Lifestyle

ปรับปรุงอาคาร80ปีให้เหมือนมีอายุ18

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การปรับปรุงอาคาร 80 ปี ติด ‘วัดเล่งเน่ยยี่’ ให้เหมือนมีอายุ 18 ปี : คอลัมน์ ตึกแถว+อพาร์ตเมนต์ไม่บาน กับอาจารย์เชี่ยว

 

          สาระน่ารู้ในสัปดาห์นี้ ผมจะพาแฟนๆ ตึกแถวอพาร์ตเมนต์ไม่บานไปเที่ยวย่าน “เยาวราช” ติดกับ “วัดเล่งเน่ยยี่” ซึ่งเป็นการบูรณะปรับปรุงฟื้นฟูอาคารเก่าที่มีอายุกว่า 80 ปี ที่ในอดีตเคยเป็นอาคารโรงน้ำชา 7 ชั้น แต่เมื่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไป กิจการโรงน้ำชาซบเซาลงและในที่สุดถูกปิดทิ้งร้าง จึงกลายสภาพเป็นแหล่งเสื่อมโทรมและเกิดทัศนะอุจาดขึ้น ซึ่งผมมีโอกาสขับรถผ่านไปมาหลายต่อหลายครั้งบนถนน “เจริญกรุง” พอได้พบเห็นก็เกิดความรู้สึกสังเวช เพราะดูไม่เจริญหูเจริญตาเอาเสียเลย

          ผมคิดคำนึงอยู่ในใจว่าน่าจะมีใครสักคนเข้าไปบูรณะปรับปรุง, ฟื้นฟู เพราะทำเลที่ตั้งถือได้ว่าอยู่บนทำเลที่ดีเยี่ยม อยู่ติด “วัดมังกรกมลาวาส” หรือ “วัดเล่งเน่ยยี่” ที่เป็นวัดจีนเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งรัชสมัย “ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5”  ซึ่งอาคารเก่าดังกล่าวตั้งอยู่บนที่ดินของ “สำนักงานพระคลังข้างที่” จากที่ผมได้สืบค้นประวัติดูแล้วพบว่า เป็นที่ดินส่วนพระองค์ของ “ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6”  ได้ตกทอดแก่พระราชธิดา คือ “สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ”

          ในฐานะที่ผมเป็นสถาปนิกและนักวิชาการผังเมือง การที่อาคารบ้านเรือนตกอยู่ในสภาพถูกทิ้งร้าง จนทำให้เป็นที่ซ่องสุมของบรรดาขอทานและคนจรจัด รวมทั้งยังเป็นบ่อเกิดอาชญากรรมคงไม่ดีเป็นแน่ ทั้งยังอาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในย่านนั้น ซึ่งต้องมีใครลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง จนกระทั่ง “บริษัทอิมพีเรียล แลนด์ จำกัด” ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัญญาเช่าอาคาร 7 ชั้นดังกล่าว จาก “สำนักงานพระคลังข้างที่” มาขอคำปรึกษาจากผม ซึ่งผมได้นำเสนอแนวคิดและรูปแบบที่จะบูรณะปรับปรุงฟื้นฟูอาคารเก่าที่ทรุดโทรมหลังนี้ให้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นใหม่

 

การปรับปรุงอาคาร 80 ปี ติด ‘วัดเล่งเน่ยยี่’ ให้เหมือนมีอายุ 18 ปี

 

          โดยในทางเทคนิคเรียกว่ากระบวนการ  “Revitalization” หรือ แปลเป็นไทยจะได้ใจความว่า “การให้ชีวิตใหม่” เป็นการบูรณะ, ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่ชำรุดทรุดโทรมขึ้นใหม่ สามารถตอบโจทย์ให้กับบริบทใหม่ๆ ความเจริญใหม่ๆ ของย่าน “เยาวราช” ยุคใหม่ ที่กำลังจะมีรถไฟฟ้า “สถานีวัดมังกรฯ”  ที่ต่อไปจะกลายเป็นชุมทางที่สำคัญสำหรับผู้คนที่จะเข้ามาสู่ย่าน “เยาวราช” รวมถึงผู้คนที่จะเดินทางมาทำบุญที่ “วัดเล่งเน่ยยี่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง “วันชิวอิก” คือ วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน  บรรดาผู้คนที่เชื่อถือโชคลางก็เดินทางมาแก้ “ปีชง” ประมาณการว่าในแต่ละปีก็จะมีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศต่างเดินทางมาทำบุญเพื่อเสริมบารมีสร้างสิริมงคลให้แก่ตนเองและครอบครัวที่ “วัดเล่งเน่ยยี่” ประมาณการว่ามีมากถึง 2-3 ล้านคนเลยทีเดียว เพราะเป็นวัดเก่าแก่ที่ก่อตั้งมานาน (สร้างขึ้นพร้อมกับการตั้งถิ่นฐานของชนชาวจีนในย่าน “เยาวราช”)

          จะเห็นได้ว่า ด้านหน้าของ “วัดมังกรฯ” มีถนนที่เรียกกันว่า “ถนนเจริญกรุง” หรือในอดีตมักเรียกทับศัพท์ว่า “New Road” ซึ่งเป็นถนนที่ตัดขึ้นใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในสมัย “ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5” ในยุคนั้นตลอดสองข้างทาง เต็มไปด้วยอาคารพาณิชย์เพื่อทำการค้าขายในสไตล์ “ชิโนโปรตุกีส” หรือบางทีเรียกว่าสไตล์ “โคโลเนียล” ว่ากันว่าในครั้ง “ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5” เสด็จประภาส “ชวา” และ “สิงคโปร์” ได้ทรงเห็นบรรดาตึกแถวหรืออาคารพาณิชย์ในสไตล์ “โคโลเนียล” หรือ “ชิโนโปรตุกีส” มีให้เห็นทั่วไปในบรรดา “เมืองขึ้น” อันเป็นอาณานิคมของ “อังกฤษ”  และ “ดัตช์” จึงมีพระราชดำริที่จะนำรูปแบบมาเผยแพร่ใน “สยามประเทศ” เพื่อรองรับความเจริญในรูปแบบใหม่ๆ ที่ทันสมัยและมิให้ต่างชาติดูแคลนว่าชนชาว “สยาม” ว่าเป็นคนที่ไร้ศิลปวัฒนธรรม ในการใช้ชีวิตและเป็นประเทศที่ขาดความศิวิไลซ์

          จาก “เหตุ” และ “ผล” ดังกล่าว ผมจึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงหน้าตาอาคารเก่า ที่เปรียบเสมือนสาวใหญ่ที่มีอายุกว่า 80 ปี มีความสูงขนาด 7 ชั้น บนพื้นที่ 163 ตารางวา ที่มีรูปลักษณ์ตกยุค ให้มีรูปร่างหน้าตาย้อนวัยเป็นสาวน้อยร้อยชั่งอายุ 18 ปี ออกมาในสไตล์ “ชิโนโปรตุกีส” ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผม การที่เราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงยั่งยืนได้ ไม่ว่าจะไปสู่ความ “ทันสมัย” สักเพียงใด จะต้องไม่ลืมที่จะหอบหิ้วเอาศิลปวัฒนธรรมในการกิน อยู่ ที่ผมมักเรียกว่า “ของดี มีอยู่” ตามไปด้วย

          ฉะนั้นก็จะกลายเป็นการพัฒนาที่ก้าวไปสู่ความ “ทันสมัย” แบบ “ไร้ราก”  เป็นประเภท “ไม้ล้มลุก” ที่ขาดความยั่งยืน ซึ่งในความคิดส่วนตัวของผมแล้วอันตรายมากครับ เพราะในอดีตที่ผ่านมาทุกครั้งที่บ้านเรามีการพัฒนาอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาก็ตาม จะต้องทุบทิ้งทำลายของเก่าไม่ให้เหลือซากของอดีตที่น่าภาคภูมิใจ สำหรับโครงการนี้ผมพยายามที่จะรื้อฟื้นความเป็น ย่าน “เยาวราช” ที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูในอดีตให้กลับฟื้นคืนมามีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งครับ

 

การปรับปรุงอาคาร 80 ปี ติด ‘วัดเล่งเน่ยยี่’ ให้เหมือนมีอายุ 18 ปี

 

          จากการที่ผมได้ศึกษา “พิมพ์เขียว” ที่ได้รับจาก “สำนักงานพระคลังข้างที่” การก่อสร้างสำหรับอาคารที่มีอายุอานามกว่า 80 ปีในยุคนั้น ยังคงนิยมใช้เข็มไม้ในการรับน้ำหนักฐานราก เมื่อจะให้ชีวิตใหม่แก่อาคารเก่าจึงจำเป็นต้องมีการเสริมความแข็งแรงทั้งระบบเข็ม, ระบบฐานราก, ระบบโครงสร้าง รวมไปถึงระบบเสา, คาน, ผนัง, พื้น ฯลฯ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของทั้งระบบ เช่น การใช้เสาเข็ม “ไมโคร ไพล์” (Micro pile) และการใช้ “G.R.C.” สำหรับการประดับตกแต่งบัวและลวดลายต่างๆ ซึ่งเทคนิคต่างๆ เหล่านี้ถูกนำมาใช้ เรียกว่า ใช้ทุกศาสตร์ทุกศิลป์ที่มีในการแก้ไขปัญหาพลิกตำราทุกเล่มแหละครับ

          เมื่ออาคารแล้วเสร็จเห็นแล้วก็น่าชื่นใจและหายเหนื่อยครับ เพราะผมได้ให้ชีวิตใหม่กับอาคารที่ถูกทิ้งร้าง เหมือนกับสาวใหญ่ที่อายุอานาม 80 ปี กลับมาพลิกฟื้นกลับเป็นสาวน้อยอายุ 18 ปี อีกครั้งหนึ่ง และที่สำคัญคือการเป็นต้นแบบให้แก่อาคารเก่าอีกนับพันนับหมื่นหลังที่กำลังตกอยู่ในสภาพทรุดโทรม ถูกทิ้งร้าง เพราะไม่สามารถตอบสนองกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้

          “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” ในสัปดาห์นี้เรามาชื่นชมความงามของอาคารโครงการ “Station One” ที่ในอดีตเป็นเหมือนสาวใหญ่อายุ 80 ปี แต่ทำไปทำมากลายสภาพเป็นสาวน้อยร้อยล้านอายุ 18 ปีครับ ท่านใดที่มีโอกาสผ่านไปย่าน “เยาวราช” ติดกับ “วัดเล่งเน่ยยี่” ลองแวะเข้าไปเยี่ยมชม ที่บริเวณชั้นล่างก็มีร้านกาแฟ “สตาร์บัคส์” เปิดให้บริการ ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นกระบวนการทางความคิดเชิงอนุรักษ์ สืบสานและพัฒนา

          สำหรับผมแล้วเป็นการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน ไปสู่ “บริบท” ใหม่ๆ ของสภาพสังคมและเศรษฐกิจ “ยุคใหม่” ที่ “ทันสมัย” โดยไม่ลืมหอบหิ้วเอา “ของดี มีอยู่” ในอดีตให้ติดตามไปด้วย สำหรับสาระน่ารู้ในสัปดาห์นี้ก็คงมีเพียงแค่นี้ครับ พบกันได้ใหม่ในอีกสองสัปดาห์หน้าครับ สำหรับท่านผู้อ่านท่านใดที่สนใจใฝ่รู้ก็สามารถติดตามบทความย้อนหลัง หรือสามารถ “ดาวน์โหลด” แบบได้ที่ “เว็บไซต์” ยอดฮิตของชาว “คนรักบ้าน” www.homeloverthai.com

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ