Lifestyle

'ซีพีไอ อะโกรเทค' ส่ง 'ปาล์มพันธุ์ดี' สู่แปลงเกษตรกร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ท่องโลกเกษตร : แวะแปลงสาขา 'ซีพีไอ อะโกรเทค' ส่ง 'ปาล์มพันธุ์ดี' สู่แปลงเกษตรกร : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 
                    นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นสำหรับบริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด หลังประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ปาล์มน้ำมัน จนได้พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ทนแล้ง ให้ผลผลิตและเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงต่อเนื่องตลอดทั้งปี ภายใต้ชื่อพันธุ์ทางการค้าว่า “ซีพีไอ ไฮบริด” มาตั้งแต่ปี 2554 จนปัจจุบันจำเป็นต้องขยายสาขาแปลงเพาะกล้าพันธุ์ปาล์มเพื่อให้ทันกับความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ในรูปแบบของแฟรนไชส์ ล่าสุดมีการเปิดตัวแปลงเพาะปาล์มดีลีลาที่ จ.ระยอง แปลงเพาะดีดีพันธุ์ที่ระนอง และแปลงเพาะพีทูเค(P2K)พันธุ์ปาล์มที่พังงา และในปีนี้(2559)บริษัทเตรียมโครงการขยายสาขาแปลงเพาะเพิ่มในอีกหลายจังหวัดในพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน อาทิ สระแก้ว กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และสตูล 
 
                    “ท่องโลกเกษตร” ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมแปลงเพาะกล้าปาล์มน้ำมันสายพันธุ์ “ซีพีไอ ไฮบริด” ซึ่งเป็นแฟรนไชส์ของบริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด ภายใต้ชื่อ ปาล์มดีลีลา ตั้งอยู่ริมถนนสายบ้านบึง-ปลวกแดง(ใกล้นิคมอุตสาหกรรมเหมราช) ต.ละหาร อ.ปลวกแดง จ.ระยอง โดยมี พิบูลนนท์ ปานะพรหมพัฒน์ เป็นเจ้าของ เป็นแปลงเพาะสาขาแห่งเดียวใน จ.ระยองทำการผลิตและจำหน่ายกล้าปาล์มให้แก่เกษตรกรที่สนใจในพื้นที่ จ.ระยอง และโซนภาคตะวันออกทั้งหมด โดยจะสั่งเมล็ดปาล์มน้ำมันจากบริษัทแม่ ซีพีไอ อะโกรเทค มาเพาะชำประมาณ 3-8 เดือนก่อนส่งมอบกล้าพันธุ์ให้แก่ลูกค้า สนใจโทร.08-1939-5818 
 
 
'ซีพีไอ อะโกรเทค' ส่ง 'ปาล์มพันธุ์ดี' สู่แปลงเกษตรกร
 
 
                    ทันทีที่ไปถึงแปลง เราได้รับการต้อนรับอย่างดีจากผู้บริหารซีพีไอ อะโกรเทค “โกศล นันทิลีพงศ์” พร้อมทีมงาน ก่อนนำพาเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ของบริษัท ตลอดจนความก้าวหน้าของงานวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ปาล์ม พร้อมกับการพูดคุยกับเจ้าของแปลงสาขา “ปาล์มดีลีลา” พิบูลนนท์ ปานะพรหมพัฒน์ ถึงความมั่นใจในการก้าวมาทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายพันธุ์ปาล์มทั้งในปัจจุบันและอนาคต หลังจากประสบความสำเร็จในธุรกิจทำสวนกล้วยไม้ส่งออก โดยเขามองว่าปาล์มเป็นพืชที่มีอนาคตมากกว่าพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ซึ่งเป็นทั้งพืชอาหารและพืชพลังงาน สามารถปลูกได้ในเกือบทุกพื้นที่ในเขตร้อนชื้น ที่สำคัญยังเป็นสายพันธุ์ที่ทนแล้งอีกด้วย          
 
                    “จุดเด่นของซีพีไอ ไฮบริด คือทนแล้งได้ดี ซึ่งหมายความว่าในสภาพอากาศที่แห้งแล้งนานกว่า 3 เดือนยังสามารถพัฒนาเป็นช่อดอกตัวเมียได้มากกว่า 80% และเมื่อได้รับน้ำก็สามารถพัฒนาเป็นผลได้ทันที จึงทำให้ได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอเฉลี่ย 5-6 ตันต่อไร่ต่อปี และมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันมากกว่า 25%” บอสใหญ่ ซีพีไอ อะโกรเทค กล่าวเสริม
 
 
'ซีพีไอ อะโกรเทค' ส่ง 'ปาล์มพันธุ์ดี' สู่แปลงเกษตรกร
 
 
                    ปัจจุบันซีพีไอ อะโกรเทค สามารถผลิตและจำหน่ายกล้าพันธุ์ซีพีไอ ไฮบริด ให้แก่เกษตรกรได้มากกว่า 2 ล้านกล้าต่อปีมาตั้งแต่ปี 2554 จวบจนปัจจุบันได้รับความสนใจจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทต้องหาช่องทางบริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดยผ่านตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งบริษัทได้ทำการคัดเลือกตัวแทนจากผู้สนใจในพื้นที่ มีทำเล หน้าร้านที่ดี โดยบริษัทจะจัดส่งกล้าปาล์มพร้อมปลูกไปวางจำหน่าย มีการกำหนดการขาย ผลกำไร ตลอดจนเงื่อนไขการชำระเงินที่สร้างให้ตัวแทนสามารถดำเนินธุรกิจที่มีผลกำไรได้เป็นอย่างดี และเกษตรกรก็ได้กล้าพันธุ์ปาล์มที่มีคุณภาพ 
 
                    จากนั้นทั้งหมดออกเดินทางสู่ของเกษตรกรใน ต.หนองใหญ่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นแปลงของ นิคม แซ่จิง เกษตรกรวัย 50 เศษ เจ้าของสวนปาล์มน้ำมันรายใหญ่ในพื้นที่ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันกว่า 250 ไร่ที่เป็นของตัวเองและเช่าพื้นที่แบ่งปันผลผลิตอีกกว่า 1,000 ไร่ที่มีการทดลองปลูกหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์สุราษฎร์5 ฮูติ โกลเด้นเทอเนร่า คอมแพ็ค แต่ก็มาลงตัวที่ซีพีไอ ไฮบริด เนื่องจากพบว่าเป็นปาล์มที่ทนแล้งได้ดีและให้ผลผลิตสูง เหมาะกับพื้นที่บริเวณนี้มากกว่าพันธุ์อื่น ซึ่งขณะนี้กำลังเริ่มให้ผลผลิตแล้ว หลังปลูกมาได้เพียง 3 ปีเศษ
 
 
'ซีพีไอ อะโกรเทค' ส่ง 'ปาล์มพันธุ์ดี' สู่แปลงเกษตรกร
 
 
                    นิคมเล่าว่า เมื่อก่อนมีอาชีพปลูกอ้อย ทำไร่มันสำปะหลัง แต่มีปัญหาเรื่องราคาที่ไม่แน่นอน จึงหันมาทดลองปลูกปาล์มน้ำมันเมื่อปี 46 โดยเริ่มจากพื้นที่ 70 ไร่ที่ได้รับมรดกมาจากครอบครัว จากนั้นก็เลือกใช้พันธุ์ปาล์มในทุกสายพันธุ์ที่เขาบอกว่าดี รวมถึงพันธุ์ซีพีไอ ไฮบริดด้วยเพื่อทดลองปลูกเป็นครั้งแรกเนื่องจากไม่มีความรู้เรื่องพืชเศรษฐกิจชนิดนี้มาก่อน โดยการจัดการแปลงปลูกจะแบ่งเป็นโซนๆ ตามสายพันธุ์ เพื่อเป็นการทดลองวิจัยไปด้วยในคราวเดียวกันเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นพันธุ์ดีตามที่โฆษณาไว้หรือไม่ ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งพืชเดิมคืออ้อยและมันสำปะหลังยังคงปลูกเช่นเดิมเพื่อมีรายได้เลี้ยงครอบครัวระหว่างที่ปาล์มน้ำมันยังไม่ให้ผลผลิต 
 
                    “ต้นปาล์มประมาณ 5 ปีก็พอจะบอกได้ว่าพันธุ์ไหนดีกว่ากัน อย่างพันธุ์ซีพีไอ ไฮบริดนั้นดีตรงที่ทนแล้งได้ดี ให้ผลผลิตดกมาก 3 ปีก็ให้ผลผลิตแล้ว แต่ปัญหาไม่มีเจ้าหน้าที่มาคอยดูแลแนะนำ เพราะเมื่อก่อนนั้นยังไม่มีแปลงเพาะสาขาเหมือนทุกวันนี้ ต้องสั่งกล้าพันธุ์ปาล์มมาจากชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งเพาะกล้าของบริษัทแม่ เมื่อมีแปลงเพาะสาขามาอยู่ใกล้ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง ก็น่าจะเป็นปาล์มอีกสายพันธุ์ที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกร เพราะขณะนี้มีหลายพื้นที่เริ่มจะโค่นยางพาราหันมาปลูกปาล์มกันแล้ว” เกษตรกรเจ้าของสวนปาล์มรายเดิมให้ความเห็นทิ้งท้าย
 
                    นี่เป็นส่วนหนึ่งในการติดตามเยี่ยมชมแนวทางการขยายธุรกิจของซีพีไอ อะโกรเทค ในรูปแบบของแฟรนไชส์เปิดเแปลงเพาะสาขาในภาคตะวันออกเพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ที่สนใจปลูกปาล์มน้ำมันสายพันธุ์ซีพีไอ ไฮบริด นั่นเอง
 
 
 
--------------------
 
(ท่องโลกเกษตร : แวะแปลงสาขา 'ซีพีไอ อะโกรเทค' ส่ง 'ปาล์มพันธุ์ดี' สู่แปลงเกษตรกร : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ