Lifestyle

‘บ้านไม่บาน’ที่‘เรียนรู้อยู่ร่วม’กับน้ำ(ท่วม)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ บ้านไม่บาน กับ อาจารย์เชี่ยว

 

           สวัสดีปี “ระกา” ครับ ชาว “บ้านไม่บาน” สาระน่ารู้ในสัปดาห์นี้เพื่อเป็นการปลุกปลอบขวัญและเป็นการให้กำลังใจกับบรรดาชาว “ปักษ์ใต้” ที่กำลังได้รับความทุกข์ทรมานอย่างหนักหนาแสนสาหัสกับวิกฤตน้ำท่วม ซึ่งจะว่าไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้เองในปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางในครั้งนั้นก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินกันอย่างใหญ่หลวงครับ 

           จากสถิติที่ผมเก็บรวบรวมไว้จะเห็นได้ว่า “มหาอุทกภัย” ในครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงถึง 65 จังหวัด 684 อำเภอ 4,917 ตำบล 43,600 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 4,039,459 ครัวเรือน 13,425,869 คน ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างเหลือคณานับ ก็เป็นไปตามคำที่ผมพูดไว้ไม่ผิดครับว่าไม่ช้าหรือเร็วหากยังพัฒนาเศรษฐกิจ,สังคมกันในรูปแบบเดิมๆ ทำการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนกันในรูปแบบเดิมๆ หากเกิดน้ำท่วมขึ้นมาอีกก็ต้องเสียหายกันเหมือนเดิมๆ ครับ 

           จะเห็นได้ว่าภัยพิบัติจากน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้ครอบคลุมรวม 111 อำเภอ 663 ตำบล 4,993 หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบ 369,680 ครัวเรือน ประชาชน 1,105,731 คน ผู้เสียชีวิต 25 ราย สูญหาย 2 ราย ถนน 218 จุด คอสะพาน 59 แห่ง ได้รับความเสียหาย กว่าจะเยียวยา ให้กลับพลิกฟื้นคืนดีดังเดิม ต้องใช้เวลาอีกยาวนานกันอีกหลายเดือนหลายปีครับ และที่สำคัญคือในอนาคตหากเกิดอุทกภัยน้ำท่วมอีก บรรดาผู้คนเหล่านี้ก็คงต้องตกอยู่ในสภาพเดิม ๆ อีก เป็นปัญหาซ้ำซาก ยากที่จะแก้ไข หากคิดแบบเดิม ทำแบบเดิมซ่อมสร้างอาคารบ้านเรือนกันแบบเดิม จะหวังผลลัพธ์ใหม่ๆ ได้อย่างไร

           เพื่อให้แฟนๆ ชาว “คนรักบ้าน” โดยเฉพาะชาว “ปักษ์ใต้” ได้นำไปปรับประยุกต์ใช้ต่อยอดทางความคิด หากจะสร้างบ้านเรือนขึ้นมาใหม่ภายหลังน้ำท่วมก็นำเอารูปแบบ “บ้านไม่บาน” ของผมที่เรียนรู้อยู่ร่วมกับน้ำท่วมนำไปใช้กันครับ รับรองว่าเกิดประโยชน์ได้อย่างแน่นอนครับ

 

‘บ้านไม่บาน’ที่‘เรียนรู้อยู่ร่วม’กับน้ำ(ท่วม)

 

           สำหรับแบบ “บ้านไม่บาน” ที่ “เรียนรู้อยู่ร่วม” กับน้ำ(ท่วม) ในสัปดาห์นี้ เป็นแบบที่ผมมีความชื่นชม ชื่นชอบมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นแบบ “บ้านไม่บาน” ในสไตล์ “อกาลิโก +ไฮโซ+โลว์คอส” อย่างแท้จริง ซึ่งหมายถึง “สวยประหยัด สวยดูดี สวยมีชาติตระกูล สวยสร้างง่าย สวยซ่อมง่าย สวยทน สวยทาน สวยนาน” และที่สำคัญ คือ “สวยแบบไม่กลัวน้ำท่วม” ซึ่งแรงบันดาลใจในการออกแบบ “บ้านไม่บาน” หลังนี้แท้จริงแล้ว ก็มาจาก “เรือนไทย” ของ “คุณย่า” ผมนี่แหละครับ ที่ตั้งอยู่ที่ “บางแพ” จังหวัด “ราชบุรี” พอเดือน“สิบ” ย่างเข้าเดือน “สิบเอ็ด” น้ำก็เริ่มไหลนอง ท่วมหลาก เต็มท้องทุ่ง “คุณย่า” ก็จะให้บรรดาบ่าว และบริวาร ทำการย้ายขนของบริเวณใต้ถุนบ้านมาไว้บนชั้นสอง บริเวณ “ชานเรือน” ของบ้าน “คุณย่า” ที่เป็น “เรือนไทย” แท้ มีลักษณะเป็นเรือนกลุ่ม มี “เรือนไทย” หลังเล็ก,หลังใหญ่เกาะกลุ่มกันอยู่หลายหลัง และเชื่อมเรือน แต่ละหลังด้วย “ชานเรือน” ครับ

           สำหรับผมแล้วฤดูน้ำท่วมหลากในช่วง “เดือนสิบเอ็ด” และ “เดือนสิบสอง” (พฤศจิกายน) (ซึ่งเป็นช่วงเทศกาล “ลอยกระทง”) เป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุดครับ เพราะฤดูแห่งการเก็บเกี่ยวข้าวก็เสร็จแล้ว เป็นช่วงเวลาของการพักผ่อนจากการทำงานหนักกันมานานหลายเดือน ทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่มีปลามากมายหลายหลากพันธุ์ที่แหวกว่ายลอยมาพร้อมกับกระแสน้ำที่หลากมา ทำให้มีโอกาสจับปลากันครับ แล้วนำเข้าสู่กระบวนการถนอมอาหารเก็บไว้กินกันได้นานๆ เช่น ทำเป็นปลาแห้ง ปลาเค็ม ปลาร้า น้ำปลา น้ำพริกปลาแห้ง ฯลฯ เป็นที่สนุกสนานครื้นเครง ตลอดไปจนถึงบรรดางานประเพณี งานวัด งานบุญต่างๆ ก็มีช่วงนี้แหละครับ ที่คนโบราณเล่น “เพลงเรือ” ก็เล่นกันช่วงนี้

           คนไทยโบราณสมัย “คุณย่า” ผมได้เรียนรู้อยู่ร่วมกับน้ำท่วม 3-4 เดือน สบายๆ ไม่เห็นจะเดือดเนื้อร้อนใจแต่ประการใด ทั้งหลายทั้งปวงที่เล่ามานี้ก็อยู่ในความทรงจำของผมในช่วงเยาว์วัยอันแสนสุขและสนุกนี่แหละครับ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้คือ “ภูมิสังคม” คือ เป็น “ภูมิบ้าน” , “ภูมิเมือง” เกิดเป็น “ภูมิปัญญา” และกลายเป็น “ภูมิสังคม” บางครั้งก็อาจเรียกว่า “ภูมิธรรม” หรือ “ภูมิธรรมชาติ” ก็ได้ครับ ซึ่งเป็นการเรียนรู้อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลครับ

           รูปแบบ“บ้านไม่บาน” ที่ “เรียนรู้อยู่ร่วม” กับน้ำ(ท่วม) ที่ผมกำลังนำเสนอในสัปดาห์นี้ เป็นการ “ต่อยอด” จาก “เรือนไทย” โบราณบ้าน “คุณย่า” ที่ “บางแพ” ครับ จะว่าไปแล้วก็มีอายุของ “เรือนไทย” นับร้อยปีครับ มี “ฝาประกน”, “ปั้นลม” ฯลฯ ถูกต้องตามลักษณะ “เรือนไทย” โบราณอย่างครบถ้วน เป็นการฝากฝีไม้ลายมือของสกุลช่าง “เมืองราชฯ” และ “เมืองเพชรฯ” ที่เรียกกันว่าเป็นการ “ปรุงเรือน” ซึ่งมหัศจรรย์มากครับที่ “เรือนไทย” ของ “คุณย่า” ผมไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียวครับ ใช้สลัก,ใช้เดือย “หางเหยี่ยว” ถือว่าเป็นช่าง “ปรุงเรือนไทย” ฝีมือชั้นครูเลยทีเดียว ปัจจุบันหาฝีมือระดับนี้ทำยาได้ยากมากแล้วครับ

 

‘บ้านไม่บาน’ที่‘เรียนรู้อยู่ร่วม’กับน้ำ(ท่วม)

 

           ในการออกแบบ “บ้านไม่บาน” ที่ “เรียนรู้อยู่ร่วมกับน้ำ (ท่วม)” หลังนี้ผมจงใจออกแบบให้ยกพื้นสูงแบบ “เรือนไทย” ของ “คุณย่า” ครับ บริเวณชั้นล่างก็จัดให้เป็นส่วนเอนกประสงค์ เช่น มีพื้นที่นั่งเล่น นอนเล่น สันทนาการ เป็นห้องครัวแบบไทย ที่ต้องทนทานใช้งานหนัก ในการเตรียมอาหาร ตลอดจนการผัด การทอด ฯลฯ รวมทั้งใช้วัสดุที่มีความทนทานต่อน้ำท่วม เช่น พื้นกระเบื้อง ผนังขัดมันและพยายามหลีกเลี่ยงสีทาบ้าน เพราะจะเสียหายมากเวลาน้ำท่วมขังนานๆ ครับ รวมทั้งพื้นไม้ประเภท “ปาร์เก้” ก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใช้เพราะกาวที่ใช้มักจะหลุดล่อนและจะส่งผลให้ไม้ “ปาร์เก้” จะเสียหายมากครับ 

           นอกจากนี้ ประตูบริเวณพื้นที่ชั้นล่างก็ออกแบบเป็นประตู “บานเฟี้ยม” สามารถพับเปิดเป็นช่องโล่งได้ เวลาน้ำหลากจะได้ระบายออกได้สะดวกและรวดเร็ว สำหรับบริเวณชั้น 2 ก็เป็นการต่อยอดจาก “เรือนไทย” ของ “คุณย่า” ที่ “บางแพ” อีกเช่นกัน คือ มีชานบ้านและมีศาลานั่งเล่น ซึ่งคนไทยโบราณก็จะเล่นพวก “บอนไซ” ไม้ดัด ประเภท “ตะโก” หรือ “ข่อย” ฯลฯ เอาไว้นั่งชื่นชมน้ำในช่วงที่น้ำท่วมหลากยาวนาน 3-4 เดือน

           การใช้ชีวิตใน “บ้านไม่บาน” ที่ “เรียนรู้อยู่ร่วม” กับน้ำ(ท่วม)หลังนี้ เป็นการกลับไปสู่วิถีของกินอยู่แบบไทยอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากใคร (มีแต่จะคอยช่วยผู้อื่นที่ลำบาก) สามารถอยู่ร่วมกับน้ำท่วมอย่างน้อย 3-4 เดือน เป็นการต่อยอดของ “ภูมิปัญญา” เป็นการก้าวไปข้างหน้าโดยไม่ละทิ้ง “ของดีมีอยู่” ต่อให้น้ำท่วมอีกกี่สิบครั้ง “บ้านไม่บาน” ของผมหลังนี้คงไม่เป็นไรครับ ก็เหมือนบ้าน “คุณย่า” ของผมที่เป็น “เรือนไทย” แบบโบราณอยู่ที่ “บางแพ” สู้กับน้ำท่วมมายาวนานนับสิบนับร้อยปี ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขกาย สบายดี น้ำท่วมก็เรียนรู้อยู่ร่วมกับน้ำ ไม่สู้กับน้ำแต่อยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน น้ำท่วมเป็นเรื่องธรรมชาติ และไม่ต้องกลัวว่าน้ำท่วมแล้วจะไม่ท่วมอีก เพราะยังไง “น้องน้ำ” มาแน่ อีกสองสัปดาห์หน้ามาดูรายละเอียดในเบื้องลึกของ “บ้านไม่บาน” ที่ “เรียนรู้อยู่ร่วม” กับน้ำ(ท่วม) หลังนี้ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ก็อยากให้ทั้ง “ภาครัฐ” และ “ภาคเอกชน” นำเอารูปแบบ “บ้านไม่บาน” ของผมนำไปปรับประยุกต์ใช้กันโดยด่วนครับ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ