Lifestyle

รอยอดีต ‘หินช้างสี’ เลียบเขื่อนอุบลรัตน์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รอยอดีต ‘หินช้างสี’ เลียบเขื่อนอุบลรัตน์ : คอลัมน์ ชวนเที่ยว เรื่อง / ภาพ : นพพร วิจิตร์วงษ์

 
 
         เรื่องราวของหิน ดิน กรวดทราย ถ้าได้เดินทางไปกับนักธรณีวิทยา เป็นอันว่า ไม่ธรรมดา เพราะเผลอๆ สิ่งที่เรามองเป็นก้อนหินโผล่ขึ้นมาผิวดินไม่มาก ก็อาจจกลายเป็นซากหอยโบราณไปได้ เหมือนเมื่อตอนที่เดินเข้าไปแถบเทือกเขาภูเวียง จ.ขอนแก่น สู่หลุมขุดพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ มาคราวนี้ลองไปดูหินก้อนขนาดยักษ์กันบ้าง ดูซิจะธรรมดาอีกมั้ย
  
         หินช้างสี ไม่ใช่หินแห่งความเชื่อ ไม่ใช่หินที่ช้างมาระบายสี หากแต่เป็นหินที่เกิดจากประติมากรรมธรรมชาติ จนเกิดเป็นจินตนาการต่างๆ บริเวณเทือกเขาภูพานคำ ตามเรื่องเล่าเป็นมาว่า สมัยก่อนป่าแถบนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีช้างป่าและสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยพบโป่งดินที่มีรอยแทะกินของสัตว์ และที่บริเวณโขดหินที่มีรอยแทะกินของสัตว์นั้น ยังมีร่องรอยดินโคลนและขนช้าง ที่เกิดจากการเสียดสีผิวหนังกับก้อนหินของช้างป่า หินก้อนนั้นจึงได้ชื่อว่า หินช้างสี มาถึงปัจจุบัน

 

รอยอดีต ‘หินช้างสี’ เลียบเขื่อนอุบลรัตน์

 

         หินช้างสี ถือเป็นอันซีนของ อุทยานแห่งชาติน้ำพอง ตั้งอยู่บริเวณริมเขื่อนอุบลรัตน์ ต.บ้านผือ อ.หนองเรือ เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ใกล้กับตัวเมืองขอนแก่นมากที่สุด โดยหน่วยที่ดูแลกลุ่มหินโดยตรง เป็นหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ (ชั่วคราว) ที่นพ.2 (หินช้างสี) ในเขต ต.โคกงาม อ.บ้านฝาง ซึ่งก็ยังอยู่ไม่ไกลจากเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ดี

         อุทยานแห่งชาติน้ำพอง เป็นชื่อเรียกตามต้นกำเนิดลำน้ำพองที่ไหลมารวมกับ อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ (เดิมชื่ออ่างเก็บน้ำน้ำพอง) เป็นอุทยานแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของจ.ขอนแก่น เมื่อก่อนเรียกกันว่าน้ำพอง-ภูเม็ง เพราะมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเทือกเขาภูเม็ง

 

รอยอดีต ‘หินช้างสี’ เลียบเขื่อนอุบลรัตน์

 

         อุทยานแห่งชาติน้ำพองใหญ่ไม่ใช่เล่น เพราะครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโสกแต้ ป่าภูเม็ง ป่าโคกหลวง ป่าโคกหลวงแปลงที่สาม ป่าภูผาดำ ป่าภูผาแดง ในเขตอ.อุบลรัตน์ อ.บ้านฝาง อ.หนองเรือ อ.มัญจาคีรี และกิ่งอ.โคกโพธิ์ไชย จ.ขอนแก่น และยังครอบคลุมไปถึงพื้นที่บางส่วนของอ.บ้านแท่น อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ มีเนื้อที่ร่วมๆ 123,125 ไร่ เลยต้องแบ่งหน่วยย่อยออกไปดูแลพื้นที่ นอกจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำพอง หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำพอง ที่นพ.1 (หนองสองห้อง) แล้ว ก็มีหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ (ชั่วคราว) ที่นพ.2 (หินช้างสี) และหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ (ชั่วคราว) ที่นพ.3 (น้ำตกห้วยเข) นั่นเอง

         ถิ่นภูเขาแถบนี้ เป็นภูเขาหินทราย หินชุดเขาวิหาร หินชุดภูกระดึง และหินชุดเสาขัว และสภาพทางปฐพีเป็นดินร่วนปนทราย ได้แก่ ดินชุดโคราช ดินชุดสตึก ดินชุดบรบือ และดินชุดน้ำพอง มีเทือกเขาสำคัญๆ ได้แก่ เทือกเขาภูพานคำ ภูเม็ง และภูผาดำภูผาแดง แต่เป็นภูเขาเตี้ยๆ ยอดสูงสุดก็ไม่เกิน 600 เมตร ขนานไปกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์

 

รอยอดีต ‘หินช้างสี’ เลียบเขื่อนอุบลรัตน์

 

         การเดินทางไปชมกลุ่มหินช้างสี บอกก่อนเลยว่า มีจุดให้วอกแวกหลายจุด อย่างเช่นถ้าใช้เส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ ก็อาจจะแวะเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน แล้วก็เข้าไปภูเวียง ชมพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง แล้วค่อนไปเลียบๆ เคียงๆ ที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ก่อนจะขึ้นไปที่อุทยานแห่งชาติน้ำพอง หน่วย (ชั่วคราว) ที่นพ.2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวเขื่อนอุบลรัตน์ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานราวๆ 20 กม.

 

รอยอดีต ‘หินช้างสี’ เลียบเขื่อนอุบลรัตน์

 

         เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นถัดจากเขื่อนภูมิพล สร้างแล้วเสร็จในปี 2508 ตั้งอยู่ที่ต.เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ ปิดกั้นแม่น้ำพองสาขาย่อยของแม่น้ำชี ตัวเขื่อนเป็นหินถมแกนดินเหนียว ยาว 885 เมตร สูง 32 เมตร สันเขื่อนกว้าง 6 เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ 2,263 ล้านลูกบาศก์เมตร ผลิตไฟฟ้าได้ 55 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง ด้วยลักษณะของตัวเขื่อนที่เหมือนแม่น้ำไหลผ่านช่องเขา แรกเริ่มนอกจากชื่อ เขื่อนน้ำพองแล้ว ยังมีชื่อเรียกกันในหมู่ชาวบ้านว่า เขื่อนพองหนีบ อีกด้วย

 

รอยอดีต ‘หินช้างสี’ เลียบเขื่อนอุบลรัตน์

 

         ยุคสมัยนี้ อาจจะมีการใช้โดรนบินถ่ายรูปมุมสูง แต่ไม่มีอุปกรณ์ชิ้นนี้ เราก็ชมเขื่อนอุบลรัตน์ในมุมสูงได้ จากบริเวณหน้าผาของกลุ่มหินช้างสีนั่นเอง ที่ทำการหน่วยย่อย (ชั่วคราว) ที่นพ.2 เงียบสงบ รอเวลาอากาศดีๆ ที่จะมีนักท่องเที่ยวมาพักผ่อนหย่อนใจ รับลมหนาว เลยจากตัวที่ทำการไปไม่ไกล ก็ถึงจุดเริ่มต้นเดินเท้า เข้าไปชมหมู่หิน ที่ช้างเคยมาใช้บริการขัดสีแก้คันผิวหนังมาก่อน (ตามที่เขาเล่ามา)

 

รอยอดีต ‘หินช้างสี’ เลียบเขื่อนอุบลรัตน์

 

         หินช้างสี ไม่ได้มีลูกเดียวโดดๆ หากแต่เป็นกลุ่มหิน แถมแต่ละก้อนมีขนาดมหึมา มองไปมองมา นึกไปถึงกลุ่มหินที่มอหินขาว จ.ชัยภูมิ หากแต่ความตื่นตาต่างกัน และความเป็นรูปร่างชัดเจนของหินแต่ละก้อนก็ค่อนข้างมาก ออกไปทางสัตว์โลกน่ารักซะมากกว่า เพราะนอกจากหินช้างสี ทำให้จินตนาการต่อไปได้ว่า ช้างป่าสมัยก่อนต้องตัวสูงใหญ่มากๆ เพราะขนาดก้อนหินที่ได้ชื่อว่าหินช้างสี มีรอยสึกของหินสูงทีเดียว แวดล้อมใกล้เคียง ยังเป็นกลุ่มหินขนาดใหญ่ รวมถึงหินหอยนางรม ระหว่างหมู่หิน มีทางเดินเชื่อมต่อลึกเข้าไปด้านใน จนถึงริมหน้าผา ที่เป็นจุดชมวิว เหนือเขื่อนอุบลรัตน์ ไม่ไกลกันยังมี หินปลาวาฬ  หินงวงช้าง ที่ดูไปดูมา ฉันว่าเหมือนช้างทั้งตัวเลยเชียวล่ะ แล้วยังมี หินรูปแมวน้ำ  เดินต่อเข้าไปด้านใน เป็นหินหัวกะโหลก มีบันไดให้ขึ้นไปด้านบนชมวิวมุมสูง อากาศดีๆ ก็มองไปได้ไกลถึงตัวเมืองขอนแก่นที่อยู่ลิบๆ และอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ แต่คนที่กลัวความสูง หรือแข้งขาไม่สู้ดี ไม่ต้องขึ้นก็ได้นะคะ ส่วนที่เรียกว่าหัวกะโหลกคงเพราะหินตะปุ่มตะป่ำ ที่เกิดจากการกัดเซาะของธรรมชาติ คล้ายๆ ซันแค็ก จนดูเป็นเหมือนมันสมองนั่นเอง

 

รอยอดีต ‘หินช้างสี’ เลียบเขื่อนอุบลรัตน์

 

         บริเวณฐานของหินกะโหลกกลุ่มนี้ ซอกหนึ่งเห็นร่องรอยของ หินกุมภลักษณ์ คือ ร่องรอยเว้า แหล่งเรียบๆ เป็นหลุมๆ ข้างผนัง ซึ่งหลุมกุมภลักษณ์เกิดจากการกัดเซาะของน้ำวนนั่นเอง ทำให้สันนิษฐานไปได้อีกว่า ที่นี่น่าจะเคยเป็นแหล่งน้ำมาก่อนเมื่อสมัยโบราณนานมา เห็นมั้ย มากับนักธรณีวิทยาก็ดีอย่างนี้เอง

 

รอยอดีต ‘หินช้างสี’ เลียบเขื่อนอุบลรัตน์

         ยังไม่จบการสำรวจของเรา เพราะข่าวว่า มีร่องรอยของภาพสลักสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่ที่หินก้อนหนึ่งด้วย พอเดินตามๆ กันไปดู ก็พบกับร่องรอยที่ว่านี่จริงๆ ด้วย ซึ่งผู้ที่ศึกษาภาพประวัติศาสตร์บอกว่า นี่เป็นร่องรอยที่เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องมือ หรือหิน ขูดกับผนัง จนเกิดเป็นร่อง เป็นรูปร่างขึ้น คล้ายๆ กับร่องรอยบางส่วน ที่ผาแต้ม เพียงแต่ยังไม่ฟันธงว่า มีอายุอานามสักกี่พันปี และอยู่ในช่วงไหนเท่านั้นเอง

 

รอยอดีต ‘หินช้างสี’ เลียบเขื่อนอุบลรัตน์

 

         สโตนเฮนจ์ เป็นกลุ่มหินไม่กี่ก้อนที่มีประวัติเรื่องราวในอดีตมารองรับ ยังมีชื่อเสียงไปไกล ถ้ากลุ่มหินช้างสีได้รับการสอบประวัติ ไม่แน่ว่า อาจจะเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าของเทือกเขาภูพานคำ และอุทยานแห่งชาติน้ำพอง ที่อยู่เคียงเขื่อนอุบลรัตน์ก็เป็นได้

 

รอยอดีต ‘หินช้างสี’ เลียบเขื่อนอุบลรัตน์

 

         ติดต่อ อุทยานแห่งชาติน้ำพอง โทร. 09-6739-7920
         ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยาน ชาวไทย : ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท / ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท
         การเดินทาง : ใช้เส้นทางขอนแก่น-บ้านฝาง ทางหลวงหมายเลข 12 ระยะทาง 27 กม. ต่อด้วยถนนหมายเลข 4064 จะมีป้ายบอกทางไปหินช้างสี ระยะทางอีก 17 กม. หรือใช้เส้นทาง ขอนแก่น-อ.อุบลรัตน์ ทางหลวงหมายเลข 2 (ขอนแก่น-อุดรธานี) ถึงตัวอำเภออุบลรัตน์ เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางหนองแสง-ท่าเรือ ลัดเลาะเขื่อนอุบลรัตน์อีกราว 20 กม. จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำพอง

 

รอยอดีต ‘หินช้างสี’ เลียบเขื่อนอุบลรัตน์

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ