Lifestyle

ไปสักการะพระเจ้าเหา บนเขาฉางหยาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไปสักการะพระเจ้าเหา บนเขาฉางหยาง : คอลัมน์ ชวนเที่ยว เรื่อง - ภาพ : ยุวดี วัชรางกูร


           คล้ายโครงหน้าจะมีโหงวเฮ้งเหมาะกับเรื่องโบราณ เวลานักวิชาการแวดวงประวัติศาสตร์-โบราณคดี จะไปตามรอยวิถีมนุษย์สมัยบรรพกาลเมื่อใดก็มักชักชวนเราไปด้วย

          นี่เป็นเหตุผลง่ายๆ ที่ตอบรับ อาจารย์อรไท ผลดี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าเผ่าไท เมื่อท่านชวนร่วมเดินทางย้อนเวลาไปหา ‘พระเจ้าเหา’ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับนักวิชาการด้านไทศึกษา เช่น อาจารย์จุลศักดิ์ สุริยะไชย เจ้าของพิพิธภัณฑ์อูบคำ จ.เชียงราย และ อาจารย์ฟาน จูน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไทย-จีน
รวมอายุของคณะเดินทางสิบกว่าชีวิต ก็นับว่าคู่ควรแก่การเลาะตะเข็บกาลเวลาไปถึง 5,000 ปี ก่อน

 

ไปสักการะพระเจ้าเหา บนเขาฉางหยาง


  
          “โอ๊ย...เรื่องมันตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหา”

          ใครต่อใครก็ต้องคุ้นเคยวลีกึ่งอำกึ่งล้อเลียน ลักษณะนี้

          แต่เอาเถิด ถ้าเรื่องสมัยนั้นจะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนปัจจุบันได้ แถมยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมไทย-จีน เกี่ยวกับบรรพชนเผ่าไท(ไต) และเครือญาติของเผ่าพันธุ์ผู้อพยพ ในนาม ไปว่เยวี่ย หรือ ‘เวียดร้อยเผ่า’ ด้วยลักษณะคำถามปลายเปิด ให้มีการค้นคว้ากันต่อไป
 
          เป่าจี...ถิ่นกำเนิดพระเจ้าเหา
          จากเมืองซีอาน มุ่งหน้าทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ราว 200 กิโลเมตร ด้วยทางหลวงด่วนพิเศษสาย G30 จะถึงเมืองเป่าจี มณฑลส่านซี

          บนยอดเขาฉางหยาง เมืองเป่าจี นี้เองที่เป็นถิ่นกำเนิดของตำนานวีรบุรุษชาวจีน เมื่อราว 4,766-4,733 ปีมาแล้ว ในนาม ‘เหยียนตี้’ หรือที่คนไทยรู้จักในนาม ‘พระเจ้าเหา’

 

ไปสักการะพระเจ้าเหา บนเขาฉางหยาง

 

          พระเจ้าเหาเป็นผู้นำกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปตามลำน้ำเว่ย แม่น้ำสาขาของแม่น้ำฮวงเหอ

          อาจารย์ฟาน เล่าว่า กลุ่มพระเจ้าเหาอพยพจากตะวันตกเฉียงเหนือ ไปทางตะวันออก พบหลักฐานการอยู่อาศัยของกลุ่มคนสมัยนี้ที่เมืองเหอหนาน แล้วย้ายไปยังเมืองซานตง จากนั้นปักรากลงฐานที่ดินแดนตอนใต้ ก่อตั้งชุมชนขนาดใหญ่ระดับแคว้น และเรียกตัวเองว่า ‘เยวี่ย’ หรือ ‘เวียด’

          “ตามตำนานเล่าว่า มารดาของพระเจ้าเหาเดินผ่านภูเขาฉางหยางขณะตั้งท้องแก่ แล้วคลอดลูกชาย เมื่อวันที่ 7 เดือน 7 ทุกวันนี้ทางการจีนจะจัดพิธีสักการะพระเจ้าเหา บริเวณลานกว้างหน้าศาล ทุกวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี” อาจารย์ฟาน กล่าว

          ศาลที่ว่าตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาฉางหยาง สิ่งปลูกสร้างหลัก ได้แก่ ศาลเมี่ยว (วัดเสินหนง) และ ศาลฉือ (ศาลเหยียนตี้) ภายในจัดแสดงนิทรรศการประวัติเหยียนตี้ มีอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ทั้งภายในศาล และลานด้านหน้าทางขึ้นสุสาน รูปปั้นเหยียนตี้ไว้ผมยาว นุ่งผ้าเตี่ยวสั้น ไม่สวมเสื้อ มือซ้ายถือรวงข้าวเหลือง มือขวาถือเคียว

 

ไปสักการะพระเจ้าเหา บนเขาฉางหยาง


 
          ปฐมกษัตริย์ของบรรพชนไท
          อาจารย์อรไท ปักใจเชื่อตามทฤษฎีเก่าว่า เมื่อประมาณ 5,000 ปีที่แล้ว ปฐมกษัตริย์ของบรรพชนไทคือ ‘พ่อขุนไทหาว’ ปกครองอยู่บริเวณแม่น้ำเว่ยเหอ พระองค์เป็นต้นตระกูลของคนไท ครองราชย์ราว 2,410 ปีก่อน พ.ศ. ตรงกับยุคห้ากษัตริย์ คือราชวงศ์เสินหนง ราชวงศ์สุดท้ายในสมัยก่อนประวัติศาสตร์

          เนื้อหาจากนิทรรศการภายในศาลเหยียนตี้ ระบุว่าเหยียนตี้เป็นผู้นำชนเผ่าเจียงหรือเชียง ได้การยกย่องให้เป็น ‘เสินหนง’ หรือเทพเจ้าแห่งการกสิกรรม คิดประดิษฐ์พลั่ว และสอนราษฎรเพาะปลูก คิดค้นการทอผ้าด้วยใยปอ แล้วนำมาตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้ยังได้รับการยกย่องในฐานะบิดาแห่งการค้าขาย คิดค้นระบบตลาดกลางวัน

 

ไปสักการะพระเจ้าเหา บนเขาฉางหยาง

 

          อีกสถานะหนึ่งคือ บิดาแห่งสมุนไพรจีน ผู้ค้นคว้าสมุนไพรกว่า 100 ชนิด

          ในสมัยพระเจ้าเหายังมีการประดิษฐ์เครื่องดนตรีทำจากไม้ ลักษณะคล้ายพิณ ทำอาวุธสำคัญคือธนู ขวานเหล็ก ผลิตเครื่องปั้นดินเผา และมีแบบแผนของการสร้างที่อยู่อาศัย
 
          เดินสวดมนต์รอบสุสาน
          หลังจากนมัสการอนุสาวรีย์พระเจ้าเหาแล้ว คณะนักวิชาการจากเมืองไทยพากันเดินขึ้นบันได 285 ขั้น สู่ยอดเขาอันเป็นที่ตั้งสุสานพระเจ้าเหา ตามตำนานเล่ากันว่าสุสานแห่งนี้มีงูอายุ 5,000 ปี คอยเฝ้าอยู่

          สองข้างทางขึ้นเรียงรายด้วยรูปปั้นฮ่องเต้ราชวงศ์ต่างๆ เริ่มจากขั้นแรกๆ เป็นฮ่องเต้ราชวงศ์ฮั่น แล้วย้อนลำดับเก่าแก่ไปถึงยอดเขา คือพระเจ้าเหา นั่นเอง
อาจารย์ฟาน อ้างหนังสือเรื่อง ‘ลำดับรุ่นพระเจ้าแผ่นดิน’ ระบุว่าพระเจ้าเหยียนตี้ ปกครองนาน 34 ปี เมื่อสิ้นพระชนม์ พระศพถูกฝังที่เมืองเป่าจี มณฑลส่านซี เมืองซวีฟู่ มณฑลซานตุง และเมืองฉางซา มณฑลฉางซา จากนั้นสืบทอดอำนาจต่อมาอีก 8 พระองค์ รวม 254 ปี

 

ไปสักการะพระเจ้าเหา บนเขาฉางหยาง

 

          อย่างไรก็ตาม การปรากฏสุสานของพระองค์ในเมืองอื่นๆ ด้วย ไม่ได้หมายความว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ที่เมืองนั้น แต่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพัฒนาการทางวัฒนธรรมระหว่างลุ่มน้ำฮวงเหอกับลุ่มน้ำแยงซี ที่ผู้คนหลากชนเผ่าเดินทางติดต่อสัมพันธ์กันมาช้านาน

          “คำว่าเสินหนงเป็นคำเรียกหัวหน้าชนเผ่าผู้ประเสริฐของประชาชาติไท-จีนในระยะแรก” อาจารย์ฟานเล่า ก่อนจะนำคณะเดินวนขวาหรือทักษิณาวรรต พร้อมกับสวดมนต์รอบสุสาน 3 รอบ

          หลังการเดินขึ้นเขาฉางหยางเพื่อสักการะสุสานพระเจ้าเหาด้วยจิตศรัทธาแรงกล้า อาจารย์อรไท เผยความรู้สึก ดังนี้

          “การจัดวัฒนธรรมสัญจรเยือนถิ่นกำเนิดชนชาติไทครั้งนี้ได้ค้นพบพระเจ้าเหา ปฐมกษัตริย์ของชนชาติไท ทำให้ภาคภูมิใจว่าบรรพชนไทได้ตั้งอาณาจักรอย่างเป็นปึกแผ่น และมีวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุด โดยเฉพาะวัฒนธรรมการเพาะปลูกข้าว และการหุงข้าวด้วยหม้อสามขา”

          ตะวันเมืองเป่าจีอ่อนแสงไปมากแล้ว ตอนที่คณะเดินทางลงจากเขาฉางหยาง

          หลายคนยังกระปรี้กระเปร่า ขณะบางคนเร่งหายอดข้าวเจ้ามาเติมพลัง
  
          ตำนานวีรบุรุษแห่งเขาฉางหยาง ไม่ว่าจะในนามเหยียนตี้หรือพระเจ้าเหา ยังมีประเด็นหลากหลาย รอให้ใครหลายคนเดินทางไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง
 
 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ