Lifestyle

นกเงือกกรามช้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นกเงือกกรามช้าง : คอลัมน์ นกป่าสัปดาห์ละตัว 

 
 

          ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้วสำหรับการนับนกอพยพที่เขาดินสอ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ในฤดูกาลนี้ ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลากลางวันตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน จนถึง 15 พฤศจิกายน เช่นเดียวกับปีที่แล้ว นอกจากเหยี่ยวนานาชนิดอันเป็นจุดขายของที่นี่ ข้อมูลนกชนิดอื่นที่พบก็น่าสนใจไม่แพ้กัน มีนกหลายชนิดทีเดียวที่ทราบกันว่ามีสถานภาพเป็น“นกประจำถิ่น” แต่ก็ดูจะมีการอพยพย้ายถิ่นในแบบที่เรายังไม่เข้าใจถ่องแท้นัก ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก

 

นกเงือกกรามช้าง

 

          อันที่จริงนกที่ในคู่มือระบุว่าเป็นนกประจำถิ่นนั้น บางส่วนมีการย้ายถิ่นตามแหล่งอาหาร หรือที่เรียกว่า nomadic พบมากในนกที่กินพืชเป็นอาหาร เพราะพืชส่วนใหญ่ล้วนออกดอกออกผลตามฤดูกาล นกเหล่านี้จึงอาจไม่ได้“อพยพหนีหนาว”จากเหนือลงใต้เสมอไป นกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbill) ที่พบบินผ่านเขาดินสอถึงสามครั้งในฤดูกาลนี้ก็น่าจะเป็นการอพยพตามพืชอาหารในระยะทางที่ไกลพอสมควร เพราะนกเงือกชนิดนี้ทำรังวางไข่ในโพรงรังที่มีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ซึ่งก็น่าจะอยู่ในผืนป่าที่ใหญ่และอุดมสมบูรณ์ห่างไกลจากเขาดินสอ
 

 

นกเงือกกรามช้าง


          อันที่จริงการบินในระยะทางไกลของนกเงือกกรามช้างนั้นเป็นที่สังเกตมานานแล้ว มีรายงานการพบมันบินสูงผ่านเหนือทะเลหรือแม้แต่เมืองใหญ่ บ่อยครั้งเสียงกระพือปีกอันดังสนั่นนี่เองที่ทำให้รู้ว่ามันกำลังบินผ่าน แม้ว่าจะบินสูงมากก็สามารถได้ยิน และการที่มีรายงานบนเกาะห่างไกลชายฝั่งอย่างหมู่เกาะสุรินทร์นั้นก็บ่งชี้ว่ามันบินหาอาหารเป็นระยะทางไกลมาก ต่างจากนกเงือกอื่น ๆ ที่แทบไม่พบห่างไกลจากชายป่าเลย นอกจากนี้เรายังทราบกันแล้วว่าญาติสนิทของมันอย่าง นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill) นั้นอพยพจากแหล่งทำรังในป่าตะวันตก ไปรวมฝูงหากินอยู่ในป่าชายแดนไทย-มาเลเซียเป็นประจำทุกปี นับเป็นระยะทางไกลทีเดียวสำหรับนกกลุ่มที่ถูกเข้าใจว่าเป็นนกประจำถิ่นมาตลอด
 
          ตามปกติมักบินเป็นคู่หรือฝูงเล็กๆ แต่บางแห่งพบรวมฝูงใหญ่นับร้อยตัวได้ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ เพศผู้มีหัวสีอ่อน ถุงใต้คอสีเหลือง เพศเมียมีหัวสีดำเช่นเดียวกับลำตัว และมีถุงใต้คอสีฟ้า ส่วนนกเพศผู้วัยเด็กนั้นมีหัวสีดำเช่นเดียวกับเพศเมีย แต่มีถุงใต้คอสีเหลือง มันเป็นนกเงือกที่มีการกระจายพันธุ์กว้างที่สุดชนิดหนึ่ง พบได้ในเกือบทุกภาคของไทย อย่างไรก็ตาม ประชากรก็ลดลงจนสูญพันธุ์ไปจากหลายท้องที่ สาเหตุหลักมาจากการตัดไม้ทำลายป่าและการเลี้ยงนกป่าผิดกฎหมาย ทุกวันนี้ยังคงมีลูกนกเงือกถูกล้วงจากโพรงรังมาขายเป็นจำนวนมาก

นกเงือกกรามช้าง, นกกู๋กี๋
ชื่ออังกฤษ  Wreathed Hornbill, Bar-pouched Wreathed Hornbill
ชื่อวิทยาศาสตร์  Rhyticeros undulatus (Shaw, 1811)
วงศ์ (Family)  Bucerotidae (วงศ์นกเงือก)
อันดับ (Order)  Bucerotiformes (อันดับนกเงือกและนกกะรางหัวขวาน)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ