Lifestyle

บทเพลงของพ่อ ที่ 'เชียงราย'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทเพลงของพ่อ ที่ 'เชียงราย' : คอลัมน์ วนเที่ยว เรื่อง- ภาพ...  นพพร วิจิตร์วงษ์

 

ขอฝันใฝ่ ในฝันอันเหลือเชื่อ
ขอสู้ศึก ทุกเมื่อ ไม่หวั่นไหว
ขอทนทุกข์ รุกโรมโหมกายใจ
ขอฝ่าฟัน ผองภัย ด้วยใจทะนง
จะแน่วแน่แก้ไข ในสิ่งผิด
จะรักชาติ จนชีวิต เป็นผุยผง
จะยอมตาย หมายให้ เกียรติดำรง
จะปิดทอง หลังองค์ พระปฏิมา
          (บทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9)

          5 ธันวาคม ปีนี้ วันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวงรัชกาลที่ 9 แตกต่างไปจากปีก่อนๆ ด้วยเพราะพระองค์เสด็จสวรรคต มีการสถาปนาพระราชโอรสขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ รัชกาลที่ 10 คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร ท่ามกลางความปีตียินดี หลังจากที่ตกอยู่ในความโศกเศร้ามาเป็นระยะเวลาหนึ่ง

 

บทเพลงของพ่อ ที่ 'เชียงราย'

 

          เรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับทั้งสองพระองค์ บอกผ่านกาลเวลาของสถานที่ต่างๆ ที่ทั้งสองพระองค์ โดยเฉพาะในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไป หนึ่งในนั้น คือ จ.เชียงราย ตั้งแต่สมัยที่ยังเต็มไปด้วยการสู้รบ คอมมิวนิสต์ สงครามแย่งดินแดน

          “พิพิธภัณฑ์ทหารจังหวัดทหารบกเชียงราย” หรือ บ้านจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นเสมือนห้องเรียนย่อมๆ ที่บอกเล่าความเป็นมา ของสงคราม การสู้รบชายแดนตอนเหนือของประเทศ และการเสด็จฯ เยือนพื้นที่สู้รบโดยไม่หวั่นเกรงภยันตรายใดๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เป็นอย่างดี

 

บทเพลงของพ่อ ที่ 'เชียงราย'

 

          พิพิธภัณฑ์ทหารแห่งนี้ เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น สไตล์สวิตเซอร์แลนด์ สร้างขึ้นในปี 2484 เพื่อใช้เป็นบ้านพักรับรองของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของไทย และผู้บัญชาการทหารสูงสุดในสมัยนั้น เมื่อครั้งเดินทางมาตรวจราชการในพื้นที่จ.เชียงรายช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) ขณะเดียวกัน ก็ใช้เป็นสถานที่ตั้งกองบัญชาการสนามกองทัพพายัพ

          ต่อมา ใช้เป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียงประจำถิ่นที่ 10 เชียงราย กรมการทหารสื่อสาร ไปจนถึงเป็นที่ตั้งของแผนกกำลังสำรอง เรียกได้ว่าเปลี่ยนเป็นที่ทำการของหน่วยงานทหารหลายหน่วย กระทั่งมีการซ่อมบำรุงครั้งที่ 2 สมัยพลตรีธันยวัตร ปัญญา ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย และดำเนินการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ทหารจังหวัดมณฑลทหารบกเชียงราย ในปี 2554 แต่ใครๆ ก็ยังติดปากว่า บ้านจอมพล ป. อยู่นั่นเอง

 

บทเพลงของพ่อ ที่ 'เชียงราย'

 

          ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ที่จัดทำ แบ่งเป็น 7 จุดสำคัญ ได้แก่ จุดที่ 1 ห้องแสดงนิทรรศการ ชีวประวัติจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม, จุดที่ 2 แสดงนิทรรศการสงครามมหาเอเชียบูรพา, จุดที่ 3 ห้องมัลติมีเดีย, จุดที่ 4 ห้องแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์จังหวัดเชียงราย, จุดที่ 5 ห้องแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์กองทหารเมืองเชียงรายและนิทรรศการอาวุธ, จุดที่ 6 ห้องสมุดประวัติศาสตร์ และจุดที่ 7 ก็คือ บริเวณภายนอกอาคารที่ตกแต่งเป็นส่วนหย่อม และจัดทำเป็นนิทรรศการอาวุธกลางแจ้งด้วย

          โดยมากใครไปถึงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ก็คงได้เที่ยวชมภายนอกอาคารกันก่อน ด้วยเด่นสะดุดตากับรูปปั้นช้างสามเศียร และอาวุธต่างๆ ที่นำมาตกแต่งสถานที่ รวมถึงภาพของอาคารไม้ที่สวยงาม ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ที่ร่มรื่น ข้างๆ กันมี “ร้านกาแฟจอมพล” ให้นั่งชิลๆ

 

บทเพลงของพ่อ ที่ 'เชียงราย'

 

          ภายในบ้านจอมพล มีทั้งห้องรับแขก ชั้นล่าง ห้องแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์การทหาร และอาวุธชนิดต่างๆ ขึ้นบันไดสู่ชั้นบนมีพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 โดดเด่นเหนือช่องบันได ซึ่งชั้นบนเป็นห้องนอน ห้องมัลติมีเดีย

          จากนิทรรศการทางทหาร จะเห็นได้ว่า เชียงราย มีความสำคัญอย่างยิ่งในการยืนหยัดต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ รวมถึงการสู้รบช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยว่า เป็นอีกหนึ่งช่องทางผ่านของทหารญี่ปุ่น รวมทั้งยังมีการสู้รบของจีนคณะชาติ (ก๊กมินตั๋ง) กับกองทัพจีนแดงและกองทัพพม่า จนกระทั่งถูกตีแตกถอยร่นเข้ามา บางส่วนไม่ยอมอพยพกลับ อาศัยลี้ภัยในแผ่นดินไทย

 

บทเพลงของพ่อ ที่ 'เชียงราย'

 

          ด้วยว่าจังหวะที่จีนคณะชาติอพยพเข้ามาเป็นจังหวะที่มีการสู้รบกับคอมมิวนิสต์ ทั้งที่เชียงราย พะเยา น่าน และเพชรบูรณ์ หากแบ่งกำลังไปรบกับจีนคณะชาติที่อพยพเข้ามาอีก ก็จะเป็นปัญหาหลายด้าน จึงใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนศัตรูเป็นมิตร ยื่นข้อเสนอให้ทหารจีนคณะชาติช่วยรบกับคอมมิวนิสต์ แลกกับการให้อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย กระทั่งปราบปรามคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ จากนั้นมีการดำเนินยุทธศาสตร์นำไปสู่การยอมวางอาวุธและหันมาร่วมกันพัฒนาชาติไทย ซึ่งนำไปสู่ โครงการปิดทองหลังองค์พระปฏิมา (การจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ 327 ดอยแม่สลอง) ปัจจุบัน ดอยแม่สลองกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของจ.เชียงรายอีกแห่งหนึ่ง ด้วยสภาพอากาศที่ดี ภูมิประเทศสวยงาม มีไร่ชา และผลไม้เมืองหนาวแทนพืชเสพติด และที่สำคัญยังคงเรื่องราวของการต่อสู้ของจีนคณะชาติบนดอยแห่งนี้

 

บทเพลงของพ่อ ที่ 'เชียงราย'

 

          ในนิทรรศการ ยังได้บันทึกถ้อยคำของ พันเอกเฉินโหลวซิว (นายเจริญ ปรีดีพจน์) อดีตเสนาธิการของอดีตทหารจีนคณะชาติในประเทศไทย ( เสธ.เฉิน มังกรดอย) ที่ปฏิบัติการร่วมกับทหารไทย ตั้งแต่ยุคที่มีกองอำนวยการพัฒนาสังคมและอาชีพผู้อพยพ ที่กล่าวไว้ว่า “ผมเป็นคนไทยถูกต้องตามกฎหมาย และภาคภูมิใจที่ได้มาอาศัยแผ่นดินไทย ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งซึ่งรู้สึกสำนึกในบุญคุณแผ่นดินที่อยู่อาศัย และมีความกตัญญูต่อแผ่นดินไทยอย่างเหนียวแน่น ภูมิใจปลาบปลื้มใจอย่างยิ่ง ที่ได้เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ในวโรโอกาสที่เสด็จฯ ทรงเยี่ยมผู้ปฏิบัติงานในยุทธการเขาค้อ เขาย่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้”

 

บทเพลงของพ่อ ที่ 'เชียงราย'

 

          ทั้งนี้ ในช่วงที่คอมมิวนิสต์ ได้แทรกซึมเข้ามาหาแนวร่วมในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึง เชียงรายนั้น ได้มีการปลุกระดมชาวเขาสำเร็จในปี 2507 มีการนำไปฝึกการรบที่เวียดนาม และส่งกลับมาปฏิบัติการในพื้นที่เชียงรายในปี 2509 และขยายวงกว้างออกไปในจังหวัดใกล้เคียง กระทั่งวันเสียงปืนแตกของคอมิวนิสต์ภาคเหนือ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2510 หลังจากนั้นมีการสู้รบกันเรื่อยมา ในช่วงที่กองทัพภายใต้การนำของพันโทวิโรจน์ ทองมิตร ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 473 นำกำลังทหารเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น ในปี 2524 จนเกิดยุทธการยึดเนิน 1188 ดอยพญาพิภักดิ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีนาถ ได้เสด็จเยี่ยมทหารและราษฎรในพื้นที่ และยังได้พระราชทานประทับรอยพระบาทในแผ่นปูนปลาสเตอร์ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เหล่าทหารหาญอีกด้วย

          รอยพระบาทของในหลวง รัชกาลที่ 9 ปัจจุบัน ประดิษฐาน ณ ศาลารอยพระบาทบนดอยโหยด ในค่ายเม็งรายมหาราช ซึ่งอยู่ไม่ไกลกับพิพิธภัณฑ์ทหาร อ.เมืองเชียงราย นี่เอง

 

บทเพลงของพ่อ ที่ 'เชียงราย'

 

          ไหนๆ มาถึงเชียงรายแล้ว ไม่วายผ่านไปดูไร่ดอกไม้ช่วงฤดูหนาว ที่ ไร่สิงห์ปาร์ก ต้องบอกว่า ตอนนี้กำลังงาม จริงๆ และน่าจะยาวไปถึงช่วงปีใหม่ ที่อากาศกำลังหนาวเย็น เนินแต่ละลูกปกคลุมไปด้วยดอกไม้หลากสีสัน โดยเฉพาะคอสมอส หรือดาวกระจายฝรั่ง ง้าม...งาม เคียงคู่ไปกับไร่ชา ที่โค้งแถวเป็นระเบียบ ใครอยากเก็บเกี่ยวบรรยากาศดีๆ ท่ามกลางธรรมชาติสวยงาม ก็สามารถนอนค้างอยู่ใน สิงห์ปาร์กได้เลย เพราะล่าสุดเขาจัดโซนที่พักให้อิงแอบกับธรรมชาติในรูปแบบ Glamping ที่มีทั้งแบบเต็นท์ และรถบ้าน ให้บริการเป็นแพ็กเกจ 2 วัน 1 คืน และ 3 วัน 2 คืน ที่รวมทั้งค่าอาหารและกิจกรรมทั้งหมดในสิงห์ปาร์ก

          อากาศยามเช้าสดชื่น ข้างแปลงดอกไม้ จิบกาแฟกรุ่นๆ นึกไปถึงสมเด็จย่า ซึ่งโปรดดอกไม้เมืองหนาวและยังทรงปลูกดอกไม้ด้วยพระองค์เองอยู่บ่อยครั้ง แม้จะยังไปไม่ถึงดอยตุง ที่มีพระตำหนักที่ประทับ หากแต่ก็เหมือนได้ใกล้ชิดพระองค์ และ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังคำที่ว่า “ธ สถิตย์ในใจตราบนิรันดร์”

    "ไม่ท้อถอย คอยสร้าง สิ่งที่ควร
ไม่เรรวน พะว้าพะวัง คิดกังขา
ไม่เคืองแค้น น้อยใจ ในโชคชะตา
ไม่เสียดาย ชีวา ถ้าสิ้นไป
นี่คือ ปณิธาน ที่หาญมุ่ง
หมายผดุง ยุติธรรม์ อันสดใส
ถึงทนทุกข์ ทรมาน นานเท่าใด
ยังมั่นใจ รักชาติ องอาจครัน"

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ