Lifestyle

'ชาตรามือ' มุ่งขยายตลาด เสริมแกร่งรัฐพัฒนาสินค้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำมาหากิน : 'ชาตรามือ' มุ่งขยายตลาด เสริมแกร่งรัฐพัฒนาสินค้า : โดย...ธานี กุลแพทย์

 
                    ผลิตภัณฑ์ชาไทยภายใต้ แบรนด์ “ชาตรามือ” มาจากวิสัยทัศน์ของนายดิฐพงศ์ เรืองฤทธิเดช ผู้ก่อตั้งโรงงานใบชาสยามเมื่อปี 2537 ด้วยทุนจดทะเบียน 6.3 ล้านบาท ดำเนินกิจการรับซื้อใบชาจากเกษตรกรมุ่งผลิตชาดีมีคุณภาพ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการจำหน่ายในประเทศ 60% และส่งออกต่างประเทศ 40%
 
                    นายดิฐพงศ์ เรืองฤทธิเดช กรรมการผู้จัดการโรงงานใบชาสยาม เล่าว่า ก่อนตั้งโรงงานได้นำเข้าใบชาจากต่างประเทศ เพราะขณะนั้นชาไทยคุณภาพยังด้อยและขาดการพัฒนา ต่อมาเมื่อตั้งโรงงานรับซื้อใบชาขึ้นที่ ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จึงผลิตเป็นแบรนด์ “ตรามือ” มีสินค้าหลัก ประกอบด้วย ชาแดง ชาเขียว ชาอู่หลง พร้อมพัฒนาคุณภาพในทุกๆ ด้าน
 
                    การเลือกทำเลตั้งโรงงานที่ ต.เวียงกาหลง นายดิฐพงศ์ บอกว่า เนื่องจากจะได้ใบชาสดจากตัวแทนที่รับซื้อกว่า 10 ราย ซึ่งอยู่ใน อ.เวียงป่าเป้า และดอยวาวี ทำให้สะดวกต่อการตรวจสอบความชื้น ตรวจสอบเศษสิ่งปลอมปน ตรวจสอบคุณภาพการผลิต ขณะเดียวกันก็จัดตั้งระบบ จีเอ็มพี, เอชเอซีซีพี ขึ้นในโรงงาน
 
                    ปัจจุบันโรงงานใบชาสยาม มีผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย คือชาแดง ชาเขียว ชาอู่หลง โดยแบ่งเป็นชาปรุงสำเร็จ 40% ชาเขียวปรุงสำเร็จ 40% ผลิตภัณฑ์อื่นๆ 20% สัดส่วนจำหน่ายในประเทศ 60% และส่งออกต่างประเทศ 40% อาทิ กลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา
 
                    “เราทำการตลาดเชิงรุก ทั้งจัดโปรโมชั่น เสนอสินค้าผ่านเว็บไซต์ www.cha-thai.com ซึ่งเป็นหน้าที่ทีมงานทางกรุงเทพฯ ส่วนโรงงานผลิตตามคำสั่งซื้อโดยใช้แรงงานในพื้นที่ควบคุมกระบวนการผลิตทั้งหมด ตั้งแต่รับวัตถุดิบ การผลิต บรรจุ”
 
                    เพื่อเป็นการพัฒนาใบชาแบรนด์ “ตรามือ” ให้ได้คุณภาพมาตรฐานตลาดทั้งในและต่างประเทศ ปี 2557 โรงงานใบชาสยาม จึงเข้าร่วมโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (One Province One Agro-Industrial Product) OPOAI กระทรวงอุตสาหกรรม ใน 2 แผนงาน คือแผนที่ 1 การบริหารจัดการโลจิสติกส์ และแผนที่ 2 การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน
 
                    โดยแผนที่ 1 การบริหารจัดการโลจิสติกส์ พัฒนาใน 2 ส่วน คือ 1.ปรับปรุงระบบการจัดการสินค้าให้มีการจัดวางที่มีประสิทธิภาพ และเบิกจ่ายสินค้าได้เพิ่มขึ้น จากเดิม 1 นาที เบิกได้ 50 กล่อง เป็น 104 กล่อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 และ 2.พื้นที่คลังวัตถุดิบ ทางคลังสามารถเพิ่มพื้นที่การจัดเก็บวัตถุดิบเป็น 2,512,000 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 300% ซึ่งช่วยลดต้นทุนการขนถ่ายสินค้าในคลังได้ 45% คิดเป็นมูลค่า 26,325 บาทต่อปี
 
                    ส่วนแผนที่ 3 ปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน แผนนี้ได้ปรับปรุงเรื่องความสูญเสียจากการไม่มีมาตรฐานการตรวจด้านเคมี และความสูญเสียจากการไม่มีมาตรฐานการตรวจด้านประสาทสัมผัสในผลิตภัณฑ์ชา ซึ่งภายหลังการดำเนินงานพบว่ามูลค่าการเสียโอกาสในการขายสินค้า คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนบาทต่อปีห้วงเวลาที่ผ่านมา ได้ลดลงเป็นศูนย์
 
                    ด้านนายประสงค์ นรจิตร์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการโอพีโอเอไอ  มุ่งพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่สถานประกอบการ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยให้ความรู้ คำปรึกษา แนะนำด้านบริหารจัดการ ยกระดับการผลิตและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล ฯลฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนี้ ให้สถานประกอบการแข่งขันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
 
 
 
 
-------------------------
 
(ทำมาหากิน : 'ชาตรามือ' มุ่งขยายตลาด เสริมแกร่งรัฐพัฒนาสินค้า : โดย...ธานี กุลแพทย์)
 
 
 
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ