Lifestyle

ตามทางไม้เมืองหนาวที่พ่อสร้าง ณ ขุนวาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตามทางไม้เมืองหนาวที่พ่อสร้าง ณ ขุนวาง : คอลัมน์ ชวนเที่ยว  เรื่อง / ภาพ : นพพร วิจิตร์วงษ์

 

          จากป่าเขา ถูกทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ วันนี้เปลี่ยนโฉมตัวเองมาเป็นศูนย์วิจัยด้านการเกษตร และแหล่งท่องเที่ยวที่ใครต่อใครพูดถึง ด้วยความอิงแอบกับธรรมชาติ อากาศดี และมีดอกไม้สวย ใช่ ... ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ หน่วยย่อยขุนวาง และ แม่จอนหลวง บนดอยอินทนนท์ นั่นแหละ
จากพื้นที่สีชมพูบนดอยสูง มาวันนี้ก็ยังไม่ละทิ้งสีชมพู แต่เป็นสีอ่อนหวานสวยงามของดอกนางพญาเสือโคร่ง ในยามที่เบ่งบานพร้อมๆ กัน เนรมิตให้ถนนด้านในโครงการศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) เป็นถนนสายสีชมพู กิ่งก้านที่มีแต่ดอกโน้มลงมาโอบล้อมถนนเป็นอุโมงค์ กลายเป็นแลนมาร์กที่ใครๆ มา เป็นต้องเซลฟี่ อวดกันในโลกออนไลน์

 

ตามทางไม้เมืองหนาวที่พ่อสร้าง ณ ขุนวาง

 

          ก่อนจะมาถึงวันที่นางพญาเสือโคร่งต้นสูงใหญ่ และกลายเป็นที่ชื่นชอบ ดินแดนนี้ยังเป็นป่าเขาอยู่บนดอยอินทนนท์ เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน จนเมื่อโครงการหลวงนำร่องเข้าไปจัดทำศูนย์วิจัยเกษตร เพื่อส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรบนพื้นที่สูง แก้ปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ไปจนถึงการปลูกพืชเสพติดจำพวกฝิ่น “สมัยก่อนพื้นที่แถบนี้ เป็นที่ซ่องสุมของนักศึกษาที่หนีเข้าป่า จะซ่อนตัวอยู่แถวผาแง่ม ทุกเช้าจะเห็นควันไฟลอยขึ้น แรกๆ ที่เราเข้ามา ก็มีขู่ มีระแวง ขนาดส่งคนมาถามว่ามาทำอะไร แต่เมื่อเห็นสิ่งที่เราทำ เป็นเรื่องปลูกพืชผักพัฒนาการเกษตร ซึ่งก็เป็นแนวเดียวกัน ทำเพื่อประชาชนเหมือนกัน ทำให้อยู่กันได้ ไม่เป็นภัยต่อกัน”

 

ตามทางไม้เมืองหนาวที่พ่อสร้าง ณ ขุนวาง

 


          ถ้อยคำบอกเล่าจาก พระอาจารย์ดำเกิง ชาลีจันทร์ ซึ่งปัจจุบันบวชเป็นพระภิกษุ อยู่ที่วัดป่าดงชมพูพาน จ.สกลนคร ซึ่งท่านเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันเข้ามาบุกเบิกสถานที่แห่งนี้ ในฐานะของผู้อำนวยการเกษตรที่สูงของกรมวิชาการเกษตร โดยมี อ.บัณฑิต จันทร์งาม นักวิชาการเกษตรที่ย้ายจากโครงการหลวงอ่างขาง มาเป็นผู้ช่วย จากที่ก่อนหน้านี้ เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของชาวไทยภูเขา อยู่ในเขต ต.แม่วิน อ.สันป่าตอง หรืออำเภอแม่วางในปัจจุบัน

 

ตามทางไม้เมืองหนาวที่พ่อสร้าง ณ ขุนวาง

 

          พระอาจารย์ดำเกิงเล่าว่า เมื่อไม่เอาการเลี้ยงสัตว์เพราะทำให้แหล่งต้นน้ำเสีย ไม่เอาพืชเสพติด ก็ต้องส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวอื่นๆ ไปจนถึงดอกไม้ เช่น พวกดอกแดฟโฟดิล แพนเซีย แล้วยังปลูกกาแฟด้วย แต่ไม่ค่อยได้ผลดีเพราะไม่ทนทานต่อโรค แล้วยังโตช้ามาก จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ มาดูพื้นที่นี้ครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2522 ตามคำกราบทูลเชิญของ ม.จ.ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวงให้มาทอดพระเนตรแปลงดอกไม้

 

ตามทางไม้เมืองหนาวที่พ่อสร้าง ณ ขุนวาง

 

          ในเส้นทางเสด็จฯ ไปยังแปลงดอกไม้ จะต้องผ่านแปลงปลูกกาแฟก่อน ในหลวง รัชกาลที่ 9 จึงทอดพระเนตรเห็นและทรงมีพระราชดำริว่า ควรส่งเสริมการปลูกกาแฟด้วย และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเนินการก่อตั้งเป็นศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ขุนวาง อยู่ในพื้นที่ อ.สันกำแพง และศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่แม่จอนหลวง อ.แม่แจ่ม ในอีก 1 ปีต่อมา

          ช่วงแรกที่เริ่มดำเนินการยังไม่มีงบประมาณ งบต่างชาติที่เข้ามาพัฒนาที่ อ.แม่แจ่มก็นำมาใช้ไม่ได้เพราะขุนวาง มาขึ้นอยู่กับ อ.สันป่าตอง ด้วยการแบ่งพื้นที่ธรรมชาติของลำห้วยแม่วางนั่นเอง

 

ตามทางไม้เมืองหนาวที่พ่อสร้าง ณ ขุนวาง

 

          ทั้งพระอาจารย์ดำเกิง และ อ.บัณฑิต ยังเล่าถึงยุคเริ่มแรกของการส่งเสริมการปลูกกาแฟด้วยว่า ช่วงที่นำกล้ากาแฟจากแม่โจ้มาปลูก กลับไม่มีใครชอบ เพราะพอขึ้นมาบนที่สูงอากาศหนาว กาแฟโตช้ามาก แล้วยังไม่ทนทานต่อโรค ให้ใครก็ไม่มีใครเอา พอได้ข่าวว่ามีการส่งกาแฟจากรัฐบาลโปรตุเกส ส่งมาให้โครงการหลวง นำไปปลูกที่ศูนย์วิจัยแม่หลอด แต่พอวิจัยจนได้พันธุ์ที่ทนทานต่อโรคโดยเฉพาะพันธุ์ลูกผสมคาติมอร์ ให้ผลผลิตดี ทนทานต่อโรค ทำให้ได้รับการกล่าวขานถึง จากที่ปลูกแรก 10 ไร่ ก็ขยับขยายเป็น 70 ไร่

 

ตามทางไม้เมืองหนาวที่พ่อสร้าง ณ ขุนวาง

 

          นอกเหนือจากกาแฟ จะเน้นพืชที่ทนทานต่อสภาพอากาศบนภูเขา ใช้สารเคมีน้อย และทนทานต่อการขนส่ง เพราะระยะทางแยกแม่สะป๊อก ระยะทางแค่ 4-5 กม. ใช้เวลาร่วม 7 วัน เพราะรถขึ้นได้ทีละคืบทีละศอก โดยใช้ไม้หมอนคอยหนุนล้อไปทีละล้อ” ทั้งพระอาจารย์ดำเกิงและ อ.บัณฑิตต่างรำลึกความหลังเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนให้ฟัง

          ทำให้เราได้รับรู้ว่า การเดินทางในสมัยนั้นยากลำบาก แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 กลับมิเคยย่อท้อ ยังเสด็จฯ มาทอดพระเนตรพื้นที่ รวมทั้งยังเสด็จฯ มาติดตามความคืบหน้าโครงการอยู่หลายครั้ง และทรงนำกล้าไม้เมืองหนาว มาทรงปลูก ณ ขุนวางแห่งนี้ด้วย ทั้งต้นบ๊วย และต้นมะแมคคาเดเมียต้นแรก ที่ทรงปลูกเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2527 โดยทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปลูกพืชช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วยังสร้างรายได้ให้แก่ชาวเขาในพื้นที่ด้วย

 

ตามทางไม้เมืองหนาวที่พ่อสร้าง ณ ขุนวาง

 

          วันนี้ ทั้งต้นบ๊วย และต้นแมคคาเดเมียทรงปลูก ก็ยังงอกงามดี และยังให้ผลผลิตอยู่ทุกปี นี่ยังไม่นับพืชและไม้ผลอื่นๆ เช่น มันฝรั่ง กาแฟ แมคคาเดเมีย พีช พลัม ทับทิม โดยจะเน้นวิจัยต่อยอด ขยายผลแล้วส่งให้เกษตรกรในหมู่บ้านรอบๆ ศูนย์วิจัยทั้งขุนวางและแม่จอนหลวง นำไปปลูกเป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวรวมๆ แล้ว มีพื้นที่ปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ราวๆ 72,900 ไร่, แมคคาเดเมียมีพื้นที่ปลูกอีก 55,000 ไร่ และบ๊วยอีก 5,000 ไร่

 

ตามทางไม้เมืองหนาวที่พ่อสร้าง ณ ขุนวาง

 

 

          ด้วยรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงขุนวางจึงได้จัดทำเส้นทาง “ตามรอยที่พ่อสร้าง” โดย ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ไปเปิดงาน และพาเดินตามรอยที่พ่อสร้าง ระยะทางรวม 2.5 กม. ในพื้นที่ของศูนย์วิจัยเกษตรฯ มาแล้ว ตั้งแต่จุดแรกนิทรรศการการเสด็จพระราชดำเนินในพื้นที่ มีการนำรถแลนด์โรเวอร์ รถพระที่นั่งทรงงาน มาจัดแสดงบริเวณลานดอกไม้ด้านหน้า เดินตามถนนเข้าไปด้านใน ผ่านไปยังแปลงวิจัยกาแฟ ถึงบริเวณหุบรับเสด็จ ซึ่งด้านหนึ่งเป็นต้นบ๊วยและต้นแมคคาเดเมียทรงปลูก โรงแปรรูปกาแฟ เดินวนไปตามถนนเส้นสวยด้วยนางพญาเสือโคร่ง ที่เป็นไฮไลน์ของนักท่องเที่ยว ขึ้นไปยังศาลาชมวิว

 

ตามทางไม้เมืองหนาวที่พ่อสร้าง ณ ขุนวาง

 

 

          “ผู้ที่มาเที่ยวชมที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงฯ ขุนวาง จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การทรงงานด้านการเกษตรของในหลวง รัชกาลที่ 9 นอกเหนือจากการสัมผัสอากาศหนาวบนดอยและชมดอกนางพญาเสือโคร่ง”

          ปีนี้ อากาศมีฝนบ้าง ทำให้ไม่ค่อยหนาวจัด ทำให้นางพญาเสือโคร่งที่ทิ้งใบแล้ว แต่ก็ยังไม่ออกดอก คาดว่าถ้าฝนไม่ตก แล้วอากาศหนาวๆ ราวๆ 24-25 มกราคมจนถึงสิ้นเดือนนี้ น่าจะได้เห็นถนนสายสีชมพูสวยๆ เป็นแน่

          ความสวยงามของทิวแถวนางพญาเสือโคร่ง เป็นผลพลอยได้ หากแต่สิ่งที่เป็นแก่นแท้ของศูนย์วิจัยเกษตรหลวงแห่งนี้ ก็คือพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยต่อความทุกข์ยากของพสกนิกร จนเกิดเป็นโครงการไม้ผลและไม้ดอกเมืองหนาวนั่นเอง

 

ตามทางไม้เมืองหนาวที่พ่อสร้าง ณ ขุนวาง

 

          *** ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่แม่จอนหลวง เลี้ยวซ้ายหน้าหน่วยขุนวางไปอีก 7 กม. ทั้งสองแห่งมีบ้านพัก จำนวนจำกัด และมีลานกางเต็นท์ ทั้งสองแห่งควรติดต่อจองบ้านพักและอาหารล่วงหน้า โทร. 0-5311-4133-36

          ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ขุนวางและแม่จอนหลวง ติดชั้นแหล่งท่องเที่ยวไปแล้ว มีบ้านพักและลานกางเต็นท์รองรับนักท่องเที่ยว ขณะที่อธิบดีกรมการเกษตรบอกว่า ยังมีศูนย์วิจัยเกษตรอื่นๆ เปิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเช่นกัน รวมแล้ว 18 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น ที่แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, หนองคาย, เพชรบูรณ์, จันทบุรี ภูเก็ตก็มี และแน่นอนว่า สภาพพื้นที่และพืชพันธุ์แตกต่างกันไปตามฤดูกาล จนน่าสนใจไปเที่ยวจริงๆ เพราะนอกจากได้ความรื่นรมย์แล้ว ยังได้ความรู้ที่อาจต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ในอนาคตก็เป็นได้

 

ตามทางไม้เมืองหนาวที่พ่อสร้าง ณ ขุนวาง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ