Lifestyle

เจาะแผนฟื้นฟูพัฒนา 'บึงบอระเพ็ด'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เจาะแผนฟื้นฟูพัฒนา 'บึงบอระเพ็ด' สร้าง 'แก้มลิง' - น้ำต้นทุนภาคเกษตร : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 
                    ผลจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์ และ จ.ชัยนาท เมื่อวันที่ 22 มกราคม  ที่ผ่านมา เพื่อติดตามการเตรียมการ และการดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้ง 8 มาตรการของรัฐบาล พร้อมร่วมประชุมกับคณะกรรมการ กรอ.ส่วนกลาง และคณะกรรมการ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี) จนได้ข้อสรุปเพื่อเสนอให้รัฐบาลดำเนินการ 4 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือการฟื้นฟูและพัฒนาบึงบอระเพ็ดอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ และการท่องเที่ยว โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการ และกำหนดแนวทางฟื้นฟูและพัฒนาโดยคำนึงถึงหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน  
 
 
เจาะแผนฟื้นฟูพัฒนา \'บึงบอระเพ็ด\'
 
 
                    “ต้องยอมรับว่าปัจจุบันปัญหาของบึงบอระเพ็ดมีหลากหลายปัจจัยที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกครอบครองพื้นที่บึง การเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ การตื้นเขินของน้ำที่ถูกทับถมของตะกอน การลักลอบจับสัตว์น้ำและนกน้ำ การตัดไม้ทำลายป่า ตลอดจนปัญหาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด ฉะนั้นแนวทางการฟื้นฟูและพัฒนาจะต้องได้รับการร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันบึงบอระเพ็ดมีพื้นที่น้ำเพียง 32,285 ไร่เท่านั้น จากพื้นที่ทั้งหมด 132,737 ไร่ 56 ตารางวาตามประกาศในพระราชกฤษฎีกา 2480 ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 อำเภอของ จ.นครสวรรค์ คือเมือง ชุมแสงและท่าตะโก”
 
                    ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางลงพื้นที่ดูความคืบหน้าของโครงการ พร้อมทั้งยอมรับว่าปัจจุบันบึงบอระเพ็ดอยู่ในสภาพตื้นเขินจากการบุกรุกพื้นที่และทำกินของชาวบ้าน ประกอบกับภัยแล้งทำให้ปริมาณน้ำในเดือนเมษายน 2559 นี้มีไม่เกิน 10 ล้านลบ.ม. จากความจุที่ระดับเก็บกักปกติ 180 ล้านลบ.ม. (สันฝายประมง)+24 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง  ซึ่งจากการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการฟื้นฟูและพัฒนาบึงบอระเพ็ดครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ เป็นประธาน มีมติให้ดำเนินการในระยะเร่งด่วนปี 2559 โดยขุดลอกตะกอนดินต่อเนื่องจากพื้นที่เดิมที่เคยขุดลอกในปี 2555 มีเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่ ปริมาณดินตะกอน 2 ล้านลบ.ม. โดยมอบหมายให้กรมชลประทาน กองทัพบกและหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาดำเนินการ โดยดินตะกอนที่ขุดขึ้นมาจะนำไปสร้างแนวคันกั้นพื้นที่เพื่อกำหนดแนวเขตรอบโครงการ
 
 
เจาะแผนฟื้นฟูพัฒนา \'บึงบอระเพ็ด\'
 
 
                    “สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้คือการขุดลอกตะกอนดินบริเวณทางน้ำออกประมาณ 1,000 ไร่ เพื่อเพิ่มความจุของน้ำประมาณ 2 ล้านลบ.ม. สำรองใช้เพื่อการบริโภคอุปโภคในช่วงวิกฤติและในสถานการณ์ปกติใช้เป็นแหล่งบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำและการท่องเที่ยว  สำหรับน้ำในบึงมาจาก 2 ส่วนคือไหลมาจากพื้นที่รอบบึงและจากแม่น้ำน่าน น้ำตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 60 ล้านลบ.ม.ในพื้นที่ 1 หมื่นกว่าไร่ เท่านั้น ก่อนถึงฤดูฝนจะต้องหาทางขยายพื้นที่เก็บน้ำให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้” รองอธิบดีกรมชลประทานแจง พร้อมย้ำว่า ส่วนในระยะต่อไปให้ปรับระดับฝายน้ำล้นบริเวณคลองบางปองจาก + 24 เมตร เป็น +25 เมตร ที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งจะสามารถเพิ่มความจุจาก 180 ล้านลบ.ม. เป็น 318 ล้านลบ.ม. พร้อมกับการขุดลอกตะกอนดินปริมาณ 5 แสนลบ.ม. ตามแผนประจำปีของกรมประมง ในฐานะเจ้าของพื้นที่รับผิดชอบ ขณะเดียวกัน การดำเนินการทั้งหมดจะต้องทำควบคู่กับการพิสูจน์สิทธิ์โดยกรมธนารักษ์ร่วมกับกรมประมง กรมที่ดิน จ.นครสวรรค์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการ โดยอยู่บนพื้นฐานและทำความเข้าใจพิจารณาหาทางออกร่วมกันกับราษฎรผู้บุกรุกพื้นที่  จากนั้นการใช้กรอบแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาด้านต่างๆ ภายในลุ่มน้ำบึงบอระเพ็ดให้เป็นไปตามผลการศึกษาของกรมชลประทานเมื่อปี 2557 
 
                    หากแนวทางการฟื้นฟูและพัฒนาบึงบอระเพ็ดเป็นไปตามแนวทางดังกล่าว นอกจากจะใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงเก็บกักน้ำในช่วงน้ำหลากแล้ว ยังใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนที่สำคัญเพื่อใช้ในภาคเกษตร การอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้งและยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอีกด้วย
 
 
 
------------------
 
(เจาะแผนฟื้นฟูพัฒนา 'บึงบอระเพ็ด' สร้าง 'แก้มลิง' - น้ำต้นทุนภาคเกษตร : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ