Lifestyle

รู้รักษา .. ข้อเข่าเสื่อม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โรคข้อเสื่อมและโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ มีแนวทางการรักษาที่สำคัญ คือ การระงับอาการปวดให้ผู้ป่วยมีอาการปวดน้อยที่สุด เพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวและทำกิจวัตรประจำวันได้

  รู้รักษา .. ข้อเข่าเสื่อม

   ปัจจุบันสังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” บวกกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีปัญหาโรคเรื้อรังมากขึ้น สถานการณ์ของโรคในยุคใหม่หรือศตวรรษที่ 21 นี้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากในศตวรรษก่อนหลายประการ

รู้รักษา .. ข้อเข่าเสื่อม

นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ 

   นายแพทย์นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการแพทย์บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยามไว้ว่าศตวรรษนี้เป็นศตวรรษของโรคเรื้อรัง ซึ่งที่ผ่านมาวงการแพทย์ค่อนข้างประสบความสำเร็จและมีความก้าวหน้าในการต่อสู้กับโรคเฉียบพลัน เช่น โรคติดเชื้อ หรือภาวะที่ต้องรักษาแบบเร่งด่วนต่างๆ จะเห็นได้จากอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง ประชาชนมีอายุยืนยาวขึ้น และโอกาสที่จะเกิดโรคในระยะยาวก็มากขึ้นตามไปด้วย อย่าง โรคจากความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ อาทิ โรคข้อเสื่อมเป็นโรคในกลุ่มข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุพบมากในตำแหน่งของข้อที่รับน้ำหนักมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพกและกระดูกสันหลัง สาเหตุมาจากการใช้งานของอวัยวะนั้นๆ เป็นเวลานาน การใช้งานอย่างหนัก และด้วยอายุที่มากขึ้นก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวข้อกระดูกเสื่อม

รู้รักษา .. ข้อเข่าเสื่อม

  "การรักษานั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่การไม่ใช้ยา เช่น การลดน้ำหนัก และการออกกำลังกายให้ข้อมีความแข็งแรงขึ้น รวมถึงการใช้ยา ซึ่งมีหลายระดับตั้งแต่ยาแก้ปวด ยาระงับการอักเสบเพื่อควบคุมอาการปวด และการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ส่วน โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์ เป็นอีกโรคที่พบมากในคนสูงอายุ เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเด่นคือ มีการเจริญงอกงามของเยื่อบุข้ออย่างมาก เยื่อบุข้อนี้จะลุกลามและทำลายกระดูกและข้อในที่สุด โรคนี้มิได้เป็นแต่เฉพาะข้อเท่านั้น ยังอาจมีอาการทางระบบอื่นๆ อีก เช่น ตา ประสาท กล้ามเนื้อ โรคนี้สามารถเป็นได้กับทุกข้อของร่างกาย แต่ที่พบได้บ่อยคือ ข้อของนิ้วมือ ข้อมือ ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า การรักษาของโรคแบ่งเป็น การรักษาทั่วไป, การรักษาด้วยยา เช่น ยาแก้ปวด, ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs), ยากลุ่มปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค (disease-modifyinganti-rheumatic drugs (DMARDs)) ยา steroid และการรักษาด้วยการผ่าตัด”

รู้รักษา .. ข้อเข่าเสื่อม

   พร้อมกันนี้ผู้อำนวยการแพทย์ยังกล่าวด้วยว่า โรคข้อเสื่อม และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ มีแนวทางการรักษาที่สำคัญ คือ การระงับอาการปวดให้ผู้ป่วยมีอาการปวดน้อยที่สุด เพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวและสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้มากที่สุด นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยยาระงับปวดต้านการอักเสบ โดยเฉพาะยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) เป็นยาระงับปวดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและได้ผลดีในการควบคุมอาการปวด แต่ผลข้างเคียงของยากลุ่มดังกล่าวในยุคแรกๆ มีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหาร จนถึงเลือดออกในกระเพาะอาหารและทางเดินอาหารส่วนอื่น ดังที่หลายท่านอาจจะเคยได้รับยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAID แล้วจะมีคำเตือนระบุว่าควรรับประทานยานี้หลังอาหารทันที ไม่ควรรับประทานในขณะท้องว่าง 

    ต่อมาจึงมียาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ต้านเอนไซม์ COX 2 อย่างจำเพาะ (Selective COX-2 inhibitor) ออกมาซึ่งช่วยลดผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหารให้น้อยลง แต่ก็พบว่ามีรายงานของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงการเสียชีวิตจากอุบัติการณ์ลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดและหัวใจขาดเลือดมากขึ้น จนนำไปสู่การถอนยาบางตัวในกลุ่มนี้ออกไปจากตลาด และมีข้อกำหนดในเอกสารกำกับยาที่ห้ามใช้ยาดังกล่าวในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงคำเตือนเป็นข้อควรระวังในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง แต่ยังมีข้อสงสัยกันในวงการแพทย์ว่า ผลดังกล่าวเป็นผลที่เกิดขึ้นกับยาทุกตัวในกลุ่มเท่ากันหรือไม่ ซึ่งข้อมูลวิชาการในการอ้างอิงยังมีอยู่ไม่พอเพียง

รู้รักษา .. ข้อเข่าเสื่อม

   “ด้วยเหตุผลดังกล่าวประกอบกับทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่มีความเสี่ยงดังกล่าวมีอยู่จำกัด จึงเป็นที่มาของการศึกษา PRECISION Study (Prospective Randomized Evaluation of CelecoxibIntegrated Safety Versus Ibuprofen or Naproxen) เพื่อประเมินความปลอดภัยต่อหัวใจและหลอดเลือดจากการใช้ยา NSAID ในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมและข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่เป็นโรคหัวใจหรือมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการวิจัยนี้ ใช้เวลาในการศึกษาถึง 10 ปี (2006–2016) นำโดย Cleveland Clinic สถาบันการแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับศูนย์การแพทย์เกือบ 1,000 แห่งทั่วโลกครอบคลุมจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 24,000 ราย จาก 13 ประเทศใน 5 ทวีป โดยวัตถุประสงค์ในการวิจัย ในครั้งนี้เพื่อประเมินอุบัติการณ์ของการเกิดตัวชี้วัดรวมโรคหัวใจและหลอดเลือด (ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจตาย และโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากโรคหัวใจและหลอดเลือด) ระหว่างยา Celecoxib ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม COX2 inhibitor กับ ยา NSAID (Ibuprofen และ Naproxen) รวมถึงการประเมินความปลอดภัยต่อระบบทางเดินอาหารและความปลอดภัยต่อไตร่วมด้วย ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวจะช่วยให้ข้อมูลด้านความปลอดภัยของยาดังกล่าวเพื่อประกอบการตัดสินใจของแพทย์ในการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยต่อไป” นายแพทย์นิรุตติ์ กล่าวในที่สุด

    อนึ่ง จากการศึกษา PRECISION Study ในครั้งนี้พบว่าการใช้ยา Celecoxib ซึ่งอยู่ในกลุ่ม COX2 inhibitor มีอุบัติการณ์เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดไม่แตกต่างไปจากการใช้ยา NSAID (Ibuprofen และ Naproxen) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อมและข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งผลการศึกษาได้รับการนำเสนอในการประชุมประจำปีของ American Heart Association เมื่อ 13 พฤศจิกายน 2016 และตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ