Lifestyle

3หลักการสำคัญในการรังสรรค์‘อาคารบ้านเรือนที่ไม่บาน’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ คลินิกคนรักบ้าน กับ ดร.ภัทรพล

 

          เนื่องจาก “วันครู” เพิ่งผ่านพ้นไป พอนึกถึง “ครู” ก็จำได้ว่าผมถูกสอนจาก “ครู” ตั้งแต่ครั้งไปทำปริญญาโทและปริญญาเอกที่ “King’s College” ถึงหลักการและกระบวนการสำคัญก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะลงมือทำกิจการงานใด ซึ่งผมได้นำมาใช้โดยตลอดและส่วนใหญ่ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างยิ่งครับ แม้แต่ในการรังสรรค์ “อาคารบ้านเรือนที่ไม่บาน” ไม่ว่าจะเป็น “บ้านไม่บาน”, “อพาร์ทเม้นท์ไม่บาน”, “บูทิโฮเทลไม่บาน”, “คอนโดมิเนียมไม่บาน” ฯลฯ ผมก็ใช้ “หลักการสำคัญ 3 ประการ” นี้ครับในการทำงาน

          ประการแรก คือ “ต้องรู้ให้ได้เสียก่อนว่าเรารู้อะไร” หมายถึง จะต้องเข้าไปถึง “แก่น” ของ “องค์ความรู้” ในศาสตร์นั้นๆ โดยการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล รวมถึงทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งใน “แนวราบ” และ “แนวลึก” เพื่อให้เข้าใจถึง “แก่น” อย่างลึกซึ้งว่าเรา “รู้อะไร” ตัวอย่างเช่น ผมกำลังจะออกแบบ “โฮมส์ออฟฟิศ” ที่ไม่กลัวน้ำท่วม ผมจะต้องรู้ให้ได้เสียก่อนว่า “โฮมส์ออฟฟิศ” คืออะไร ควรจะมีรูปแบบอย่างไร และน้ำท่วมสาเหตุเกิดจากอะไร มีความรุนแรง หนักหนาสาหัสเพียงใด แค่ไหน และทรัพยากรรวมทั้งศักยภาพในการรับมือกับน้ำท่วมมีอยู่นั้นมีมากน้อยแค่ไหน ผมยังจำได้ว่า “ครู” ผมที่เคยสอนไว้ว่า “You Do Know , What You Do Know!!!” หมายความว่า เราต้องรู้ให้ได้เสียก่อนว่า “เรารู้อะไร”

          ประการที่ 2 คือ “ต้องรู้ให้ได้เสียก่อนว่าเรารู้ว่าเราไม่รู้อะไร” ซึ่ง “ประการแรก” นั้นเป็น “การเข้าใจ” ส่วนประการที่สอง คือ “การเข้าถึง” การที่ “เรารู้ว่าเราไม่รู้อะไร” (คือ “You Do Know, What You Don’t Know!!!”) นั้น จะนำไปสู่กระบวนการตั้ง “โจทย์” หรือ “สมมุติฐาน” (Hypothesis) ที่ถูกต้อง มีคำกล่าวว่าการตั้ง “โจทย์” หรือการตั้ง “คำถาม” ที่ถูกต้องนั้นสำคัญกว่า “คำตอบ” ที่ได้รับเสียอีกครับ ก็เปรียบเหมือนการ กลัด “กระดุมเม็ดแรก” ครับ หากกลัดผิดเสียแล้ว เม็ดที่สอง, สาม, สี่, ห้า หรือเม็ดถัดๆ ไปจะตั้งใจกลัดสักเท่าไหร่ หรือทุ่มเทสักเท่าไหร่ก็จะผิดหมดเพราะกลัดผิดตั้งแต่เม็ดแรกแล้วครับ เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า “หากเริ่มต้นดีก็จะมีชัยไปกว่าครึ่ง” ครับ หลังจากที่ศึกษาหาข้อมูล, ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีที่ถูกต้อง ก็ถึงขั้นการตั้ง “โจทย์” หรือ “สมมุติฐาน” ที่ถูกต้องซึ่งในขั้นนี้สมองทั้ง “ซีกซ้าย” และ “ซีกขวา” ต้องทำงานร่วมกันซึ่งจำเป็นต้องใช้ “จินตนาการ” เป็นตัวช่วยอย่างมากครับ

          สำหรับประการที่ 3 คือ “ต้องนำ “โจทย์” หรือ “สมมุติฐาน” นั้นนำไป “ลงมือปฏิบัติให้เกิดสัมฤทธิ์ผล” ไม่ว่า “ผลลัพธ์” ที่ออกมาจะเป็นเช่นไร ก็ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสิ้น ต่างกันเพียงแต่จะเกิดประโยชน์มากหรือน้อย นอกจากนั้นยังก่อเกิด “กระบวนการลองผิดลองถูก” (Trial Error) ถ้าผิดก็เป็นครูครับได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากประสบการณ์ หากถูกก็พัฒนาต่อไปให้ดียิ่งๆ ขึ้นครับ ซึ่ง “ครู” บอกว่าเป็นขั้นตอนของการที่ “เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร” (คือ “You Don’t Know, What You Don’t Know!!!”) จึงทำให้เราต้องลงมือปฏิบัติ เพราะต้องการค้นหาคำตอบ ค้นหาสิ่งที่เราไม่รู้ครับ

          พอคิดมาถึงตอนนี้ใจผมนึกถึง “กระแสพระราชดำรัส” ของ “ในหลวงล้นเกล้ารัชกาลที่ 9” ซึ่งจะว่าไปแล้วพระองค์ท่านทรงเป็น “บรมครู” ของผม แนวทางของพระองค์ท่าน ก็คล้ายๆ กันนี่แหละครับ คือจะต้องทำการ “เข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงพัฒนา” เป็นกระบวนการทำงานแบบ “เป็นขั้นเป็นตอน” (ซึ่งห้ามข้ามขั้นตอนโดยเด็ดขาด) เพื่อที่จะทำ “ความเข้าใจ” หมายถึง “การรู้แจ้ง” ให้ถึง “แก่น” ในหลักการ เหตุผล ใน “ภาคทฤษฎี” ส่วน “การเข้าถึง” หมายถึง “การต่อยอด” จาก “ภาคทฤษฎี” เป็นการเตรียมการที่นำไปสู่ “ภาคปฏิบัติ” คือ การตั้ง “โจทย์” หรือ ตั้ง “สมมุติฐาน” รวมทั้งเป็นการตั้ง “เป้าหมาย” และการ “โฟกัส” ที่เป้าหมายเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนสุดท้าย คือ “การพัฒนา” ซึ่งหมายถึง “การลงมือปฏิบัติ” นำไปสู่ “ความไม่รู้ ที่เราไม่รู้” เกิดเป็น “นวัตกรรม” (Innovation) พอทับถมกันไปนานๆ เข้า ก็เกิดเป็น “ภูมิปัญญา” อันเป็นมรดกตกทอดสืบไปจนถึงรุ่นลูก หลาน ก่อให้เกิดประโยชน์และความสุขให้กับตนเอง และคนหมู่มากในสังคมครับ

          “3 หลักการ” และขั้นตอนหลักๆ นี้แหละครับ เป็นสาระสำคัญที่ “ครู” ได้สอนผมและผมก็ได้นำมาปรับประยุกต์ใช้ในการทำงานมาตลอดเกือบ 30 ปี ที่ผมทำงานรังสรรค์ “อาคารบ้านเรือนที่ไม่บาน” กว่า 500 โครงการก็ถือว่าได้รับผลดียิ่ง ก็ลองนำเอา “หลักทั้ง 3 ประการ” นำไปปรับประยุกต์ใช้กันดูครับ ก็น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ครับ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ