Lifestyle

ซูบารุ ยุคใหม่ ชู โกลบอล แพลทฟอร์ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ซูบารุ ยุคใหม่ ชู โกลบอล แพลทฟอร์ม เพิ่มสมรรถนะ-ลดต้นทุน

บริษัท ฟูจิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ จำกัด (FHI) ประเทศญี่ปุ่น ผู้ผลิตรถยนต์ซูบารุ ประกาศช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า บริษัทมีแผนร่วมทุนกับบริษัท ทีซี แมนูแฟคเจอริง แอนด์ แอสเซมบลีย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TCMA TH) บริษัทลูกของบริษัท ตัน จง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเดือนกุมภาพันธ์นี้เพื่อขึ้นสายประกอบรถยนต์ซูบารุในไทย ในโรงงานร่วมทุน บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด โดยทีซีเอ็มเอ ทีเอช จะถือหุ้นในสัดส่วน 74.9% และเอฟเอชไอ 25.1% โดยจะเริ่มต้นผลิตในปี 2562

  ปัจจุบัน ซูบารุ ประกอบรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียนที่โรงงานตันจง มอเตอร์ แอสเซมบลีส์ เอสดีเอ็น บีเอชดี ประเทศมาเลเซีย 2 รุ่น คือ ซูบารุ เอ็กซ์วี และซูบารุ ฟอร์เรสเตอร์

  อย่างไรก็ตามเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและสร้างการเติบโตของตลาดในอาเซียนจึงตัดสินใจเพิ่มการประกอบรถยนต์ในไทยภายใต้แผนการลงทุนดังกล่าว โรงงานที่มาเลเซีย จะยังคงดำเนินกิจกรรมการผลิตต่อไป โดยทั้ง 2 โรงงานจะป้อนรถให้กับตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายซูบารุในอาเซียนและบางประเทศในเอเชียเป็นผู้กระจายสินค้าไปยังตัวแทนจำหน่ายในประเทศต่างๆ ต่อไป

  สำหรับตันจง กรุ๊ป เป็นกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ของมาเลเซียที่มีบทบาทในตลาดอาเซียนรวมทั้งไทย ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานทีซี แมนูแฟคเจอริง แอนด์ แอสเซมบลีย์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ลาดกระบัง ซึ่งเคยใช้ผลิตรถบรรทุกฟูโซ่ อย่างไรก็ตามการประกาศของเอฟเอชไอ ไม่ได้ระบุว่าแผนการร่วมทุนจะเป็นการสร้างโรงงานใหม่ หรือการพัฒนาโรงงานเเดิมของตันจงในไทย แต่ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ซูบารุ เข้าร่วมงานสิงคโปร์ มอเตอร์ โชว์ ซึ่งการแสดงสำคัญของซูบารุก็คือ การเปิดตัวอิมเพรสซา อย่างเป็นทางการครั้งแรกในอาเซียน ประเดิมสิงคโปร์เป็นประเทศแรก ซึ่งนอกจากจะเป็นรุ่นใหม่แล้วยังมีความสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือเป็นรุ่นแรกที่ใช้แพลทฟอร์มใหม่ที่เรียกว่า “ซูบารุ โกลบอล แพลทฟอร์ม”

  ทั้งนี้เป็นที่รู้กันดีกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันยุคสมัย ทันกับการแข่งขัน ทำให้ได้เห็นการเลือกใช้ทางลัดมากมาย เช่น การร่วมมือเป็นพันธมิตร การแปลกเปลี่ยนเทคโนโลยี หรือการซื้อกิจการ หรือการซื้อหุ้น การลดต้นทุน เป็นการบ้านข้อใหญ่ของบรรดาผู้ผลิตที่ต่างหาแนวทางกันทุกวิธีการ รวมไปถึงการลดความหลากหลายของรุ่นสินค้า หรือลดโครงสร้างพื้นฐานหรือแพลทฟอร์มซึ่งเกิดขึ้นกับทุกค่าย แม้แต่ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกที่มีสินค้ามากมายหลายรุ่น ต่างก็ตั้งเป้าลดแพลทฟอร์มให้น้อยที่สุด เช่น ฟอร์ด ซึ่งเมื่อปี 2558 ประกาศลดแพลทฟอร์มจาก 27 แพลทฟอร์ม เหลือแค่ 9 เท่านั้น

  เอฟเอชไอก็เช่นกัน ประกาศว่าจากนี้ไปรถยนต์ซูบารุจะเหลือแพลทฟอร์มเดียว เรียกว่า “โกลบอล แพลทฟอร์ม” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอิมเพรสซา เอ็กซ์-วี หรือว่าฟอร์เรสเตอร์ ก็จะใช้แพลทฟอร์มเดียวกัน

  ผู้บริหารเอฟเอชไอ ให้สัมภาษณ์ในงานสิงคโปร์ มอเตอร์โชว์ ว่า การใช้โกลบอล แพลทฟอร์ม จะทำให้มีแนวทางการพัฒนารถยนต์รุ่นต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์ และแน่นอนในเชิงของต้นทุน และความรวดเร็วในการพัฒนาก็คือ การวางแผนด้านชิ้นส่วนหลักของรถหลายรุ่นสามารถวางแผนได้ในครั้งเดียว เพราะได้ออกแบบให้สามารถรองรับโครงสร้างตัวถังที่หลากหลาย เครื่องยนต์ และเกียร์ที่ต่างกันออกไป

  และแน่นอนในส่วนของแพลทฟอร์มเอง จากนี้ไปก็จะสามารถผลิตได้จากโรงงานเดียวสำหรับรถทุกรุ่นแทนที่จะต้องพึ่งพาโรงงานผลิตชิ้นส่วนหลายแห่ง ส่วนการที่จะผลิตออกมาในรุ่นที่ต่างกัน ประเภทการใช้งานต่างกัน เช่น เอสยูวี ที่มีขนาดตัวถังสูง หรือว่ารถยนต์นั่งที่ตัวถังเตี้ยกว่า และก็ยังแยกย่อยออกไปอีกว่ารถยนต์นั่งรถใดอารมณ์จะต้องเป็นอย่างไรนั้น อยู่ที่วิธีการปรับแต่งเพิ่มขึ้น หรือ fine tune โดยที่โครงสร้างหลักยังคงเป็นแพลทฟอร์มตัวเดิม

เอฟเอชไอบอกว่า โกลบอล แพลทฟอร์ม พัฒนาขึ้นจากเดิมในหลายๆ ด้าน ทั้งความแข็งแรงเพื่อรับมาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานทดสอบการชนที่เข้มข้นขึ้น ผลต่อสมรรถนะการขับขี่ ความเงียบที่ดีขึ้น ซึ่งรวมถึงการออกแบบให้เครื่องยนต์สามารถติดตั้งได้แน่นขึ้น จะลดเสียงเมื่อเร่งเครื่องยนต์ได้ 1 เดซิเบล

  "แพลทฟอร์มใหม่ ยังออกแบบให้จุดศูนย์ถ่วงต่ำลง 5 มม.เปลี่ยนการเชื่อมต่อโดยใช้เทคโนโลยีแรงกดทับความร้อนสูง ทำให้การดูดซับแรงดีขึ้น โกลบอล แพลทฟอร์ม ยังปรับช่วงล่างใหม่ เพิ่มเหล็กกันโคลงด้านเข้าไปยังโครงสร้างรถโดยตรง ทำให้ลดการโยกตัวของรถ เมื่อเทียบกับรุ่นในปัจจุบัน” ผู้บริหารเอฟเอชไอ กล่าว

  เกลน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทแม่ของมอเตอร์ อิมเมจ ซูบารุ กล่าวว่า ซูบารุ โกลบอล แพลทฟอร์ม เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของซูบารุ ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานความสะดวกสบายในการขับขี่ ประสิทธิภาพและความปลอดภัย โดยจะแสดงออกมาทางอิมเพรสซา เป็นรุ่นแรก และถือเป็นรถที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่เปิดตัวจากการคว้ารางวัล “2016-2017 เจแปน คาร์ ออฟ เดอะ เยียร์”

 สำหรับอิมเพรสซาใหม่มี 2 รูปแบบตัวถังคือ 4 ประตู และ 5 ประตู และมี 2 เครื่องยนต์ให้เลือกคือ เบนซิน 1.6 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 114 แรงม้าที่ 5,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 150 นิวตันเมตรที่ 3,600 รอบต่อนาที และเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร ระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงโดยตรง หรือไดเร็คอินเจคชั่น ให้กำลังสูงสุด 153 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 196 นิวตันเมตรที่ 4,000 รอบต่อนาที เกียร์อัตโนมัติซีวีที แบบลีเนียร์โทรนิค

เกลน ตัน บอกว่า หลังจากเปิดตัวที่สิงคโปร์แล้วจะเปิดตัวที่ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ต่อไป ส่วนไทยยังอยู่ระหว่างการศึกษาความต้องการของตลาด แต่ที่แน่ๆ ปีนี้ตลาดไทยจะมีโอกาสได้ใช้แพลทฟอร์มใหม่กับเอ็กซ์-วี ใหม่ ที่จะเปิดตัวช่วงงานมหกรรมยานยนต์ปลายปี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ