Lifestyle

ว่าด้วยยารักษามะเร็ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้ทันมะเร็ง : ว่าด้วยยารักษามะเร็ง : โดย ... นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

 
                            ยังมีออกมาตลอดสำหรับโฆษณาชวนเชื่อขายยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ชอบอ้างสรรพคุณว่าสามารถรักษาได้สารพัดโรค โดยเฉพาะโรคยอดนิยมอย่างโรคมะเร็งก็อยู่ในอันดับต้นๆ ที่ถูกแอบอ้างถึงมาโดยตลอด ทั้งที่จริงๆ แล้วกว่าจะได้มาซึ่งยารักษามะเร็งแต่ละตัวนั้น ต้องใช้ทั้งเวลาและเงินทุนมหาศาล
 
                            หากจะบอกว่ากว่าจะได้มาซึ่งยาแผนปัจจุบันขนานใหม่ๆ ที่ออกมาใช้รักษาโรคกันสักตัวนั้น ต้องใช้เวลายาวนานถึง 10-15 ปี ยิ่งไปกว่านั้นกว่าจะได้เจ้าสารที่ว่ามีสรรพคุณในการรักษาโรคและสามารถพัฒนาต่อจนเป็นยาได้หนึ่งตัวนั้น มาจากการค้นคว้าวิจัยสารทั้งหมดอย่างน้อยประมาณ 5,000 ตัวที่นำมาทดสอบ แต่ที่น่าตกใจที่สุดก็คือ ค่าใช้จ่ายในการพัฒนายาใหม่หนึ่งตัวนั้นตกประมาณ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 24,000 ล้านบาท ในแต่ละปีจะมียาใหม่เข้าสู่ตลาดเฉลี่ยประมาณ 30 ตัว ด้วยเหตุผลที่ต้องใช้ทั้งเงินและความมานะอุตสาหะกว่าจะค้นพบยาตัวใหม่ จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมยาตัวใหม่ๆ มันถึงได้ราคาแพงหนักหนา โดยเฉพาะยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง
 
                            ขั้นตอนหลักๆ เริ่มต้นจากนักวิจัยต้องเข้าใจการทำงานที่ผิดปกติของร่างกายจนทำให้เกิดโรคนั้นๆ จากนั้นจึงเริ่มค้นหาสารที่มีศักยภาพที่จะนำไปพัฒนาเป็นยาชนิดใหม่ได้ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การสกัดแยกจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ หรือสมุนไพร การสังเคราะห์สารเคมีหรือสารเลียนแบบสารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หลังจากได้สารที่ว่าแล้ว ก็มาศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยา ขั้นตอนนี้เริ่มจากการศึกษาในหลอดทดลองก่อน ต่อด้วยการศึกษาในสัตว์ทดลองประเภทต่างๆ เช่น ศึกษาว่าสารรักษามะเร็งตัวใหม่สามารถทำลายมะเร็งในหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นให้เป็นมะเร็งชนิดนั้นๆ เรียกว่าศึกษากันทั้งแบบนอกร่างกายและในร่างกายว่าสารนั้นดูดซึมและมีการเปลี่ยนแปลงในร่างกายอย่างไร มีพิษอะไรบ้าง เพื่อให้แน่ใจว่าสารนั้นปลอดภัยเพียงพอที่จะทำการศึกษาในมนุษย์ต่อไป จากนั้นก็เป็นขั้นตอนการเตรียมรูปแบบยาที่เหมาะสมที่จะใช้ในทางคลินิก มีการพัฒนารูปแบบยาให้มีความคงสภาพและได้ผลในการรักษา และสามารถนำไปผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ ขั้นต่อไปก็รวบรวมรายงานการศึกษาทั้งหมดยื่นขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คณะกรรมการจริยธรรมเกี่ยวกับการวิจัยในคน เพื่อทำการศึกษาวิจัยในคนต่อไป
 
                            สำหรับการวิจัยยารักษามะเร็งตัวใหม่ๆ นั้น จะทำการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยามะเร็งมาตรฐานขนานอื่นๆ มาแล้ว เพื่อศึกษาว่าเมื่อนำยานั้นมาใช้ในคนป่วยจริงจะได้ผลดีเหมือนในห้องปฏิบัติการหรือในสัตว์ทดลองหรือไม่ ขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลานานและมีหลายระยะย่อยในการศึกษา ที่สำคัญต้องทำการวิจัยในหลายโรงพยาบาลทั่วโลก ใช้ผู้ป่วยเข้าร่วมงานวิจัยจำนวนมาก และท้ายที่สุดคือการศึกษาเปรียบเทียบกับยาเคมีบำบัดสูตรมาตรฐาน จึงสามารถสรุปผลได้ว่ายาเคมีบำบัดตัวใหม่ที่ว่านั้นเหมาะสมกับการรักษามะเร็งประเภทไหน และควรใช้ยาตัวนี้เมื่อใด ซึ่งแท้จริงแล้วในแต่ละขั้นตอนยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก
 
                            ทราบขั้นตอนวิธีการว่ามีเหตุมีผลขนาดนี้แล้ว ผู้ป่วยมะเร็งคนไหนที่คิดจะละทิ้งการรักษามาตรฐาน ยังอยากจะไปทดลองใช้ยาผีบอกหรืออาหารเสริมอยู่อีก ก็ไม่รู้จะช่วยยังไงแล้วล่ะครับ
 
 
 
 
 
----------------------
 
(รู้ทันมะเร็ง : ว่าด้วยยารักษามะเร็ง : โดย ... นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ)
 
 
 
 
 
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ