Lifestyle

แขกรับเชิญ-สู่ปีที่ 28 "กระจกหกด้าน"ภาพสะท้อนจาก"แม่" สู่"ลูก"ที่...ไม่มีใหม่ไม่มีเก่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผ่านการทำงานมาหลากหลายรูปแบบเหลือเกิน ไม่ว่าวิทยุ ทีวี หนังสือพิมพ์ รวมทั้งอาจารย์พิเศษ สำหรับผู้หญิงเก่ง สุชาดี มณีวงศ์ เจ้าของเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ แห่งรายการสารคดี "กระจกหกด้าน" ที่ออกอากาศทางช่อง 7 สี มายาวนานถึง 27 ปี

 การเปิด บริษัท ทริลเลี่ยนส์ จำกัด และบริษัท ทรีไลอ้อนส์ จำกัด ก็เพื่อผลิตรายการต่างๆ

 เมื่อถึงวันที่มองตัวเองว่า "เริ่มแก่" สุชาดี จึงมีความคิดจะส่งไม้ต่อไปสู่รุ่นลูกอย่างเต็มตัว ด้วยความเชื่อว่าลูกๆ ทั้งสี่ ที่แม้ร่ำเรียนกันมาคนละอย่าง มีความชอบคนละแบบ จะทำหน้าที่ได้อย่างที่แม่วาดหวังไว้

 การผลัดไม้ครั้งสำคัญนี้ อาจมีนัยถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบ รวมไปถึงสีสันที่อาจมากกว่าคนรุ่นบุกเบิกเคยทำมา   

 ฉะนั้นแล้ว การพูดคุยกับ คน "รุ่นสืบทอด" จึงน่าติดตามไม่น้อย     

 "วันนี้มา 3 คน อีกคนไปไหนล่ะคะ"

 ผู้สัมภาษณ์เอ่ยถึงลูกสาวคนเล็ก อรอรีย์ จุฬารัตน์ (ศิลปินอิสระ) สุชาดี รีบบอกว่า วันนี้ลูกสาวป่วย เลยให้อยู่บ้าน แล้วแนะนำให้รู้จักลูกๆ ทั้ง 3 คน ซึ่งคนละคน มีความต่างกันจริงๆ ก่อนจะขอตัวให้พูดคุยกับลูกๆ อย่างเต็มที่

 "พ่อแม่เรามาในยุคเบบี้บูม พวกผมเกิดมา คุณตาคุณยายก็เอาไปเลี้ยง แต่ละคนถูกเลี้ยงมาจากคนในครอบครัวหลายคนเลยหลายแบบ พี่ชายคนโต เรียนดี ชอบสอน จึงขอเป็นอาจารย์ ส่วนผมชอบกิจกรรม เป็นนักกิจกรรม" "โอ๊ต" อลงค์กร ลูกคนรองเกริ่นกล่าว  ด้าน "เอ็ด" ดร.จุพิศพงศ์ เสริมต่อว่า 

 "ผมซึมซับของโบราณ ชอบประวัติศาสตร์ ที่บ้านคุณตาคุณยายเป็นอย่างนั้น ฝังในแก่นสมองโดยไม่รู้ตัว เหมือนเป็นประสบการณ์ มาช่วงตอนจบสถาปัตย์ ก็เริ่มหาจุดที่ชอบ...
 
 ทีนี้แม่เกิดขาดคนขึ้นมา ตอนแรกจะช่วยอย่างเดียว เริ่มจากศูนย์ เพราะไม่ได้เรียนนิเทศ แอบกระซิบคุณแม่ว่าชั่วคราวนะ ก็แบกขากล้อง ส่งเทป  ครูพักลักจำ เป็นโปรดักชั่นอยู่ 2 ปี ก็เริ่มเขียนบท เพราะคนเขียนบทขาด เสร็จแล้วก็ขึ้นมาเรื่อยๆ จากนั้นก็เป็นโปรดิวเซอร์ คือรู้จักตัดต่อแล้ว ที่เรียนอาร์ตมาได้ใช้งาน แล้วได้เปรียบทุกอย่าง ระหว่างนั้น ด้วยความที่เป็นมนุษย์ชอบเรียน ขอแม่ไปเรียนต่อ แต่แม่บอกว่า ไม่ส่งแกแล้วนะ ก็ต้องทำงานไปด้วย เก็บเงินเรียนด้วย"

 สามพี่น้องช่วยกันเล่าถึงการเข้ามาทำงานในบริษัทแม่ ขณะเดียวกันก็เห็นภาพการซึมซับงานจากแม่โดยไม่รู้ตัว ทั้งเห็นความลำบากมากมายที่แม่พบเจอ กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ 

 "ครอบครัวเรามาจากคนยากจนมาก่อน ไต่เต้าขึ้นมา ไม่ได้มีความรู้สูงอะไรมากมาย ทำงานด้านสื่อมาตลอด รายการเรา 28 ปีแล้ว ก็ค่อนข้างภาคภูมิใจ เพราะเป็นเรื่องต้องใช้เวลา ยิ่งเราทำมากขึ้นก็ไม่รู้จะเอาตรงไหนมาทำแล้ว ไม่ว่าเรื่องวัฒนธรรม เรื่องอาหาร ทุกสิ่งทุกอย่าง เริ่มยากขึ้นเรื่อยๆ แต่เรายังยึดหลักรักษาความดีไว้" เอ็ดบอกจุดยืน 

 ถามถึงชื่อบริษัท "ทริลเลี่ยน" และ "ทรีไลออนส์" เอ็ดเดาว่าแม่คงจะใฝ่ฝันอะไรบางอย่าง ...เวลานั้นสุชาดีเดินผ่านมาพอดี เฉลยเสียงดังอย่างอารมณ์ดีว่า "แปลว่าล้านยกกำลัง 3 อยากรวยไง แถมมีเอสอีกนะ" 

 ก่อนจะถึงแนวทางการทำงานต่อไป เอ็ด เล่าย้อนว่า กระจก 6 ด้าน เริ่มแรกเป็นรายการทางวิทยุมาก่อน วันหนึ่งเพื่อนแม่ในวงการมาพบปะกัน เลยคิดกันว่าอยากทำรายการโทรทัศน์ เพื่อจะได้มีรายการสารคดีบ้าง เผอิญกับช่วงนั้นได้รางวัลจากการทำเรื่องพญาเถร คุณแม่จึงเข้าไปเสนอกับคุณแดง สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ที่ช่อง 7 และนับแต่นั้นมาก็ผลิตรายการมาตลอด

 "เราเกิดมาในยุคสารคดีที่ไม่ค่อยดังเท่าไหร่ ก็แบ่งเป็นตอนๆ ช่วง 2 ช่วง ลองผิดลองถูก ทำเป็นซีรีส์ออกทุกวันจันทร์ ตอนนี้ก็ยังลองอยู่ ลองในแง่การตลาด ทุกวันนี้คนที่ทำสารคดีมีต้นแบบให้ดูเยอะ จะไม่เหนื่อยอย่างพวกเรา" เอ็ด บอกถึงปัญหาในช่วงแรกๆ ขณะที่น้องชาย เคยลองฉีกทำรายการแบบอื่น

 "ตอนจบใหม่ๆ ผมอยากทำรายการวาไรตี้ ตอนนั้น ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ทำรายการที่นี่กรุงเทพ ผมก็แอบฝันว่าอยากมีรายการแบบนั้น เราใช้ความรู้ที่ได้จากการทำกระจก 6 ด้าน ใช้ชื่อเสียงส่วนหนึ่งในการทำสารคดีมาทำรายการทีวี แต่ไม่พ้นสารคดีเหมือนกัน เรามองว่าสาระเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต" โอ๊ต ยอมรับว่าหลงใหลงานในรูปแบบที่แม่ทำแล้ว  

 "ส่วนเรื่องของการพัฒนา เป็นเมอร์เชียลไดร์ในรุ่นของพวกเรา หรือต่อไปถ้าเรามีศักยภาพพอ มีการสนับสนุนจากหลายฝ่ายก็อาจมีเรื่องแฟร์ ที่เข้าไปยังกลุ่มคนต่างๆ ที่เป็นคนพันธุ์เดียวกัน เพื่อให้ความรู้ ไม่ทำร้ายทำลายสังคม เป็นอย่างหนึ่งที่คุณแม่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง" เอ็ด ช่วยยืนยันสิ่งที่แม่วางไว้ 

 ถามถึงโครงการในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 28 สามพี่น้องผลัดกันบอกถึงสิ่งที่ร่วมประชุมกันมาว่า 

 "เราทำศิลปวัฒนธรรมมาเยอะ ต่อไปเราก็วางแผนงานกรอบใหญ่ อย่างปีหน้าคิดจะทำสารคดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิดชูคุณค่าชาวนาไทย เสนอชุดเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต คือ ข้าว ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคมนุษย์กินข้าวป่า จนปลูกไว้กินเอง เป็นเชิงประวัติศาสตร์ข่าวในบ้านเรา และความผูกพันกับคนไทย รวม 44 ตอน" 

 มนุษย์ไอเดียอย่าง เอ็ด กล่าวถึงโครงการที่วางไว้ รวมทั้งการทำสารคดีเป็นซีรีส์ความรู้เรื่องวิถีไทย, อารยสยาม หนึ่งในนั้นมีเรื่อง สำรับตำรับไทย ความเป็นมาของอาหารในวัฒนธรรม ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสารคดีต่างๆ จะนำไปทำดีวีดี หรือรวมเล่มในโอกาสพิเศษต่างๆ  

 ด้าน "พิช" จุฬาพิช พี่สาวคนโตเสริมถึงโครงการเสริมที่จะต่อยอดถึงคนกลุ่มใหม่ๆ 

 "ปีนี้เราทำหลายด้าน จะเน้นทางสังคมมากขึ้น อย่างต้นปี แม่มีงานการกุศลสร้างพระหลวงปู่โตธรรมรังสี องค์จำลองให้ผู้ที่สนใจเช่า รายได้ทั้งหมดนำไปซ่อมพระอุโบสถวัดระฆัง ทำวีซีดีรายการ มอบให้โรงเรียนในกทม. และถิ่นทุรกันดาร อีกส่วนก็จำหน่าย นอกจากนี้เรายังคิดเปิดหลักสูตรอบรมคนเขียนบทสารคดี ตอนนี้เราเน้นส่วนกิจกรรมพิเศษ อีกส่วนจะสื่อสารกันผ่านเว็บไซต์ น้องสาวเป็นคนดูแล เป็นหนังสือทางอินเทอร์เน็ต"

 มีเสียงเสริมว่า "กระจก 6 ด้าน" จะเป็นรายการสารคดีที่คนทั่วไปสามารถเข้าไปดาวน์โหลด หรือเข้าไปศึกษาข้อมูลได้

 สำหรับใครที่อยากรู้ว่า การส่งไม้ต่อจากรุ่นแม่สู่ลูกจะออกมาเป็นอย่างไร พวกเขามีคำตอบให้

 "เป็นการผสมผสาน เป็นช่วงรอยต่อระหว่างรุ่น เป็นช่วงรอยต่อแฟนยุคหนึ่งสู่อีกยุคหนึ่ง ต้องหาคนซัพพอร์ทเป้าหมายของรายการต่อด้วย ผมไม่อยากให้ภาพกระจกเป็นแค่รายการประเภทศิลปวัฒนธรรม เรามีข้อดีที่เราเชี่ยวชาญในด้านนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์มาก เราอยากให้กระจกเป็นสถาบัน เป็นชื่อๆ หนึ่งที่ให้ความน่าเชื่อถือ ที่มีความเก่า แต่ขณะเดียวกันก็ทันสมัยอยู่เสมอ เราอยากเป็นรายการที่พ่อแม่ให้ลูกนั่งดูคนเดียวได้ ไม่ต้องมานั่งว่ารายการนี้เป็นประเภทไหน ไม่ต้องจัดเรต ถึงแม้จะทำรายการต่อไป แต่สิ่งที่เรายังคงไว้ คือ ความตั้งใจดั้งเดิมที่มีคือ ให้สิ่งที่มีประโยชน์ต่อคนดู ไม่ทำสิ่งที่ให้โทษและไม่มีพิษภัย" โอ๊ตกล่าวย้ำ ก่อนที่เอ็ดจะเสริมว่า

 "ผมขอใช้คำเดิมว่า ความรู้คู่คุณธรรม ส่วนรูปแบบมันพลิกแพลงได้ ถ้าเราเดินไปบนกรอบที่เรามีแนวทางที่แน่วแน่ มีกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดนี้ ถ้าสังคมไม่มีความรู้ ก็อยู่ไม่ได้ จริงๆ รัฐบาลน่าจะซัพพอร์ทรายการประเภทนี้ ไม่ใช่เฉพาะรายการกระจกหกด้านเท่านั้น"

 และสิ่งที่ เอ็ต ซึ่งถือเป็นตัวแทนรุ่นลูก บอกทิ้งท้ายย้ำถึง "รายการ" ที่เป็นของคนทุกคนว่า

 "ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ผมไม่คิดว่ารายการจะอยู่ยั้งยืนยงเป็นร้อยปี รายการนี้อาจจะยังอยู่ต่อไปได้ เว็บไซต์อาจกลายเป็นสถาบันหรืออะไรขึ้นมา ต่อไป สื่อออนไลน์อาจจะไปได้ทั่วโลกกว่า แต่ความหมายของกระจกหกด้าน จะยังใหม่เสมอ เป็นกระจกที่สะท้อนสิ่งต่างๆ ไม่มีเก่าไม่มีใหม่"

 เป็นคำทิ้งท้ายที่สรุปความเป็น "กระจกหกด้าน" ในยุค "สืบทอด" ได้อย่างดีทีเดียว

 "พิช" จุฬาพิช มณีวงศ์  ลูกคนโต ที่จบนิเทศศาสตร์  จุฬาฯ แล้วมาต่อ วารสารฯ ที่ ม. ธรรมศาสตร์ ตอนนี้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ทรีไลอ้อนส์ แต่ยังเป็นผู้ สื่อข่าวและผลิตรายการให้สถานีวิทยุกองทัพบก

 คนรองวัย 45 ปี ดร.จุฬิศพงศ์  จุฬารัตน์ หรือ "เอ็ด" คนนี้ชอบเรียน และเรียนเก่งที่สุด ได้รับเกียรตินิยม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  จากเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ต่อด้วยศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 ปัจจุบัน เป็น อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาฝ่ายสร้างสรรค์  บริษัท ทรีไลอ้อนส์ จำกัด  ขยันเรียน และไอเดียบรรเจิด จึงให้รับบท "บุ๋น" ไป

 คนที่ 3 อลงค์กร จุฬารัตน์ หรือ "โอ๊ต" วัย  43 ปี คนนี้ถึงจะเรียนไม่เก่งเท่าพี่ชาย แต่ต้องยกให้เรื่อง "บู๊ " และการตัดสินใจ เรียน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง  ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต เมเจอร์ ทีวีโปรดักชั่น จากนิวยอร์ค อินสติติ๊วท์ ออฟ เทคโนโลยี N.Y.I.T ประเทศสหรัฐอเมริกา เลยรับตำแหน่งเยอะหน่อย เป็นทั้งกรรมการผู้จัดการ  บริษัท ทรีไลอ้อนส์ จำกัด รองผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาด บริษัท ทริลเลี่ยนส์ จำกัด และผู้อำนวยการฝ่ายผลิต รายการ “กระจกหกด้าน”

 มาถึงน้องนุชคนสุดท้อง อรอรีย์ จุฬารัตน์   รำเรียนด้านวิศวกรเสียงจากเบอร์มิงแฮม คอลเลจ ประเทศอังกฤษ  ปัจจุบัน ดูแลWeb & Sound Manager บริษัท ทริลเลี่ยนส์ จำกัด และทำในสิ่งที่ชอบ คือเป็นศิลปินอิสระ

 นันทพร ไวศยะสุวรรณ์
ภาพ วันชัย ไกรศรขจิต

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ