Lifestyle

‘บ้านไม่บาน’ที่‘เรียนรู้อยู่ร่วม’กับน้ำ(ท่วม)II

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ บ้านไม่บาน กับ อาจารย์เชี่ยว

 

          สวัสดีครับแฟนๆ ชาว “บ้านไม่บาน” สาระน่ารู้ในสัปดาห์นี้เป็นเนื้อหาที่ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว และผมมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในการนำเสนอรูปแบบ “บ้านไม่บาน” ที่ “เรียนรู้อยู่ร่วม” กับน้ำ(ท่วม) ผมย้ำนะครับไม่ใช่เป็นการ “สู้น้ำท่วม” แต่เป็นการ “เรียนรู้อยู่ร่วม” กับน้ำ(ท่วม) ดังที่ผมเคยกล่าวไว้แล้วครับว่า การ “กินอยู่แบบไทย” นั้น มีพื้นฐานที่มั่นคงอยู่บน “วัฒนธรรมข้าว” และ “วัฒนธรรมน้ำ” ดังนั้น จะเห็นได้ว่าคนไทยจะดำรงชีวิตโดยขาด “ข้าว” และขาด “น้ำ” ไม่ได้เป็นอันขาด “วัฒนธรรมการกินอยู่” เป็นส่วนหนึ่งของ “วิถีแห่งการดำรงชีวิต” 

          คนไทยแต่โบร่ำโบราณมี “พระแม่คงคา” คอยปกปักษ์รักษาผืนน้ำ มี “พระแม่โพสพ” ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ท้องทุ่ง จนทำให้ดินแดน “สุวรรณภูมิ” กลายเป็นเมือง “อู่ข้าว อู่น้ำ” ที่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่พอโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของบ้านเราถูกพัฒนาไปพัฒนามาด้วยความที่อยากทันสมัยก็เลยทำให้หลงลืม “ราก” ของเราเอง สังคมไทยก็เลยเกิดวิกฤติน้อยใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่า และก็ยังเกิดขึ้นซ้ำซากอีก ซึ่งผมเชื่อว่าในอนาคตจะหนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ ครับ

          จะว่าไปแล้วสังคมไทย ไม่ว่าจะอยู่ภูมิภาคไหนล้วนแล้วแต่ดำรงชีวิตอยู่บน “วัฒนธรรมน้ำ” และ “วัฒนธรรมข้าว” หมายความว่า เป็น “ระบบนิเวศน์” ที่เกื้อหนุนจุนเจือกัน แม้แต่ใน “ศิลาจารึก” ของ “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ในสมัย “สุโขทัย” มีอายุเก่าแก่กว่า 700 ปี ก็ยังพูดถึง “วัฒนธรรมน้ำ” และ “วัฒนธรรมข้าว” ดังจารึกที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แต่การพัฒนาที่นำไปสู่ความทันสมัยแบบเดินตามแนวคิดแบบชาติตะวันตก ได้ละทิ้ง “ภูมิบ้าน”, “ภูมิเมือง” ตลอดจน “ภูมิปัญญา” ที่หลอมรวมก่อให้เกิด “ภูมิสังคม” ทำให้เราหลงลืมสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิด “ความสมดุลย์” แบบพึ่งพากันของธรรมชาติ

          บนเขต “เส้นศูนย์สูตร” (Tropic of Cancer) มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ซึ่งผมมักเรียกว่าสภาพภูมิอากาศแบบ “ฝนแปด แดดสี่” มีฝนตกชุก, ลมกระโชก ทั้งยังมีแดดแรงตลอดปี รวมไปถึงมีทั้งน้ำท่วม เป็นระยะๆ ตามฤดูกาลต่างๆ ที่หมุนเวียนแปรเปลี่ยนกันไป ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติเพราะ เป็นส่วนหนึ่งของ “ระบบนิเวศน์” ของบ้านเราที่จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ เพื่อที่จะอยู่ร่วมให้ได้ จะว่าไปแล้ว “น้ำ” ที่มีทั้ง “คุณอนันต์” และ “โทษมหันต์” หากเราเรียนรู้อยู่ร่วมได้ก็จะเกิด “คุณอนันต์” เพราะ “น้ำ” นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ เรือกสวน ไร่นาไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมี เพราะได้ปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติมาพร้อมน้ำหลากนี่แหละครับ นอกจากนั้นความอุดมสมบูรณ์พวกพรรณปลาน้อยใหญ่ต่างๆ ก็มาพร้อมกับน้ำครับ

          ลองพิจารณาในรายละเอียดของ “บ้านไม่บาน” ที่ “เรียนรู้อยู่ร่วม” กับน้ำ(ท่วม) ของผม จะเห็นว่าหากดูผิวเผินอาจเหมือนบ้านทั่วไป แต่แท้จริงแล้วเป็นกระบวนการ “อนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนา” ต่อยอดทาง “ภูมิปัญญา” โดยผมออกแบบให้เป็นบ้าน 2 ชั้น ขนาดกำลังพอเหมาะ พอดี พอเพียง ไม่ใหญ่ไป ไม่เล็กไป มีการยกเสาสูงส่วนชั้นล่างเป็นพื้นที่เอนกประสงค์สำหรับพักผ่อนนั่งเล่น นอนเล่น ต้อนรับแขก รวมทั้งเป็นครัวไทย แบบสามารถเปิดโล่งได้ โดยใช้ “บานเฟี้ยม” ซึ่งบริเวณชั้นล่างจะต้องใช้วัสดุที่ทนทานต่อน้ำ (ที่ในบางฤดูอาจจะท่วมขังยาวนาน 2-3 เดือน) จำพวกกระเบื้องหรือซีเมนต์ขัดมัน หรือเป็นพื้นหินอ่อนที่ไม่กลัวน้ำ พอน้ำลดก็แค่ขัดล้างเช็ดถูทำความสะอาด ส่วนในห้องครัวก็เป็น “ครัวไทย” มี “เคาน์เตอร์” เป็น “คสล.” ที่เรามักเรียกว่า “ครัวปูน” หลีกเลี่ยงการใช้เฟอร์นิเจอร์ประเภท “บิวท์อิน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุประเภทไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไม้อัด” หรือ “ไม้ปาร์เก้” ที่ไม่สามารถทนทานต่อสภาพน้ำท่วมขังได้นาน

 

‘บ้านไม่บาน’ที่‘เรียนรู้อยู่ร่วม’กับน้ำ(ท่วม)II

 

          นอกจากนั้น จะเห็นได้ว่าบริเวณชั้น 1 ซึ่งขึ้นไปเชื่อมต่อชั้น 2 ถูกออกแบบให้เป็นบันไดที่อยู่ภายนอกบ้าน พร้อมกับมีชานพัก  โดยในการออกแบบ “บ้านไม่บาน” หลังนี้ ตั้งใจออกแบบให้ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากท่วมสามารถให้กระแสน้ำไหลผ่านไปได้โดยสะดวกย้ำนะครับว่าบรรดา “เฟอร์นิเจอร์” ที่ใช้ ต้องเป็น “เฟอร์นิเจอร์” ที่มีความทนทานต่อน้ำท่วมและทนทานต่อความชื้น นอกจากนั้นควรที่จะต้องมีน้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาอันสั้น เมื่อยามน้ำท่วมหลากฉับพลันจะได้เคลื่อนย้ายข้าวของเครื่องใช้ได้ทัน

          สำหรับชั้นที่ 2 ผมออกแบบให้มีระเบียงกว้างเป็นลักษณะ “ชานเรือน” แบบโบราณ รวมทั้งมีศาลานั่งเล่นไว้กินลมชมกระแสน้ำ เพราะต้องอยู่ร่วมกับน้องน้ำ 2-3 เดือน ดังนั้นจำเป็นต้องมีที่ผ่อนคลายนั่งเล่นปล่อยใจให้ลอยไป ถือเสมือนว่า “น้ำมาได้ก็ไปได้” สำหรับชั้น 2 ผมออกแบบให้มีระบบ “โซลาเซลล์” หรือระบบ “พลังงานแสงอาทิตย์” รวมไปถึง “ระบบปั่นไฟ” เตรียมเอาไว้ยามฉุกเฉินหากถูกตัดไฟก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตามปกติ ส่วนระบบ “สุขาภิบาล” ผมออกแบบให้มีห้องน้ำและส้วมพิเศษ ที่ผมออกแบบและพัฒนาขึ้นมาใหม่ เป็นห้องน้ำและส้วมแบบใหม่ที่สามารถใช้ได้อย่างสะดวกสบายถูกสุขอนามัย แม้ในยามน้ำท่วม คือ บ่อเกรอะ บ่อซึม ติดตั้งในระดับที่สูงกว่าระดับน้ำท่วม ทำให้การเข้าห้องสุขา เป็นไปอย่างปกติ

          นอกจากนั้น “บ้านไม่บาน” หลังนี้ยังถูกออกแบบให้บริเวณพื้นที่ใต้หลังคา เป็นที่เก็บของอุปโภคบริโภค ข้าวสารอาหารแห้ง โดยตั้งใจว่าจะสามารถอยู่ได้โดยไม่ลำบาก แบบพึ่งพาตัวเองได้ถึง 2-3 เดือน มีเครื่องกรองน้ำ เครื่องอุปโภคบริโภคอย่างไม่ขาดแคลน ส่วนทีเด็ดอีกประการหนึ่ง ที่ใครเห็นใครก็ชอบ ใครเห็นใครก็ชื่นชม คือ ระบบการจอดรถแบบ “รอกทดแรง” เอาไว้ยกรถเมื่อยามน้ำท่วม ซึ่งแนวคิดนี้ได้มาจากบ้านคุณย่า เป็น “เรือนทรงไทย” แบบโบราณที่ “บางแพ” , “ราชบุรี” ครับ แต่บ้านคุณย่าผมใช้โซ่และรอกทดแรงในการยกเรือขึ้นไว้เก็บในฤดูแล้ง และนำเรือมาใช้ในฤดูน้ำหลาก
ก็ครบถ้วนถึงพร้อมกันในทุก “มิติ” ครับ รวมทั้งถูกสุขลักษณะ พื้นที่มีจำกัดครับ 

          สำหรับแฟนๆ ที่สนใจรายละเอียด “บ้านไม่บาน” ที่ “เรียนรู้อยู่ร่วม” กับน้ำ(ท่วม) ผมได้เผยแพร่ผ่านทางรายการ “คนรักบ้าน” เมื่อวันพุธที่ 25 มกราคม ทาง “เนชั่นทีวี” หรือสามารถรับชมและติดตามชมรายการ “คนรักบ้านกับอาจารย์เชี่ยว” ย้อนหลังได้ที่ www.youtube : คนรักบ้าน เนชั่นทีวี หรือ www.nationtv.tv รายการ “คนรักบ้าน” ครับ

          สาระน่ารู้ของบ้านไม่บานในสัปดาห์นี้คงมีเพียงเท่านี้ก็อยากให้แฟน ๆ นำเอารูปแบบ “บ้านไม่บาน” ที่ “เรียนรู้อยู่ร่วม” กับน้ำ(ท่วม) ของผมนำไปต่อยอด อย่างน้อยก็ได้ตั้งใจว่าน้ำท่วมคราวหน้าคงจะไม่หนักหนาสาหัสเท่าครั้งนี้ แล้วพบกับสาระน่ารู้ของ “บ้านไม่บาน” กันใหม่อีกสองสัปดาห์หน้าครับ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ