Lifestyle

เหยี่ยวทุ่งพันธุ์เอเชียตะวันออก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เหยี่ยวทุ่งพันธุ์เอเชียตะวันออก : คอลัมน์ นกป่าสัปดาห์ละตัว


 
          พูดถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดูเหยี่ยวอพยพ แน่นอนว่าเดือนตุลาคมมีความหลากหลายของชนิดนกล่าเหยื่อมากที่สุด โดยเฉพาะช่วงกลางเดือน แต่ความอลังการของฝูงเหยี่ยวอพยพนั้นเห็นได้ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนแล้ว ขณะนี้ผู้เขียนประจำการอยู่ที่เขาดินสอ อ.ปะทิว จ.ชุมพร เพื่อนับนกอพยพผ่านในโครงการของมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ (The Flyway Foundation, Thailand) หลายชนิดเริ่มพบได้เป็นจำนวนพอสมควรตั้งแต่เดือนกันยายนแล้ว นอกจากเหยี่ยวชนิดหลักที่พบได้นับหมื่นนับแสนตัวในแต่ละฤดูกาล ชนิดอพยพที่พบได้ค่อนข้างมากในช่วงปลายกันยายน คือ เหยี่ยวทุ่งพันธุ์เอเชียตะวันออก (Eastern Marsh Harrier)

          ตามปกติเหยี่ยวทุ่งจะบินผ่านเขาดินสอในระดับที่ไม่สูงจากพื้นดินมาก ไม่ค่อยอาศัยลมร้อนจากพื้นดินช่วยในการพยุงตัวขึ้นเพื่อโผไปในระยะไกลแบบเหยี่ยวส่วนใหญ่ เรามักรู้ได้ทันทีว่าเป็นเหยี่ยวทุ่งเมื่อเห็น รูปทรงปีกและหางยาว ท่าบินยกปีกประคองตัวเอนไปมาก็เป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของเหยี่ยวกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม การจำแนกชนิดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป เพราะสองชนิดที่พบมากในภูมิภาคนี้มีสีสันคล้ายกันมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญมากไม่แพ้รายละเอียดของสีสันและลวดลายก็คือรูปทรงและสัดส่วน

 

เหยี่ยวทุ่งพันธุ์เอเชียตะวันออก

          เหยี่ยวทุ่งพันธุ์เอเชียตะวันออกมีขนาดตัวใหญ่กว่า เหยี่ยวด่างดำขาว (Pied Harrier) ซึ่งเป็นเหยี่ยวทุ่งที่มีหุ่นเพรียวสมส่วน ปีกและหางเรียวยาว ต่างจากเหยี่ยวทุ่งพันธุ์เชียตะวันออกซึ่งมีสัดส่วนลำตัวที่ดูบึกบึนเทอะทะ โคนปีกที่กว้างและหางที่ดูหนาสั้นก็ทำให้มีโอกาสสับสนกับเหยี่ยวชนิดอื่นด้วย

          เพศผู้มีขนาดตัวเล็กกว่าและสีสันโดดเด่นสะดุดตากว่าเพศเมีย ลำตัวเพศผู้เป็นสีขาว บริเวณหัวเต็มไปด้วยลายสีเทาเข้ม บางตัวมีอกและหัวสีเข้มมากจนดูคล้ายเหยี่ยวด่างดำขาว แถมยังมีรายงานที่เป็นสีน้ำตาลเข้มสนิทเกือบทั้งตัวด้วย ส่วนเพศเมียมีพื้นลำตัวสีน้ำตาล วัยเด็กมีลำตัวสีน้ำตาลเข้มและไม่มีลายตามตัว ลวดลายบนใบหน้ามีความหลากหลายมากกว่าของเหยี่ยวด่างดำขาว เพศผู้ที่ยังโตไม่เต็มวัยมีหัวสีน้ำตาลและลำตัวด้านล่างสีขาวคล้ายเหยี่ยวด่างดำขาวเพศเมีย การจำแนกชนิดในบางครั้งจึงต้องพิจารณารายละเอียดหลายประการ

          บางตำราจัดเหยี่ยวทุ่งพันธุ์เอเชียตะวันออกเป็นชนิดเดียวกับ เหยี่ยวทุ่งพันธุ์ยูเรเชีย (Western Marsh Harrier) เนื่องจากมีรายงานผสมข้ามชนิดกัน แต่ส่วนใหญ่จัดเป็นคนละชนิดเนื่องจากสีสันแตกต่างกันมาก

เหยี่ยวทุ่งพันธุ์เอเชียตะวันออก
ชื่ออังกฤษ  Eastern Marsh Harrier
ชื่อวิทยาศาสตร์  Circus spilonotus (Kaup, 1874)
วงศ์ (Family)  Accipitridae (วงศ์เหยี่ยวและนกอินทรี)
อันดับ (Order)  Accipitriformes (อันดับเหยี่ยวและนกอินทรี)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ