Lifestyle

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (ตอนที่ 1)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์โรคภัยใกล้ตัว โดย โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

 

     “มะเร็งลำไส้ใหญ่” (Colon Cancer) หมายถึง มะเร็งที่เกิดขึ้นในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของลำไส้ใหญ่ นับตั้งแต่ช่วงที่ต่อจากลำไส้เล็กจนถึงทวารหนัก ซึ่งโดยปกติลำไส้ใหญ่เป็นส่วนท้ายสุดของทางเดินอาหาร (ซึ่งเริ่มที่ปาก) ทำหน้าที่เก็บเศษอาหาร ที่ผ่านการย่อยและดูดซึมมาแล้ว เพื่อเตรียมการขจัดออกจากร่างกายในรูปของอุจจาระ ลำไส้ใหญ่มีความยาวต่อเนื่องราว 4-6 ฟุต ประกอบขึ้นด้วยลำกล้ามเนื้อโดยรอบ แบ่งตามลักษณะที่ตั้งออกได้เป็น 4 ส่วน คือ

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (ตอนที่ 1)

1.ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น (ascending colon) ซึ่งอยู่ทางด้านขวาของช่องท้อง

2.ลำไส้ใหญ่ส่วนขวาง (transverse colon)  ซึ่งผ่านจากด้านขวาไปยังด้าน ซ้าย เพื่อไปต่อกับลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย

3.ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (descending colon) อยู่ทางด้านซ้ายของช่องท้อง ซึ่งพอลงมาถึงบริเวณท้องน้อยจะขดเป็นรูปตัวเอส (S) เรียกว่า ลำไส้ใหญ่ส่วนซิกมอยด์ (sigmoid colon) ซึ่ง   จะไปต่อกับลำไส้ใหญ่ส่วนท้ายคือ ลำไส้ตรง

4.ลำไส้ตรง (rectum) ส่วนนี้จะเปิดออกสู่โลกภายนอก โดยต่อกับทวารหนัก (anus)

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (ตอนที่ 1)

 

ปัจจัยความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

      ยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าอะไรเป็นสาเหตุ แต่พบว่ามีหลายๆ ปัจจัยที่อาจมีความสัมพันธ์หรือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่

       1.พันธุกรรม หมายถึง หากคนคนนั้นมีญาติใกล้ชิดเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือผู้ที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรังของลำไส้บางอย่าง จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าคนทั่วไปดังนี้ 

ญาติใกล้ชิดเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่                              ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้

พ่อ, แม่, พี่, น้อง, ลูก เป็นโรคนี้ 1 คน                                             2-3 เท่า

พ่อ, แม่, พี่, น้อง, ลูก เป็นโรคนี้ 2 คน                                             3-4 เท่า

พ่อ, แม่, พี่, น้อง, ลูก เป็นโรคนี้ อายุน้อยกว่า 50 ปี                            3-4 เท่า

ปู่, ย่า, ตา, ยาย, ลุง, ป้า, น้า, อา เป็นโรคนี้ 1 คน                              1.5 เท่า

ปู่, ย่า, ตา, ยาย, ลุง, ป้า, น้า, อา เป็นโรคนี้ 2 คน                              2-3 เท่า

พ่อ, แม่, พี่, น้อง, ลูก มีเนื้องอกติ่งเนื้อ (polyps) ที่ลำไส้ 1 คน                2 เท่า

 

      2.อายุ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบได้มากหลังอายุ 50 ปี แต่โอกาสเกิดโรคจะมีการเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ หลังอายุ 40 ปี เป็นต้นไป โดยยิ่งอายุมากขึ้นอุบัติการณ์ก็จะสูงขึ้นด้วย

      3.เพศและเชื้อชาติ พบว่าผู้หญิงอเมริกันมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าผู้ชาย คนผิวดำจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนผิวขาว แต่คนผิวดำในทวีปอัฟริกากลับมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่ำมาก ดังนั้นความเสี่ยงของเชื้อชาติขึ้นกับว่าอยู่ในประเทศอุตสาหกรรมหรือไม่

       4.อาหาร บางการศึกษาพบว่า การรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่างไหม้เกรียม เพราะเมื่อถูกความร้อนโปรตีนจากเนื้อสัตว์หรืออาหารทะเลจะทำให้เกิดสารก่อมะเร็งที่เราเรียกว่า “เฮทเทอโรไซคลิก เอมีน” (heterocyclic amines; HCAs) และสาร “โพลีไซคลิก อะโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน” (polycyclic aromatic hydrocarbons; PAHs) ที่สามารถทำลายสารพันธุกรรมดีเอ็นเอที่อยู่ในเซลล์ร่างกายและเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดมะเร็งในที่สุด นอกจากนี้บางการศึกษาพบว่าการรับประทานอาหารไขมันสูงหรืออาหารที่ขาดใยอาหารทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า 

        5.การขาดสารอาหารบางชนิด บางการศึกษาพบว่า อาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้สูงกว่าผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน 

        6.อาการท้องผูก พบว่ามีความสัมพันธ์กับมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้หญิงผิวดำที่อาการท้องผูกด้วยแล้วจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ 

        7.การดื่มสุรา หรือเบียร์อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 

        8.การสูบบุหรี่ มีการศึกษาในระยะหลังๆ พบว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราการตายสูงขึ้นด้วย 

 

อ่านต่อสัปดาห์หน้า... 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ