นที่สัมผัสของหน้ายางกับถนนเพิ่มขึ้น ล้อหน้าจะเกาะถนนได้ดีขึ้น ช่วยให้การเข้าโค้งและรถจะตอบสนองได้ดียิ่งขึ้นในขณะเข้าโค้ง

และในช่วงที่รถอยู่ในโค้ง องศาพวงมาลัยคงที่ GVC จะคืนแรงบิดของเครื่องยนต์ทันที เพื่อถ่ายน้ำหนักไปที่ล้อหลังทำให้รถมีความมั่นคงขึ้น หรือจะสรุปได้สั้นๆ ก็คือ

  GVC จะควบคุมการกระจายน้ำหนักของรถว่าช่วงไหนควรอยู่ล้อไหนนั่่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ขับก็ทำเองได้ แต่อาจจะไม่แม่นยำและนุ่มนวลเท่า เพราะระบบนี้มาสด้าบอกว่า ระดับการควบคุมนั้นซับซ้อนและเวลาในการตอบสนองต่อการบังคับพวงมาลัยของผู้ขับนั้นสั้นเกินกว่าที่สายตามนุษย์จะสังเกตได้ ทำให้แรงจีที่เกิดในการชะลอความเร็วอยู่ที่ประมาณ 0.01 G หรือต่ำกว่า คุณลักษณะเด่นประการหนึ่งของ GVC ก็คือการเพิ่มความรู้สึกในการขับขี่ที่เป็นธรรมชาติ โดยการให้การควบคุมที่เร็วขึ้นและแม่นยำขึ้น

 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่จะทำให้ระบบนี้ทำงานได้อย่างเห็นผล ส่วนประกอบต่างๆ ก็ต้องมีความพร้อมและแม่นยำ อย่างเช่นเครื่องยนต์ ก็ต้องสามารถควบคุมแรงบิดได้แม่นยำเช่นกัน

  ทั้งนี้ GVC เป็นเทคโนโลยีที่สามารถปรับใช้ได้กับรถยนต์สกายแอ็กทีฟทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็นระบบขับเคลื่อนหรือรถยนต์ประเภทใดก็ตาม อีกทั้ง GVC เป็นระบบซอฟต์แวร์ควบคุมจึงไม่เพิ่มน้ำหนักให้แก่ตัวรถ และในอนาคตข้างหน้านี้มาสด้าก็มีโครงการที่จะนำ GVC มาปรับใช้กับรถยนต์รุ่นใหม่ของมาสด้า

  ทั้งนี้การทำงานของ GVC ครอบคลุมทุกสถานการณ์ ไม่จำเป็นจะต้องขับเร็ว หรือขึ้นเขาลงห้วย แต่การขับขี่ทั่วไปในชีวิตประจำวันที่ความเร็วต่ำ การขับขี่ในทางตรงที่อาจจะต้องมีการเปลี่ยนช่วงทาง หรือควบคุมรถในกรณีฉุกเฉิน ระบบนี้ก็ทำงานเช่นกัน

  รวมถึงการขับขี่บนพื้นผิวขรุขระ หรือมีความผิดปกติ ที่มีผลให้รถไม่สามารถจะรักษาช่องทางปกติได้ ผู้ขับต้องควบคุมและแก้ไขพวงมาลัยอยู่เสมอ GVC ก็จะเข้ามาช่วยเหลือให้การตอบสนองที่ดีขึ้นแม้การขยับพวงมาลัยเพียงเล็กน้อย จึงช่วยลดทั้งความถี่และระดับในการควบคุมพวงมาลัยเพื่อแก้ไขอาการของตัวรถ

  สำหรับมาสด้า 3 รุ่นปรับโฉม ปรับเปลี่ยนในหลายๆ ส่วน ทั้งกระจังหน้า กันชนหน้า ไฟตัดหมอก ไฟหน้าแอลอีดี โปรเจกเตอร์ ไฟสำหรับขับขี่เวลากลางวัน ล้ออัลลอย 18 นิ้วลายใหม่ กันชนท้ายใหม่ในรุ่นแฮทช์แบ็ก ภายในเพิ่มความสปอร์ตและหรู ทั้งเบาะนั่งทูโทน น้ำตาล-ดำ เพิ่มวัสดุสีเงิน สีดำเปียโนแบล็ก ในหลายๆ จุด หรือการลดจุดกึ่งกลางพวงมาลัยให้เล็กลง ดูโฉบเฉี่ยวมากขึ้น

มาสด้า 3 ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร 165 แรงม้า แรงบิด 210 นิวตันเมตร มีทั้งตัวถังซีดาน และแฮทช์แบ็ก แต่ละตัวถังมี 4 รุ่นย่อย ราคาเท่ากัน เริ่มจาก 2.0อี 8.47 แสนบาท 2.0ซี 9.28 แสนบาท 2.0เอส 9.88 แสนบาท และ 2.0เอสพี 1.119 ล้านบาท โดยตั้งเป้าขายปีนี้ 5,500 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 33% และมีส่วนแบ่งตลาด 13-14% ในกลุ่มรถยนต์นั่ง ซี-เซ็กเมนท์ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วที่มีส่วนแบ่ง 9%

  ด้าน นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหารบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มาสด้ามั่นใจว่าตลาดรถยนต์ไทยปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะมียอดขายสูงกว่า 8 แสนคัน ขยายตัว 5-8% จากปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 7.67 แสนคัน ซึ่งมาสด้าก็เตรียมการรองรับทั้งการขยายเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการมาตรฐานภายใต้รูปลักษณ์ใหม่ หรือ Mazda Corporate Identity เน้นการบริการทั้งก่อนและหลังการขายด้วยการเสริมศักยภาพทีมงานผู้จำหน่าย และเปิดตัวรถรวม 6 รุ่น โดยเป็นรุ่นใหม่ (new model) 2 รุ่น คือ เอ็มเอ็กซ์-5 และ ซีเอ็กซ์-9 และรุ่นปรับโฉม 4 รุ่น เพื่อผลักดันเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ 18% ด้วยยอดขายมากกว่า 5 หมื่นคัน และครองส่วนแบ่งตลาด 6% หลังจากปีที่ผ่านมาบริษัทประสบความสำเร็จอย่างสูงกับยอดขาย 4.25 หมื่นคัน เติบโต 8% จากปี 2558 สวนกระแสกับตลาดรวมที่หดตัว 3.9%

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ