Lifestyle

ล่อง “น้ำตก” เหนือเขื่อนขุนด่านฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ล่อง “น้ำตก” เหนือเขื่อนขุนด่านฯ : คอลัมน์ ชวนเที่ยว เรื่อง/ภาพ : นพพร วิจิตร์วงษ์


 
          ในห้วงเวลาของความโศกเศร้าของคนไทย มาพร้อมกับการตามรอยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ตลอดจนโครงการของพระองค์ นอกจากจะมีขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่แล้ว ยังกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ไปในคราวเดียวกันอีกด้วย เหมือนเช่นที่นี่ .... จ.นครนายก

 

ล่อง “น้ำตก” เหนือเขื่อนขุนด่านฯ

 

          น้ำพระทัยในหลวงรัชกาลที่ 9 นำความปลาบปลื้มมาสู่ชาวจังหวัดนครนายก ผ่านทางเขื่อนขุนด่านปราการชล โดยมีพระราชดำริ 4 ธันวาคม 2536 ให้กรมชลประทานสร้างเขื่อนคลอท่าด่าน ที่บ้านท่าด่าน ต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นครนายก เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากที่เกิดกับประชาชนชาวนครนายก และจังหวัดใกล้เคียง

          เขื่อนขุนด่านปราการชล ถือเป็นเขื่อนใหญ่สุดของเขาใหญ่ฝั่งนครนายก เป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดที่มีความยาวที่สุดในโลก รวมเขื่อนหลักและเขื่อนรองยาว 2,593 เมตร ความสูงของเขื่อน (สูงสุด) 93 เมตร รับน้ำที่ไหลจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผ่านน้ำตกเหวนรกลงสู่อ่างเก็บน้ำมีความจุ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างเสร็จ และเริ่มกักเก็บน้ำในปี 2548 และได้รับพระราชทานชื่อว่า เขื่อนขุนด่านปราการชล ซึ่งมาจากชื่อของ “ขุนหาญพิทักษ์ไพรวัน” หรือ “ขุนด่าน” วีรชนของนครนายก ผู้ปกป้องชาวไทยจากการรุกรานของกองทัพเขมร สมัยกรุงศรีอยุธยา

 

ล่อง “น้ำตก” เหนือเขื่อนขุนด่านฯ

 

          การเดินทางไปเขื่อนขุนด่านฯ ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปน้ำตกนางรอง แต่จะมีทางแยกซ้ายมือไปเขื่อน ก่อนถึงน้ำตกนางรอง 2 กม. เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกหน่อย ถึงวงเวียนเล็กๆ มีแยกซ้ายมือขึ้นชมสันเขื่อน ลานจอดรถอยู่ก่อนถึงตัวเขื่อน มีการจัดการเป็นที่ทางมากขึ้น ไม่ให้ไปจอดใกล้สันเขื่อนเหมือนแต่ก่อน ถึงกระนั้น คนไปเที่ยวสันเขื่อนก็เยอะกว่าแต่ก่อนมาก จนบางครั้งถึงขั้นรถติดตั้งแต่โค้งเขา ก่อนถึงลานจอดรถเลยทีเดียว โดยเฉพาะช่วงวันหยุด

 

ล่อง “น้ำตก” เหนือเขื่อนขุนด่านฯ

 

          นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเดินชมสันเขื่อน มองเห็นวิวไปได้ไกล ฝั่งหนึ่งเป็นเมืองนครนายก อีกฝั่งเป็นเวิ้งน้ำกับขุนเขาใหญ่ ที่สลับซับซ้อน เมื่อก่อนเคยไปยืนมองดู พร้อมกับคิดไปว่า ในซอกหลืบของทิวเขาเหนือเวิ้งน้ำกว้างใหญ่นั่น จะมีอะไรบ้าง วันนี้ รู้แล้วว่า มีน้ำตกสวยๆ อยู่ 2-3 ตัวให้เข้าไปเล่นน้ำได้ คือ น้ำตกผางามงอน, น้ำตกคลองคราม และน้ำตกช่องลม เลยพาคุณผู้อ่านล่องเรือไปดูพร้อมๆ กันเลย มีบริการเรือหางยาว จอดเรียงเป็นแถวเป็นแนวอยู่ด้านใน จุดตั้งโต๊ะติดต่อเช่าเรือ จัดไว้มุมหนึ่งติดกับลานจอดรถ มีการกำหนดค่าบริการชัดเจน

 

ล่อง “น้ำตก” เหนือเขื่อนขุนด่านฯ

 

          น้องยี่ หนุ่มนครนายก คนขับเรือของเรา เล่าให้ฟังว่า เหนือเขื่อนเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ล่องเรือไปชมน้ำตกกันมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่สร้างเขื่อนได้ไม่นาน แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก จากเริ่มแรกมีเรือ 1-2 ลำ มาถึงปัจจุบันมีจำนวนเรือที่ให้บริการนักท่องเที่ยวเหนือเขื่อนขุนด่าน 33 ลำ (เข้าไปแล้ว)

 

ล่อง “น้ำตก” เหนือเขื่อนขุนด่านฯ

 

          “ ลุงยอม ปัจจุบันเสียชีวิตไปเมื่อ 4-5 ปีก่อน (อายุราว 70 ปีกว่า) แกพาเรือที่ใช้ถังน้ำมันผ่าครึ่งแล้วผูกติดกัน ล่องเข้าไปหาปลาเหนือเขื่อน แล้วก็เลยไปเจอน้ำตก 3 แห่งด้วยกัน ก็เลยมาคุยๆ กันว่า น่าจะพาเที่ยว แรกๆ ก็มีเรือแค่ลำ สองลำ ผมเองก็มาเริ่มได้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ชื่อน้ำตกนี่พวกเราก็ช่วยๆ กันตั้งเอง”

          ยี่ บอกว่า จังหวะดีๆ โดยเฉพาะช่วงวันหยุด รับนักท่องเที่ยวได้มากสุดวันละ 3 เที่ยว แต่ก็เฉพาะแค่หน้าที่มีน้ำตก คือ ช่วงปลายฝน ไปจนถึงราวปลายเดือนมกราคม เพราะเลยไปกว่านั้นน้ำตกก็จะแห้ง

 

ล่อง “น้ำตก” เหนือเขื่อนขุนด่านฯ

 

          จากจุดลงเรือสันเขื่อน ใช้เวลาล่องไปถึงน้ำตกผางามงอน ซึ่งเป็นตัวไกลสุด ราวๆ 7 กม. ใช้เวลาประมาณ 45 นาที เรียกว่า เพลินไปกับเงาไม้ในสายน้ำและเกาะแก่งกันยาวๆ ไป โชคดีช่วงนี้น้ำในเขื่อนเยอะ ซึ่งยี่ยอกว่า ต้องล่องเรือมาฝั่งขวาก่อน ก็เข้ามาน้ำตกตัวในก่อน แล้วค่อยเลาะออกฝั่งซ้ายก็จะแวะเที่ยวน้ำตกอีก 2 ตัว น้ำในเขื่อนปีนี้เก็บได้เยอะกว่าปีก่อนๆ ดูแล้วอีกราวเมตรเศษๆ ก็จะถึงขีดสุดของบานประตูระบายน้ำแล้ว พอน้ำเยอะแบบนี้ การเข้าไปเที่ยวน้ำตก จึงไม่ต้องเดินไกลมาก 
  

 

ล่อง “น้ำตก” เหนือเขื่อนขุนด่านฯ


          “น้ำตกเหวนรกจะต้องล่องเรือลึกเข้าไปอีกประมาณ 4 กม. แล้วต้องเดินเท้าอีกราวๆ 2 กม. เพราะน้ำไปไม่ถึง เรือเข้าไปไม่ได้ ส่วนน้ำตกต้นน้ำเรือเข้าไปไม่ได้ เพราะมีท่อนไม้ใหญ่เกะกะขวางทาง”  ยี่ไขข้อข้องใจเมื่อเราถามถึงชั้นล่างของเหวนรก

          น้ำตกผางามงอน ที่อยู่สูงหน่อย จากเดิมที่อาจจะใช้เวลาเดินพอสมควร คราวนี้เลยเดินแค่ราวๆ 40 เมตรก็ถึงแล้ว น้ำตกตัวนี้ มีเป็นชั้นๆ เท่าที่เห็น ก็ 2-3 วัน โดยชั้นบนสุดทิ้งดิ่งเป็นเส้นตรงลงมาจากเขา ก่อนจะซอกซอนไปตามก้อนหิน ลงมาทิ้งตัวเล็กๆ ชั้นล่าง ใครไปเที่ยวผางามงอน ค่อยๆ ดู ค่อยๆ มอง อาจจะได้เห็นดอกลิ้นมังกรสีส้มโอลด์โรส อยู่ข้างก้อนหินใหญ่ด้วยนะ

          ออกจากผางามงอน เลาะกลับมาตามฝั่งซ้าย มีแยกของเกาะ เข้าไปอีกพอสมควร ถึงได้เห็น น้ำตกคลองคราม คราวนี้ไม่ต้องเหนื่อยเดินเลย เพราะน้ำตกมาอยู่ตรงหน้าเรานี่เอง ด้วยเพราะน้ำในเขื่อนสูง เรือจอดเทียบแนวก้อนหินหน้าน้ำตก แค่ลงเรือ ก็เล่นน้ำได้แล้ว เหมือนเป็นแอ่งหน้าน้ำตก แต่ค่อนข้างลึก เพราะตัวน้ำตกอยู่ติดน้ำเขื่อนเลยทีเดียว พอๆ กับ น้ำตกช่องลม ที่อยู่ถัดขึ้นมาทางเขื่อนอีกร่องเขา น้ำตกตัวนี้ค่อนข้างแรง และไม่อยู่ในทะเลลงเล่นน้ำได้ เลยได้แต่ปีนไปถ่ายรูปเล่นก็พอ และที่ชอบใจน้ำตกตัวนี้ก็เพราะร่องน้ำที่เข้าไปหน้าน้ำตก เป็นเวิ้งน้ำที่ดูสวยสงบ ขนาดว่า นอนอ่านหนังสือในเรือจอดไว้เฉยๆ ก็ยังได้

          แค่แป๊บๆ ใช้เวลาหมดไป 3 ชั่วโมงอย่างรวดเร็ว แบบไม่รู้ตัว เพลินอยู่เหนือเขื่อนที่นอกจากระบายทุกข์คนนครนายกแล้ว ยังช่วยให้ผู้มาเยือนเพลิดเพลินใจไปอีกด้วย

          ติดต่อล่องเรือ ที่จุดบริการตรงลบานจอดรถใกล้สันเขื่อน สอบถาม โทร. 08-9493-1200 ค่าบริการ 1-5 คน ราคา 1,000 บาท, 6-10 คน คิดคนละ 200 บาท
          ระยะทางล่องเรือไป-กลับ 18 กิโลเมตร
 
 
          เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ @ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ
          “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง”
          “มีคนมาดูงาน บอกผมว่า อาจารย์เขียนผิด ที่ถูกต้องเป็น ข้าวปลาของมายา เงินทองสิของจริง ผมเลยบอกให้ดูเหตุการณ์อุทกภัยปีที่แล้วสิ ( พ.ศ.2554) มีเงินมากมาย ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องมาแย่งกันกิน แย่งกันใช้” อ.ปัญญา ปุลิเวคินทร์ บอกให้ฟัง .... นี่แค่ตัวอย่างเล็กๆ ที่หยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง

          ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ บ้านท่าด่าน ใกล้กับเขื่อนขุนด่านปราการชล นั่นเอง อยู่ภายใต้การดูแลของ อ.ปัญญา ปุลิเวคินทร์ ที่ผันตัวเองจากนายแบงก์มาสู่วิถีชีวิตพอเพียง และลงมือทำตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ ได้อย่างน่าสนใจ

 

ล่อง “น้ำตก” เหนือเขื่อนขุนด่านฯ

 

          อ.ปัญญาเล่าถึงความเป็นมาของศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติให้ฟังด้วยว่า เกิดจากแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จมาแถวนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว พบว่า อุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติ ป่าเขา จึงรับสั่งว่า เป็นห่วง เพราะแถวนี้มีธรรมชาติสวยงาม อนาคตหากพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีถนนหนทาง โรงแรมที่พักต่างๆ เกิดขึ้น อาจจะกระทบต่อธรรมชาติ จึงรับสั่งอยากมีที่ดินสักผืนใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ แสดงแนวคิดของพระองค์ท่านเรื่องการรักษาธรรมชาติ การจัดการดิน จัดการน้ำ จัดการป่า วันข้างหน้าเมื่อบ้านเมืองมีการพัฒนาจะได้มีที่ดินสักผืนทำให้ดูเป็นตัวอย่างว่า ดิน น้ำ และป่า มีความสำคัญอย่างไรกับพวกเขา จึงมีรับสั่งให้มาหาซื้อ และได้ที่ดินบริเวณนี้ เนื้อที่กว่า 14 ไร่ และนำมาสู่การดำเนินกิจกรรมตามโครงการพระราชดำริต่างๆ ภายใต้การนำของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ชักชวนเพื่อนนักเรียนเก่ามาร่วมกันพัฒนา

 

ล่อง “น้ำตก” เหนือเขื่อนขุนด่านฯ

 

          ภายในบริเวณศูนย์ภูมิรักษ์ จะได้เห็นทั้ง โครงการป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ไปจนถึงฝายแม้ว การปลูกพืชคลุมดินอย่างหญ้าแฝก, โครงการแก้มลิง หรือแม้แต่การแกล้งดิน ห่มดิน การทำไบโอดีเซล การเผาถ่าน ไปจนถึงการทำบ้านดิน ซึ่งเป็นการทำขึ้น เพื่อให้เห็นว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้เป็นได้แค่แนวคิดหรือเพียงแต่พูด หากแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงๆ โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากไปกว่า การดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า และเข้าใจธรรมชาติให้ลึกซึ้ง

 

ล่อง “น้ำตก” เหนือเขื่อนขุนด่านฯ

 

          พูดได้ไม่ผิดปากว่า ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ไม่เพียงแต่ต่อยอดโครงการพระราชดำริ ด้วยการทำให้เห็นจริงแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และเล่น ที่ทำให้ได้ทั้งความรู้และสนุกสนาน สมกับหลักการ PLAY + LEARN = PLEARN อีกด้วย ที่นี่จึงมีโรงเรียนต่างๆ พานักเรียนมาเรียนรู้ ลงมือทำ ตั้งแต่ระยะเวลาครึ่งวันไปจนถึง 5 วัน 4 คืนเลยทีเดียว ชนิดที่ว่า ตารางแน่นเอี๊ยด

          สถานที่แห่งนี้ ทำให้เราเพลิดเพลิน และเสพธรรมชาติรอบตัว ได้อย่างมีความสุข แล้วยังได้ของแถมติดปัญญา กลับไปคิดทำต่อที่บ้านอีกด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ