Lifestyle

‘บ้านคุณพระเจริญฯ’หรือ‘อริยศรมวิลล่า’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ บ้านไม่บาน กับ อาจารย์เชี่ยว

         บ้านไม่บานในสัปดาห์นี้ีมีสาระน่ารู้และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะผมจะพาไปเยี่ยมชมบ้านหลังหนึ่งที่มีอายุกว่า 74 ปี และยังคงมีความงดงามมิเสื่อมคลาย คือ “บ้านคุณพระเจริญวิศวกรรม” ตั้งอยู่สุดซอยสุขุมวิท 1 อยู่ฝั่งด้านทิศใต้ของคลองแสนแสบ เขตวัฒนา ใจกลางกรุงเทพมหานคร  โดยมีสถาปนิกระดับ “ตำนาน” เป็นผู้ออกแบบ นั่นคือ “หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ”  สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2485 (ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 10 ปี) เพื่อเป็นบ้านพักอาศัยของ “คุณพระเจริญวิศวกรรม” (เจริญ เชนะกุล) ขุนนางไทยลูกครึ่งเชื้อสายอังกฤษ หลังจากท่านได้จบการศึกษาจาก “คอร์แนล” ก็กลับมาดำรงตำแหน่ง “คณบดี” คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 27 ปี จนได้รับขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งวิศวกรไทย” 

         หลังจากท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ.2530 บ้านหลังนี้จึงตกแก่ทายาท คือ “นายจุลวัฒน์ เชนะกุล” และต่อมาได้มอบให้บุตรี คือ “นางปริย เชนะกุล”  ซึ่งเป็นภูมิสถาปนิกจบจาก “ฮาร์วาร์ด” มีความประสงค์ที่จะอนุรักษ์บ้านหลังงามนี้ เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่อนุชนคนรุ่นหลังให้ได้ศึกษาเรียนรู้ทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม, วิศวกรรม และภูมิสถาปัตยกรรม ที่ผสมผสานกลมกลืนกันอย่างงดงาม โดยเริ่มทำการปรับปรุง “บ้านคุณพระเจริญฯ” รวมทั้งพื้นที่โดยรอบ (มีขนาด 1 ไร่ครึ่ง) รวมทั้งได้ทำการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมด้านหลัง โดยการก่อสร้างแล้วเสร็จ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2551 ปัจจุบันมีการปรับการใช้งานบางส่วนให้เป็น “บูติคโฮเต็ล” ภายใต้ชื่อใหม่ว่า “อริยศรมวิลล่า” (Ariyasomvilla)  เปิดให้บริการที่พักให้กับนักเดินทางท่องเที่ยว นอกจากนั้นยังเปิดให้มีการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เป็นสาธารณะกุศลอีกด้วยครับ

          ลักษณะของ “บ้านคุณพระเจริญฯ” หลังนี้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 3 ชั้น ถือว่าทันสมัยมากในยุคนั้น โครงสร้างทางวิศวกรรมถูกออกแบบให้เป็นผนังรับน้ำหนัก รูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่าง “เรือนทรงไทยแบบโบราณ” กับ “บ้านไทยร่วมสมัย” โดยมีการประยุกต์ใช้วัสดุและเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่จากตะวันตก ผลจากการผสมผสานดังกล่าวจึงทำให้บ้านหลังนี้มีความโล่งโปร่งเบา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปทรงของหลังคาที่ได้รับการออกแบบให้มี Slope ที่มีความลาดชันสูง ทำให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นที่แดดแรงและฝนตกชุก สามารถระบายน้ำฝนจากหลังคาได้ดี 

         สิ่งที่ประทับใจผมอีกประการคือการออกแบบทรงหลังคาให้ตวัดช่วงปลายจันทันให้โค้งอ่อนช้อยเกิดเป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ นอกจากนั้น ชายคาที่ยื่นยาวยังสามารถป้องกันแดดได้ดี ส่วนพื้นบ้าน ประตูหน้าต่าง ช่องลม ราวบันได และลูกกรงฉลุลาย ล้วนทำจากไม้สักที่มีความงดงามทั้งการออกแบบและด้วยฝีมือช่าง พื้นที่ใช้สอยหลักๆ บริเวณชั้นล่างประกอบด้วยพื้นที่นั่งเล่น (Living Room) และรับประทานอาหารที่ถูกออกแบบให้ “สูงโปร่ง” ขึ้นไป 2 ชั้นในแบบ “Double Volume” ส่วนบริเวณที่จอดรถถูกออกแบบให้สามารถจอดเทียบกับตัวบ้าน มีลักษณะเป็น “Canopy” หรือ “Patio”  ที่มีหลังคาคุ้มแดดคุ้มฝน ส่วนพื้นที่ชั้น 2 ประกอบด้วยห้องนอน 2 ห้อง และชั้นสองครึ่งมีห้องนอน 1 ห้อง ซึ่งลอยอยู่กลางอากาศ รับน้ำหนักโดยค้ำยันไม้ที่ถ่ายแรงลงผนังด้านล่าง พื้นที่ชั้น 3 เป็นห้องพระส่วนตัวของเจ้าของบ้าน ซึ่งปรับเปลี่ยนมาจากห้องนอนเดิมของ “คุณพระเจริญวิศวกรรม”  

         ในความเห็นของผมแล้ว “บ้านคุณพระเจริญฯ” ที่ได้รับการออกแบบโดย “สถาปนิก” ชั้นครู คือ “หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ” นั้น มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นเสมือน “การเปลี่ยนถ่าย” จากบ้านของชนชาว “สยาม” แต่โบราณ ที่มีลักษณะเป็น “เรือนไทย”  ยกพื้นสูง (ซึ่งอาจจะเป็น “เรือนเครื่องผูก”  หรือ “เรือนเครื่องสับ”) ที่นิยมใช้ไม้เข้าเดือย “หางเหยี่ยว” หรือ “สลัก”(ไม่ใช้ตะปู) ทำให้สามารถถอดประกอบได้เคลื่อนย้ายได้และก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว เป็นกระบวนการคลี่คลายกลายเป็นบ้านแบบ “ก่ออิฐถือปูน” ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วง “รอยต่อ” ที่สำคัญยิ่งของการพัฒนารูปแบบของอาคารบ้านเรือนที่นำไปสู่วัฒนธรรมการอยู่อาศัยในรูปแบบใหม่ 

         รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการก่อสร้างที่เกิดขึ้นในช่วง “รัชกาลที่ 6” ถึง “รัชกาลที่ 8” จะเห็นได้ว่าในช่วงนั้นเทคโนโลยี “คอนกรีตเสริมเหล็ก” เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (โรงงานผลิตปูนซีเมนต์เริ่มสร้างขึ้นใน “สยาม” ประเทศครั้งแรก ในสมัย “รัชกาลที่ 6”) และที่น่าทึ่งคือ “สถาปนิก” ผู้ออกแบบ ถึงแม้ท่านจะได้รับการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมโดยตรงจาก “อังกฤษ”  แต่พอกลับมาบ้านเกิด ก็นำเอาความรู้และศิลปะวิทยาการที่ได้ร่ำเรียนมาปรับประยุกต์ใช้ในการออกแบบ “บ้านคุณพระเจริญฯ”  ให้มี “บริบท” ที่เหมาะสมกับ “สภาพภูมิอากาศร้อนชื้น” ได้เป็นอย่างดีเยี่ยม มีการออกแบบให้มีระบบระบาย อากาศ (Cross Ventilation) ได้อย่างทั่วถึง 

         จะเห็นได้ว่าแต่ละชั้นของบ้านถูกออกแบบให้มีระดับเพดานที่สูง ทำให้ไม่อับชื้น มีแสงสว่างเพียงพอ ส่วนตัวบ้านก็มีชายคาที่ยื่นยาวช่วยกันแดดและฝน ทั้งยังมีรูปลักษณ์ที่สวยงามสะดุดตา จึงถือว่าเป็น “งานครู” ที่ถึงพร้อมในทุก “มิติ” ควรจะได้รับการเผยแพร่และให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าให้ลึกลงไปในรายละเอียด เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้นในการออกแบบอาคารบ้านเรือนในเขตสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น (Tropical Climate) ซึ่ง “สถาปนิก” ผู้ออกแบบจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจระบบระบายอากาศแบบ “Stack Ventilation” เป็นอย่างดี เพราะในยุคนั้น (พ.ศ.2485) เครื่องใช้ไฟฟ้าและบรรดาสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เครื่องปรับอากาศ,พัดลมดูดอากาศ ฯลฯ ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ทำให้การออกแบบบ้านในอดีตนอกจากการออกแบบที่งดงามทางด้านสถาปัตยกรรม, ความแข็งแรงทางด้านวิศวกรรมแล้ว จึงต้องการความรู้ความเข้าใจในเรื่องสภาวะแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น (Tropical Climate) เป็นอย่างยิ่งครับ

         ดังนั้น จะเห็นว่าการที่จะออกแบบบ้านดีๆ สักหลังที่นอกจากจะต้องเป็นบ้านที่อยู่เย็นเป็นสุขแล้ว ยังต้องสามารถยืนยงคงอยู่อย่างงดงามและสง่างามได้หลายสิบปีที่ยังดูดีและทันสมัยนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยครับ และต้องการทั้งความเข้าใจและการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง ในสัปดาห์นี้มีสาระน่ารู้เพียงแค่นี้ พบกันได้ใหม่ในอีกสองสัปดาห์หน้าครับ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ