Lifestyle

เที่ยวฟาร์มโคนม : อาชีพ ธ ทรงสร้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เที่ยวฟาร์มโคนม : อาชีพ ธ ทรงสร้าง เรื่อง / ภาพ... นพพร วิจิตร์วงษ์

 

 

เที่ยวฟาร์มโคนม : อาชีพ ธ ทรงสร้าง

 
          "เอ้า นมวัว...เอาไปต้มก่อนนะ" เสียงพี่ชายเพื่อนบอกพร้อมกับยื่นหม้อเล็กๆ มาให้พวกเรา ในเช้าวันหนึ่งที่พวกเราไปเที่ยวที่บ้านของพี่ชายเพื่อน ในไร่น้อยหน่า ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ข้างๆ บ้านพักเป็นคอกวัว ที่เลี้ยงวัวนมไว้สิบกว่าตัว

          "ทำไมต้องต้มล่ะ"  คำถามผุดขึ้นมาอีก

          “ต้มฆ่าเชื้อสิ เนี่ยเพิ่งรีดนมมาสดๆ เลยนะ”
          “ต้องรีดทุกเช้าเลยเหรอคะ”

          “ใช่ มีอยู่แค่สิบกว่าตัวนี่แหละ รีดทุกเช้า ใส่ถังไปตั้งที่ท้ายไร่ เดี๋ยวมีรถ อ.ส.ค.มาเก็บ”

 

เที่ยวฟาร์มโคนม : อาชีพ ธ ทรงสร้าง

 

เที่ยวฟาร์มโคนม : อาชีพ ธ ทรงสร้าง

 

          คงเป็นครั้งที่ได้เข้าใกล้ความเป็น อ.ส.ค. ที่ผลิตนมวัวแดงมากขึ้น หลังจากที่สมัยเด็กๆ แม่จะชอบซื้อนมกล่องที่มีกล่องรูปร่างไม่เหมือนใคร ข้างกล้องเป็นรูปวัวแดง จนเรียกกันติดปากในหมู่เด็กๆ รุ่นเรา หรือจะเรียกให้ถูกต้อง คือ นมโคไทย-เดนมาร์ค

 

เที่ยวฟาร์มโคนม : อาชีพ ธ ทรงสร้าง

 

          เวลาผ่านไป จนพอจะรู้จักความเป็น อ.ส.ค.ว่า หมายถึง “องค์กรส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย” แล้วยังเคยไปนอนเล่นบ้านพี่ที่รู้จักอยู่ทางลัดขึ้นเขาใหญ่ ทางฝั่งมวกเหล็ก ที่นี่มีคอกวัวเช่นกัน ทุกเช้าจะรีดนมใส่ถังไปตั้งไว้ที่ปากทางเข้าไร่ ถามไถ่ได้คำตอบว่า มีเวลากำหนด อีกสักพักจะมีรถ อ.ส.ค.มาเก็บไป ถ้าใครอยู่ใกล้ๆ จะขี่มอเตอร์ไซค์เอาไปส่งก็ได้

 

เที่ยวฟาร์มโคนม : อาชีพ ธ ทรงสร้าง

 

          นมวัวแดงที่ฉันรู้จัก มีที่มาส่วนหนึ่งแบบนี้เอง... จากเกษตรกรชาวไร่

          แล้วก็มีโอกาสไปทำความรู้จักจริงๆ จังๆ กับ อ.ส.ค. โธ่เอ๊ย...เขาเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้วิถีเกษตร ฉันไปอยู่ไหนมาเนี่ย!! แล้วยังมีจำหน่ายผลิตภัณฑ์จาก อ.ส.ค. ที่เริ่มหายไปจากท้องตลาดเมื่อมีสินค้าประเภทเดียวกันออกมาทำตลาดมากขึ้น นมโคจากฟาร์ม อ.ส.ค. เลยเขยิบออกมาวางจำหน่ายอยู่ไม่กี่ที่ เท่าที่รู้ก็มีที่ อ.ส.ค., ร้านค้าใกล้เคียง รวมถึงตลาด อ.ต.ก.ในกรุงเทพฯ ...ระยะตลาดเล็กลง

 

เที่ยวฟาร์มโคนม : อาชีพ ธ ทรงสร้าง

 

          อ้อ...นมไทย-เดนมาร์คเขาผลิตโดย อ.ส.ค. ไม่ใช่ บริษัท นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด ที่ถูกศาลสั่งล้มละลายไปเมื่อปี 2553 นะคะ ส่วนหน้าตาของผลิตภัณฑ์นมวัวแดงที่เห็นชินตาในรูปของนมกล่องก็ยังมี ขณะที่นมพาสเจอร์ไรซ์ในถุงพลาสติกสามเหลี่ยมอันเป็นเอกลักษณ์ เปลี่ยนโฉมไปเป็นถุงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
กว่า 50 ปี ที่นมโคไทย-เดนมาร์ค จากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เริ่มก่อกำเนิดขึ้นในประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือช่วยเหลือทางวิชาการระหว่างรัฐบาลเดนมาร์กกับรัฐบาลไทย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าเฟรดเดอริกที่ 9 แห่งเดนมาร์ก ทรงประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์คอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2505 

 

เที่ยวฟาร์มโคนม : อาชีพ ธ ทรงสร้าง

 

          ความสำคัญไม่ได้อยู่เพียงแค่ ในหลวง ร.9 เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดเท่านั้น แต่อยู่ที่ในหลวงเสด็จประพาสยุโรปเมื่อปี พ.ศ.2503 พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ หนึ่งในประเทศที่เสด็จฯ เยือนนั้นคือประเทศเดนมาร์ก ซึ่งพระองค์สนพระราชหฤทัยในกิจการการเลี้ยงโคนมของเดนมาร์ก ทรงเล็งเห็นคุณค่าทางโภชนาการ การบริโภคนม การสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกร และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รัฐบาลเดนมาร์กจึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม และตกลงทำสัญญาให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและเศรษฐกิจไทย-เดนมาร์ก และไปสู่การก่อตั้งเป็น อ.ส.ค.อย่างที่บอกขึ้นต้น 

 

เที่ยวฟาร์มโคนม : อาชีพ ธ ทรงสร้าง

 

          กระทั่งในปี พ.ศ.2514 รัฐบาลเดนมาร์กได้โอนกิจการให้รัฐบาลไทย จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้ชื่อ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ผลิตภัณฑ์นมภายใต้เครื่องหมายการค้านมตรา ไทย-เดนมาร์ค และนมวัวแดง และรัฐบาลยังกำหนดให้วันที่ 17 มกราคมของทุกปี เป็น วันโคนมแห่งชาติ

 

เที่ยวฟาร์มโคนม : อาชีพ ธ ทรงสร้าง

 

          ปัจจุบัน อ.ส.ค.ปรับปรุงสถานที่จัดเป็น แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพิ่มจากการเป็นแหล่งผลิตนมโค และแหล่งศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ทั้งได้ความรู้ ความสนุกสนานและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์

 

เที่ยวฟาร์มโคนม : อาชีพ ธ ทรงสร้าง

 

          การท่องเที่ยวแบบนี้ เหมือนเด็กๆ จะตื่นเต้นเป็นพิเศษ รถรางนำเที่ยว ขนาดใหญ่ แล่นไปตามถนนในบริเวณของ อ.ค.ส. ผ่านจุดต่างๆ ตั้งแต่จุดเรียนรู้เกี่ยวกับการเกิดซากฟอสซิลหอยยุคดึกดำบรรพ์ ที่เด็กๆ จะได้ลงไปดูของจริง ได้เรียนรู้การทำปุ๋ยน้ำนม ไปจนถึงแลนมาร์คของพื้นที่ คือ อาคารไม้แห่งแรกของ อ.ส.ค. ก็ยังคงรักษาสภาพไว้ตามเดิม กับป้ายอาคารและตัวเลขขนาดใหญ่ 1962 อันหมายถึงปี ค.ศ.1962 ที่ก่อตั้ง ด้านใต้อาคารใช้เลี้ยงโคนม เพาะพันธ์ุโคนม รวมถึงส่วนแสดงการรีดนมวัว ภายในตัวอาคารปรับเปลี่ยนเป็นห้องประชุม และห้องฉายวีดิทัศน์แสดงถึงเรื่องราวความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ จนนำไปสู่การสร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย พอเลยด้านหลังอาคารเข้าไปด้านใน จะเป็นแนวคอกวัว และลูกวัว ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ นำน้ำนมวัวที่ใส่ขวดไว้ มาป้อนลูกวัวได้

 

เที่ยวฟาร์มโคนม : อาชีพ ธ ทรงสร้าง

 

          การนำเที่ยวทุกครั้งจะพามาหยุดที่จุดนี้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเรียนรู้ และเห็นกระบวนการเลี้ยงและรีดนมวัว รวมถึงให้ลองลงมือรีดนมด้วยตัวเองด้วย แม่วัว 3-4 ตัว รอรีดนมอยู่ในกรง พอรีดนมเสร็จยังได้นำขวดใส่นมวัวไปป้อนให้ลูกวัวในคอกที่อยู่ด้านในด้วย งานนี้ดูเหมือนเด็กๆ จะชอบและสนุกสนานกันเป็นพิเศษ
นอกจากมาดู มารีดนมวัวแล้ว ยังได้รู้วิธีทดสอบว่าเป็นนมโคสดแท้ด้วยวิธีง่ายๆ ไม่ใช่ดูแค่ยี่ห้อ แต่ให้ลองเทใส่แก้ว ตั้งทิ้งไว้ ถ้าเป็นนมโคสดแท้ จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเป็นนมผสมจะเกิดเป็นเม็ดๆ เกาะอยู่... ทดลองกันดูหลังอ่านเรื่องนี้จบก็ได้นะคะ

 

เที่ยวฟาร์มโคนม : อาชีพ ธ ทรงสร้าง

 

          ในเนื้อที่ 2,700 ไร่ของ อ.ส.ค. ยังมีแบ่งเป็นแปลงปลูกหญ้าเลี้ยงวัว และสัตว์อื่น ทุ่งหญ้ากว้างๆ สวยๆ ของที่นี่เคยเป็นฉากประกอบในละครทีวีมาแล้วด้วยนะ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ของสวนสัตว์ย่อยๆ ที่มีทั้งกวาง นกกระจอกเทศ และอูฐ รวมถึงลานแสดงม้า ชมวิถีโคบาล ซึ่งจะมีการแสดงของโคบาลให้ได้ชม รวมถึงเด็กๆ จะลองขี่ม้าก็ยังได้ ส่วนใครที่อยากดื่มด่ำกับธรรมชาติให้มากขึ้น อยากจะพักค้างแรมแบบคาวบอยไนท์ ที่นี่ก็มีสถานที่ให้พร้อม

 

เที่ยวฟาร์มโคนม : อาชีพ ธ ทรงสร้าง

 

          นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่สามารถสร้างความสุขให้แก่สมาชิกทุกวัยของครอบครัว ตามสโลแกน “ดื่มนม ชมดาว ดื่มด่ำธรรมชาติ”

          และได้คำตอบในใจว่า ทำไมเราถึงรักในหลวงได้อย่างหมดหัวใจ

 

เที่ยวฟาร์มโคนม : อาชีพ ธ ทรงสร้าง


 
.......................................

          การเดินทาง :  ใช้ถนนมิตรภาพ บริเวณหลัก กม.34 เลยทางแยกเข้า อ.มวกเหล็ก กลับรถมาอีกฝั่งถนน หรือมาจากโคราชจะอยู่ฝั่งซ้ายมือ ก่อนถึงทางแยก อ.มวกเหล็ก โทร.0-3634-5188 0-3634-4926
โปรแกรมนั่งรถรางชมฟาร์ม : เช้า 3 รอบ 09.00 น., 10.00 น., 11.00 น.
บ่าย 3 รอบ 13.00 น., 14.00 น., 15.00 น.

          อัตราค่าเข้าชม : ผู้ใหญ่ 120 บาท, นิสิต/นักศึกษา 100 บาท, นักเรียน/เด็ก 70 บาท แต่เด็กเล็กสูงไม่เกิน 90 ซม. ฟรี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ