Lifestyle

เมื่อต้องฉายรังสีมะเร็งใบหน้าและลำคอ (ตอนจบ)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์รู้ทันมะเร็ง โดย นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

        เมื่อต้องฉายรังสีมะเร็งใบหน้าและลำคอ (ตอนจบ)

        มาต่อกันเรื่องการดูแลช่องปากและฟันในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการฉายแสงบริเวณใบหน้าและลำคอ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง หลังจากที่เคยได้เขียนถึงการดูแลผิวหนังบริเวณที่มีการฉายแสงไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ต้องขอกล่าวถึงภาวะแทรกซ้อนหรือผลที่จะเกิดขึ้นในระหว่างที่ได้รับรังสีบริเวณใบหน้าและลำคอกันอีกครั้ง ที่พบบ่อยได้แก่ ปากแห้ง ไม่ค่อยมีน้ำลายเหมือนปกติ คอแห้ง เยื่อบุช่องปากและลำคออักเสบ ไม่ค่อยรู้รสชาติอาหาร ผิวหนังบริเวณนั้นมีสีคล้ำขึ้น แห้งเป็นขุย มีอาการคัน เจ็บคอ รู้สึกมีอะไรติดในลำคอ มีอาการไอ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับช่องปากและฟันอย่างไม่ต้องสงสัย

         การดูแลช่องปากและฟันในผู้ป่วยมะเร็ง ที่ได้รับการฉายแสงบริเวณใบหน้าและลำคอ ว่ากันตั้งแต่ก่อนที่จะได้รับการฉายแสงเสียด้วยซ้ำ เริ่มตั้งแต่ต้องไปให้ทันตแพทย์ตรวจสุขภาพฟันและช่องปากว่าไม่มีฟันผุและโรคเหงือก ถ้ามีก็ทำการรักษาให้เรียบร้อยก่อน เพราะในระหว่างที่ได้รับการฉายแสงนั้น ห้ามถอนฟันเด็ดขาด เพราะแผลที่ถอนฟันจะหายช้า เกิดการติดเชื้อได้ง่ายและอาจลุกลามถึงกระดูกกรามได้ ในช่วงที่ได้รับการฉายแสง ควรแปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหารด้วยแปรงสีฟันขนาดเล็กขนนุ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้เหงือกเป็นแผล ใช้ยาสีฟันรสไม่จัดและมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ควรอมบ้วนปากบ่อยๆ ด้วยน้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ งดการเคี้ยวหมากพลูงดสูบบุหรี่ ควรจิบน้ำบ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 2 ลิตรหรืออมน้ำแข็งก้อนเล็กบ่อยๆ เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการปากแห้งคอแห้ง จากการที่ต่อมน้ำลายถูกรังสีทำลาย โดยทั่วไปแล้วจะฟื้นตัวและผลิตน้ำลายได้อีก 2-3 ปีหลังการฉายแสงครบ เช่นเดียวกับการรับรสอาหารที่ผิดปกติจากต่อมรับรสที่ลิ้นได้รับรังสี ก็ใช้เวลาในการฟื้นตัวได้เช่นกัน ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นหลังฉายแสงก็เช่น ไขสันหลังระดับต้นคอเสื่อม ฟันผุ ปากแคบอ้าปากไม่ขึ้น เป็นต้น

 

เมื่อต้องฉายรังสีมะเร็งใบหน้าและลำคอ (ตอนจบ)

          ส่วนการดูแลช่องปากและฟันหลังสิ้นสุดการฉายแสง ก็ไม่ต่างจากในช่วงที่ได้รับการฉายแสง ที่เพิ่มเติมคือ ควรพบทันตแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยทุก 2-3 เดือน และต้องแจ้งทันตแพทย์ว่าเคยฉายแสงผ่านช่องปากมาก่อน เพื่อระมัดระวังการให้การรักษา โดยเฉพาะควรหลีกเลี่ยงการถอนฟันถ้าไม่จำเป็น เนื่องจากแผลที่ถอนฟันจะไม่หาย แผลติดยาก มีโอกาสที่แผลจะติดเชื้อและลุกลามเข้าสู่กระดูกกรามได้ง่าย อีกเรื่องที่สำคัญคือ การบริหารปากเพื่อป้องกันช่องปากแคบและอ้าปากได้ไม่เต็มที่ รวมถึงการบริหารกล้ามเนื้อคอ ซึ่งจำเป็นต้องบริหารทั้ง 2 ส่วนนี้ตลอดชีวิตอย่างสม่ำเสมอ

         สรุปก็คือผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการฉายแสงบริเวณใบหน้าและลำคอ จำเป็นต้องใส่ใจดูแลทั้งบริเวณผิวหนังที่ได้รับการฉายแสง บริเวณช่องปากและฟันให้เป็นอย่างดี ทั้งในระหว่างที่ได้รับการฉายแสงและต่อเนื่องหลังจากนั้น เพราะนอกจากอาจเกิดผลข้างเคียงถึงแก่ชีวิตได้แล้ว ยังต้องหยุดการฉายแสงช่วงนั้น ไม่สามารถให้การรักษาต่อเนื่องได้ มะเร็งก็มีโอกาสลุกลามไปได้อีก ในช่วงที่รักษาภาวะแทรกซ้อนที่ว่านะครับ...ขอบอก

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ