Lifestyle

เมื่อต้องฉายรังสีมะเร็งใบหน้าและลำคอ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เซลล์มะเร็งบริเวณใบหน้าและลำคอมักตอบสนองต่อการฉายรังสีดี

    มะเร็งบริเวณใบหน้าและลำคอไม่ว่าจะเป็นมะเร็งช่องปาก มะเร็งคอหอย มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งโพรงหลังจมูก มักต้องใช้การฉายแสงหรือฉายรังสีในการรักษาอยู่เป็นประจำ เนื่องจากเซลล์มะเร็งของอวัยวะบริเวณนี้มักตอบสนองต่อการฉายรังสีเป็นอย่างดี จัดเป็นการรักษาที่ควบคุมโรคเฉพาะที่ มีทั้งที่ใช้รังสีรักษาเป็นหลัก ไม่มีการรักษาวิธีอื่นร่วมด้วยเรียกว่าเป็นพระเอกแต่เพียงผู้เดียว บางกรณีก็ใช้การฉายแสงก่อนการรักษาวิธีการอื่นหรือฉายแสงไปพร้อมๆ กันเลยหรือฉายแสงหลังเสร็จสิ้นการรักษาด้วยวิธีการอื่น เช่น การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด
   สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสงบริเวณใบหน้าและลำคอต้องทราบ คือการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องทั้งในระหว่างการฉายแสงและภายหลังการฉายแสง ก่อนอื่นต้องมารู้จักภาวะแทรกซ้อนหรือผลที่จะเกิดขึ้นในระหว่างที่ได้รับรังสี ที่พบบ่อยได้แก่ ปากแห้ง ไม่ค่อยมีน้ำลายเหมือนปกติ คอแห้ง เยื่อบุช่องปากและลำคออักเสบ ไม่ค่อยรู้รสชาติอาหาร ผิวหนังบริเวณนั้นมีสีคล้ำขึ้น แห้งเป็นขุย มีอาการคัน เจ็บคอ รู้สึกมีอะไรติดในลำคอ มีอาการไอ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น เพราะฉะนั้นการดูแลผิวหนังบริเวณที่มีการฉายแสงและการดูแลช่องปากและฟัน จึงเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มตั้งแต่การดูแลผิวหนัง ห้ามไปยุ่งเกี่ยวกับเส้นที่ขีดไว้เพื่อเป็นกรอบการฉายแสงบริเวณนั้น ห้ามถูกน้ำบริเวณผิวหนังที่ได้รับการฉายแสงทั้งด้านหน้าและด้านหลังตลอดเวลาที่รักษา ถ้าบังเอิญถูกน้ำให้รีบใช้ผ้านุ่มๆ หรือกระดาษทิชชู่ซับให้แห้งทันที ห้ามใช้เครื่องสำอางต่างๆ ในบริเวณผิวหนังที่ได้รับการฉายแสง รวมถึงยาทา โลชั่น สบู่ แป้ง น้ำหอม โคโลญจ์ สเปรย์หรือโรลออนระงับกลิ่นตัว ห้ามเกา ขัดถู ห้ามใช้กระเป๋าน้ำร้อนหรือน้ำแข็งประคบบริเวณผิวหนังที่ได้รับการฉายแสง ควรใส่เสื้อหลวมๆ เนื้อผ้านุ่มๆ ระบายอากาศได้ดี มีกระดุมผ่าหน้า คอกว้างเพื่อสวมใส่ได้ง่าย ไม่มีปกเพื่อลดการเสียดสีกับผิวหนัง ไม่ควรใส่สร้อยคอ ต่างหู เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองเป็นแผลถลอกได้ หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดเพราะเป็นการเพิ่มการระคายเคือง ควรตัดเล็บมือให้สั้นไว้ตลอด เพื่อลดโอกาสเผลอไปเกาบริเวณผิวหนังที่ได้รับการฉายแสงโดยไม่รู้ตัว พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องปกป้องรักษาผิวหนังบริเวณที่ได้รับการฉายแสงให้อย่างดีที่สุด เพราะถ้าเกิดเป็นแผลบริเวณนั้นขึ้นมา นอกจากแผลจะหายช้าเนื่องจากหลอดเลือดบริเวณนั้นอักเสบแล้ว ยังมีผลทำให้ไม่สามารถให้การฉายแสงอย่างต่อเนื่องได้
    นี่แค่การดูแลผิวหนังบริเวณที่มีการฉายแสงยังมีข้อห้ามข้อควรระวังมากมายขนาดนี้ ยังเหลืออีกเรื่องสำคัญคือการดูแลช่องปากและฟันในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการฉายแสงบริเวณนี้ เอาไว้โอกาสหน้าจะมาเล่าให้ฟังต่อนะครับ

เมื่อต้องฉายรังสีมะเร็งใบหน้าและลำคอ

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ