Lifestyle

ทีมสัตวแพทย์ม.เกษตรฯสำเร็จผ่าตัดหัวใจม้าครั้งแรกในเอเชีย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทีมสัตวแพทย์ม.เกษตรฯสำเร็จผ่าตัดหัวใจม้าครั้งแรกในเอเชีย : โดย... ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์

 
          นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและในเอเชียที่ทีมสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) สามารถรักษาโรคหัวใจในม้าด้วยการผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวรจนประสบความสำเร็จ มีอาการปกติ ทั้งนี้ได้รับการยืนยันจาก ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ ว่าจากกที่ มก. ได้มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนและสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อชี้นำสังคม และสาขาวิชาที่เข้มแข็งได้แก่ การเกษตร สิ่งแวดล้อม สัตวแพทย์ วิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ โดยเฉพาะสาขาสัตวแพทย์ มก.มีความโดดเด่นมากเป็นอย่างมาก
 
          ล่าสุดโรงพยาบาลสัตว์กำแพงแสน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มก. ประสบความสำเร็จผ่าตัดหัวใจม้า ซึ่งเป็นการรักษาม้าด้วยการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ หรือ “Pacemaker” นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชียที่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าในการรักษาโรคหัวใจในม้า และเป็นประโยชน์ในการเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่เพื่อใช้รักษาโรคหัวใจในม้าต่อไป และความสำเร็จในครั้งนี้จะเป็นก้าวต่อไปที่ มก.จะพัฒนาวิธีการรักษาสัตว์อื่นๆ ให้ดียิ่งขึ้น
 
          ด้าน ศ.นสพ.ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรม้ากว่า 2 หมื่นตัว ซึ่งความสำเร็จในการรักษาม้าด้วยเครื่องกระตุ้นหัวใจครั้งนี้ ขอยืนยันว่าความสำเร็จในครั้งนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชีย ต่อไปจะเป็นการบริการที่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์ที่จะได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันอาจารย์ นิสิต และบุคลากร ก็ได้รับประโยชน์ในการต่อยอดงานวิจัย ส่วนค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดม้าในครั้งนี้อยู่ที่ 2 แสนบาท ขณะที่ประเทศอังกฤษต้องเสียค่าใช้จ่าย 2 หมื่นปอนด์ หรือ 1 ล้านบาท
 
          สำหรับทีมสัตวแพทย์ มก.ที่ผ่าตัดหัวใจม้าในครั้งนี้ นำโดย อ.สพญ.ดร.สุนทรี เพ็ชรดี ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า และทีมงาน ประกอบด้วย ผศ.นสพ.ดร.วรกิจ เชิดชูธรรม, อ.นสพ.เมธา จันดา, สพญ.รติกร บุตรชา และนสพ.วันชาติ ยิบประดิษฐ์ ผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดถาวรในม้าเพศผู้สายพันธุ์ Warmblood ชื่อไทเกอร์ อายุ 18 ปี น้ำหนัก 530 กก. ซึ่งถูกนำเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน มีอาการอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้าผิดปกติ อ่อนเพลียเรื้อรัง ออกกำลังกายไม่เต็มที่ เมื่อวินิจฉัยโดยใช้เครื่องมือตรวจหัวใจพบว่ามีความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจห้องบน แบบกระจัดกระจาย หัวใจเต้นช้าผิดปกติ และมีจังหวะหยุดของหัวใจนานเกินกว่า 6 วินาที ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจล้มเหลวได้
 
          ทีมสัตวแพทย์ได้ผ่าตัดเพื่อสอดสายกระตุ้นผ่านทางหลอดเลือดดำส่วนปลายด้านขวาและสอดแบตเตอรี่ไว้ใต้ผิวหนังบริเวณร่องหน้าอกของม้าด้านขวา เพื่อรักษาความผิดปกติในการเต้นของหัวใจให้ม้า หลังการผ่าตัดพบว่าม้ามีอาการหน้าด้านขวาบวมจึงให้ยาเพื่อควบคุมการอักเสบเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นก็ไม่พบอาการดังกล่าว ม้าฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้ดี หลังการผ่าตัดใส่ pacemaker ได้ 30 วัน พบว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อน การทำงานของหัวใจดีขึ้นส่งผลให้ม้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ขณะที่ สพญ.ดร.สุนทรี กล่าวว่า ทีมคณะแพทย์ได้ผ่าตัดม้าเพศผู้ ซึ่งเป็นม้ากีฬาประเภทกระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง ใช้เวลาผ่าตัดนาน 3 ชั่วโมง ซึ่งผลการผ่าตัดประสบความสำเร็จด้วยดี และหลังการติดตามผลการผ่าตัด 30 วัน พบว่าม้าฟื้นตัวดีและมีจังหวะการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอ หลังจากนี้จะวางแผนการรักษาต่อเพื่อให้ม้าสามารถลงแข่งขันได้อีกครั้ง
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ