Lifestyle

เปิด3นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ@มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิด3นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ@ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : ทีมข่าวการศึกษา0รายงาน

               "นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ" ของสภาวิจัยแห่งชาติ นับเป็นรางวัลทรงเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ ที่สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คัดเลือกผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นผลงานที่สะสมกันมานาน อีกทั้งเป็นผู้ที่มี "จริยธรรมของนักวิจัย" เป็นที่ยอมรับ และได้รับการยกย่องในแวดวงวิชาการ โดยในปี 2557 มีคณาจารย์ได้รับการประกาศเกียรติคุณใน 3 สาขาล้วนมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้แก่ ปรัชญา นิติศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์

               ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา : ศ.สายันต์ ได้จัดทำผลงานวิจัยทั้งในด้านโบราณคดีกระแสหลักและโบราณคดีชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรด้านวัฒนธรรม ตลอดจนพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนในชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ทั้งต่อตนเอง ต่อท้องถิ่น ต่อทรัพยากรทางโบราณคดีและวัฒนธรรมของชุมชน

               ผลงานวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ช่วงแรก พ.ศ.2524-2542 ระหว่างรับราชการในตำแหน่งนักโบราณคดีอยู่ในกรมศิลปากร ได้ดำเนินการวิจัยทางโบราณคดีกระแสหลัก ใน 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.โบราณคดีของเครื่องถ้วยสมัยโบราณในประเทศไทย 2. โบราณคดีใต้น้ำในประเทศไทย 3.โบราณคดีในล้านนา และ 4.โบราณคดีกู้แหล่ง  การประเมินผลกระทบและกอบกู้ทรัพยากรทางโบราณคดีที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งผลงานวิชาการได้รับการเผยแพร่ 12 เล่ม บทความทางวิชาการทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  58 บทความ    

               การวิจัยในช่วงที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ.2542-ปัจจุบัน วิจัยเรื่อง “กระบวนการโบราณคดีชุมชน : Community Archaeology Process” เป็นงานโบราณคดีประยุกต์ในการพัฒนาชุมชน เพื่อหาแบบแผนที่เหมาะสมในการพัฒนาชุมชนมิติวัฒนธรรม และเป็นการเสริมสร้างความสามารถของประชาชนในท้องถิ่นให้รู้ เข้าใจ เข้าถึงมรดกทางโบราณคดีจนสามารถดูและจัดการ อนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์แหล่งโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการสร้างองค์ความรู้ทางโบราณคดีเกี่ยวกับแหล่งผลิตเครื่องถ้วยชามสมัยโบราณ  แหล่งผลิตเครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์ การจัดการมรดกวัฒนธรรมประเภทพระเจ้าไม้ ขยายผลไปสู่การพัฒนาพิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น และการศึกษาเชิงนโยบายเพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

               ศ.สายันต์ ยังได้รับรางวัล “ผลงานวิจัยระดับดีเด่น สาขาปรัชญา ประจำปี 2557” จากผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาทางโบราณคดีเพื่อสังเคราะห์ความรู้เรื่องเทคนิควิทยาการผลิต แบบแผนทางศิลปะ และความหมายทางวัฒนธรรมของเครื่องถ้วยเคลือบในแหล่งเตาบ้านเตาไหแช่เลียง จ.น่าน และแหล่งเตาพะเยาที่เวียงบัว จ.พะเยา” อีกด้วย

               ศ.ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์ :  ศ.ดร.อำนาจ ได้จัดทำผลงานวิจัยเกี่ยวกับโครงการปรับปรุงกฎหมายทรัพยากรน้ำและจัดทำร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ และโครงการยกร่างกฎหมายเหมืองแร่ เพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเหมืองแร่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างเป็นระบบและเป็นธรรม

               "กฎหมายทรัพยากรน้ำปัจจุบันเกิดปัญหาการจัดสรรน้ำไม่เป็นธรรม จึงเสนอให้แบ่งการใช้น้ำออกเป็น 3 ขนาดสำหรับน้ำนอกเขตชลประทาน คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยการใช้น้ำขนาดเล็ก เช่น ในครัวเรือน เพื่อยังชีพ ไม่ต้องขออนุญาตหรือคุมเข้ม แต่ต้องไม่ไปกระทบสิทธิ์คนอื่น ขณะที่การใช้น้ำขนาดกลาง ต้องกระจายอำนาจให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ  ส่วนการใช้น้ำขนาดใหญ่ จะมีผลกระทบข้ามลุ่มน้ำต้องให้องค์กรระดับชาติ คือ คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ หรือ คณะกรรมการนโยบายและการบริหารน้ำแห่งชาติ หรือนายกรัฐมนตรีเข้ามาดูแล ซึ่งหากมีร่างกฎหมายน้ำใหม่นี้ออกมา การแย่งการใช้น้ำอย่างไม่เป็นธรรมและใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยจะไม่เกิดขึ้น" ศ.ดร.อำนาจ กล่าว

               ศ.ดร.อำนาจ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการยกร่างกฎหมายเหมืองแร่ ที่ผ่านมา กฎหมายดังกล่าวล้าสมัยแต่มีใบอนุญาตมากที่สุดจนเกิดความยุ่งยากซับซ้อน จึงนำเสนอโมเดลใหม่ใช้หลักการเดียวกับกฎหมายทรัพยากรน้ำ คือ การแบ่งสัมปทานเหมืองแร่ออกเป็น 3 ขนาด โดยขนาดใหญ่อาจให้รัฐมนตรีเป็นคนดูแล ขนาดกลางเป็นอธิบดีหรือปลัดกระทรวง ขนาดเล็กเป็นผู้ว่าราชการหรือผู้นำท้องถิ่น แต่มีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนคอยควบคุมการใช้ดุลพินิจของผู้อนุญาต ขณะเดียวกันชุมชนที่ได้รับผลกระทบอาจตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยเหลือชุมชน ฯลฯ
 
               ศ.ดร.ธนารักษ์  ธีระมั่นคง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ : ศ.ดร.ธนารักษ์  ได้จัดทำผลงานวิจัย ประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน 1.การประมวลผลภาษาธรรมชาติ 2.การทำเหมืองข้อมูล และ 3.การทำสารสนเทศแบบอัจฉริยะที่นำไปใช้ได้จริง เพื่อการค้นหาข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง องค์กร และประเทศ

               “ส่วนฐานข้อมูลทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ค้นหาข้อมูลได้รับข้อมูลและแก้ปัญหาเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ ซึ่งปัจจุบันค้นหาในกูเกิล ซึ่งเสียเวลามาก  จึงจัดทำฐานข้อมูลศูนย์ฐานความรู้ทางด้านการแพทย์ที่รวมอยู่ด้วยกัน บุคคลทั่วไปค้นคว้าหาข้อมูลได้จากจุดนี้จุดเดียว” ศ.ดร.ธนารักษ์กล่าว

               ศ.ดร.ธนารักษ์  ยังจัดทำ ธรรมาแทรนส์ ThammaTRANS แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนสำหรับติดตามแบบเรียลไทม์ว่า รถบริการเอ็นจีวีใน มธ. ศูนย์รังสิต ที่ต้องการขึ้นอยู่ที่ไหน อนาคตจะพัฒนาให้เชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมต่างๆ ภายใน มธ. เช่น การเรียนการสอน สัมมนา ก็สามารถดูได้จากจุดศูนย์รวมจุดนี้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ