Lifestyle

หาวิธีลดต้นทุนผ่านเทคโนฯ 'ปุ๋ยสั่งตัด'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ท่องโลกเกษตร : สภาวิจัยผนึกเครือข่ายช่วยชาวนาไทย หาวิธีลดต้นทุนผ่านเทคโนฯ 'ปุ๋ยสั่งตัด' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 
                    เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” เป็นอีกทางรอดของเกษตรกรในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวที่กลุ่มภาคีเครือข่ายเจ้าพระยา-ป่าสัก ทำสำเร็จมาแล้ว ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อย่างสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) สโมสรโรตารีและมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน โดยมีทีมสุดยอดนักวิชาการด้านปฐพีของเมืองไทย ได้แก่ ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ดร.รุ่งโรจน์ พิทักษ์ด่านธรรม จากภาควิชาปฐพี คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน และแกนนำเครือข่ายลุมเจ้าพระยา-ป่าสัก อย่างผู้ใหญ่ร่ม วรรณประเสริฐ ถือเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการถ่ายทอดเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ในพื้นที่นาข้าวทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ (ยกเว้นภาคใต้) โดยจัดตั้งเป็นโครงการคลินิกดิน ปุ๋ยสั่งตัด รวมทั้งสิ้น 36 แห่งใน 14 จังหวัดทั่วไทยเพื่อให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน แนะนำปุ๋ยและจำหน่ายแม่ปุ๋ยเพื่อแก้ปัญหาทั้งปุ๋ยปลอม ปุ๋ยแพงและการใช้ปุ๋ยผิด
 
                    “ท่องโลกเกษตร” ตามคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำโดยรองเลขาธิการรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) “สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ” ลงพื้นที่จัดเวทีคลินิกดินสรุปบทเรียนการขยายผลถ่ายทอดเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” สู่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ณ อบต.โคกสะอาด อ.หนองแซง จ.สระบุรี  ทันทีที่ไปถึงบริเวณงานคลาคล่ำไปด้วยเกษตรกรจากทั่วสารทิศที่เป็นสมาชิกภาคีเครือข่ายคลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” จัดรวมพลครั้งใหญ่กว่า 300 ราย ทำให้พื้นที่บริเวณด้านหน้าที่ทำการ อบต.โคกสะอาด แคบไปถนัดตา 
 
                    ต่อมาเวลาประมาณ 09.30 น. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีได้เดินทางมาถึงโดยมีผู้ว่าฯ สระบุรี วิเชียร พุฒิวิญญู กล่าวต้อนรับ จากนั้นสุกัญญากล่าวรายงานการขยายผลถ่ายทอดเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดในช่วงที่ผ่านมา หลังจากที่ วช.ได้สนับสนุนมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชนดำเนินโครงการคลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” มาตั้งแต่ปี 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งคลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” จังหวัดละ 5 แห่งในพื้นที่ จ.เชียงราย พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี ให้เป็นแหล่งการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One Stop Service) ทั้งการวิเคราะห์ดิน การแนะนำปุ๋ยและการจำหน่ายแม่ปุ๋ยเพื่อแก้ปัญหาปุ๋ยปลอม ปุ๋ยแพงและใช้ปุ๋ยผิดและยังเป็นการปฏิรูปการใช้ปุ๋ยโดยเกษตรกรเพื่อเกษตรกรสร้างการเรียนรู้ในการลดต้นทุนการผลิตข้าวอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งคลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปแล้วทั้งสิ้น 16 แห่ง ได้แก่ สระบุรี 5 แห่ง พระนครศรีอยุธยา 5 แห่ง และเชียงราย 6 แห่ง และทั้ง 16 แห่งสามารถช่วยลดค่าปุ๋ยลงเฉลี่ยร้อยละ 39 ลดยาฆ่าแมลงเฉลี่ยร้อยละ 74 ขณะที่ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 14
 
                    จากนั้นประธานในพิธีได้กล่าวเปิดการเสวนา ความตอนหนึ่งว่าปุ๋ยสั่งตัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตให้แก่ชาวนา ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บูรณาการดำเนินการอย่างเร่งด่วนพร้อมกับการวางกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศในระยะยาว 20 ปี โดยแบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 12 กลุ่มงานดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อนำผลงานวิจัยมใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
 
                    “ที่ผ่านมาพี่น้องเกษตรใช้ปุ๋ยแพงรัฐบาลเข้าใจ แต่ก็พยายามหาทางช่วยผ่านทางหน่วยงานต่างๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จังหวัด อบต.ต้องมาดูว่าดินของเราที่ผ่านการปลูกพืชมาหลายสิบปีนั้นปัจจุบันมันมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไรในการที่จะปลูกพืชอย่างไร ต้องการที่จะใส่ปุ๋ยส่วนใดมาเพิ่มเติมบ้าง ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ศัตรูพืช แมลงเข้ามากัดกิน เรื่องของผลผลิตทำให้อย่างไรให้เพิ่มขึ้น การนำปุ๋ยสั่งตัดเข้ามาใช้ก็จะช่วยในการลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายลงเพิ่มผลผลิตแล้วก็มีรายได้มากขึ้น ซึ่งเราจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของดินมากขึ้น เพราะเรามีคลินิกดิน เรามีปราชญ์ชาวบ้าน เรามีหมอดินที่มีความรู้เข้ามาช่วยดูในเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าการเสนาวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรมากขึ้น” พล.อ.อ.ประจิน กล่าวย้ำ
 
                    หลังประธานกล่าวเสร็จก็มีการเปิดเวทีเสวนาผลจากการใช้ปุ๋ยสั่งตัด โดยวิทยากรที่พูดเป็นแกนนำเกษตรกรจากภูมิภาคต่างๆ อาทิ ผู้ใหญ่ร่ม วรรณประเสร็ฐ ประธานเครือข่ายลุ่มเจ้าพระยา-ป่าสัก สนธยา ปรีสุทธิผล เกษตรกรจาก จ.พระนครศรีอยุธยา สมพงศ์ ตานัง เกษตรกรจาก จ.เชียงราย ประสิทธิ แก้วโพธิ์งาม เกษตรกรใน อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ผู้คิดค้นเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด โดยมี ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน เป็นผู้ดำเนินการเสวนาและยิงคำถามเดียวกันให้ทุกคนตอบถึงวิธีการใช้ปุ๋ยในนาข้าวก่อนและหลังการใช้ปุ๋ยสั่งตัด พร้อมทั้งการสร้างเครือข่ายในชุมชนว่าเป็นอย่างไร
 
                    สนธยา ปรีสุทธิผล เกษตรกรจาก จ.พระนครศรีอยุธยา บอกว่า เดิมใช้ปุ๋ยตามร้านค้าทั่วไปใช้ไปเฉลี่ย 35-45 กิโลกรัมต่อไร่ต่อฤดูกาลผลิต ต่อมาเมื่อมารู้จักคลินิกดินก็เริ่มจากทดลองทำเป็นแปลงเล็กก่อน ไม่กล้าทำแปลงใหญ่เพราะความเคยชินที่ผ่านมา เห็นข้าวไม่งามก็ใส่ปุ๋ยซ้ำอย่างเดียว เมื่อใส่มากๆ ก็เกิดโรคระบาด แก้ปัญหาโดยการฉีดยาฆ่าแมลง แต่เมื่อมารู้จักปุ๋ยสั่งตัดก็ได้นำดินไปตรวจวิเคราะห์โดยมีเจ้าหน้าที่มาแนะนำให้ใช้ปุ๋ยตามผลวิเคราะห์ดินทำให้การใช้ปุ๋ยลดปุ๋ยลงมามาก ผลผลิตก็เพิ่มขึ้นด้วย
 
                    “ตอนนี้แปลงนาของผมใส่ปุ๋ยสั่งตัดเกือบหมดแล้วกำลังขยายผลไปสู่แปลงของญาติๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง” สนธยา กล่าว 
 
                    ขณะที่ผู้ใหญ่ร่ม วรรณประเสริฐ ประธานเครือข่ายลุ่มเจ้าพระยา-ป่าสัก บอกว่า ก่อนจะมาใช้ปุ๋ยสั่งตัดก็ได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรทำนาอยู่แล้ว รวมตัวกันซื้อปุ๋ยเฉพาะนาปีมีสมาชิก 89 รายมีพื้นที่ประมาณ 3,400 ไร่ มีค่าใช้จ่ายซื้อแม่ปุ๋ยประมาณ 1.7 ล้านบาท แต่หลังมาใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดมีการตรวจวิเคราะห์ดิน ทำให้ค่าปุ๋ยลดลงเหลืออยู่ที่ 5.4 แสนบาท ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้มากกว่า 50% พร้อมเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาลองใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดในนาข้าว เพราะจะช่วยลดต้นทุนได้มากทีเดียว ในสภาวะราคาข้าวและราคาปุ๋ยกลับสวนทางกัน   
 
                    นับเป็นการรวมพลครั้งใหญ่ของเกษตรกรชาวนาอีกครั้งในการพบปะผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญดินและปุ๋ยของเมืองไทยเพื่อร่วมกันหาทางออกในลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตด้วยการนำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
 
 
 
 
----------------------
 
(ท่องโลกเกษตร : สภาวิจัยผนึกเครือข่ายช่วยชาวนาไทย หาวิธีลดต้นทุนผ่านเทคโนฯ 'ปุ๋ยสั่งตัด' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ