Lifestyle

ทำนาเปียกสลับแห้ง..แกล้งข้าว นวัตกรรมทางเลือกยามน้ำมีน้อย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำมาหากิน : ทำนาเปียกสลับแห้ง..แกล้งข้าว นวัตกรรมทางเลือกยามน้ำมีน้อย : โดย...ดลมนัส กาเจ

 
                            หากดูข้อมูลจากการทำนาปรังในประเทศไทยในเขตพื้นที่ชลประทาน พบว่าเกษตรกรต้องใช้น้ำอย่างน้อย 1,200 ลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ เนื่องจากต้องมีน้ำขังในนาตั้งแต่เริ่มดำนาจนข้าวออกรวง ขณะที่สภาพภูมิอากาศในประเทศไทยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาประสบปัญหาฝนทิ้งเป็นเวลานาน ส่งผลให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ เหลือน้อยลงทุกปี และไม่เพียงต่อความต้องการของภาคการเกษตร อย่างปัจจุบันน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ 33 แห่งทั่วประเทศ เหลือน้ำเพียง 43,384 ลูกบาศก์เมตร จากความจุ 70,370 ลูกบาศก์เมตร  ในจำนวนนี้มีน้ำที่สามารถใช้ได้จริง 19,881 หรือ 28% เท่านั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำนาปรังเนื่องจากน้ำไม่เพียงพอ
 
                            จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลายหน่วยงานพยายามที่จะหาแนวทางในการทำนาที่ประหยัดน้ำให้มากที่สุด ล่าสุดกรมชลประทานร่วมเครือข่ายนานาชาติด้านนํ้าและระบบนิเวศในนาข้าว (International Network for Water and Ecosystem in Paddy Fields, INWEPF) บริษัทสยามคูโบต้าคอร์เปอร์เรชั่น และสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ได้ดำเนินโครงการ "การทำนาเปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว" ซึ่งพบว่าทั้งประหยัดน้ำ ประหยัดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตด้วย และมีการนำร่องก่อน 4 ภาค ในจำนวนนี้ได้เลือกพื้นที่ของนายสุพรรณ เปราะนาค ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำแม่โก๋น บ้านสันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ วัย 58 ปี เป็นพื้นที่นำร่องในภาคเหนือ และได้เปิดโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธาน
 
                            นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่า การดำเนินโครงการทำนาเปียกสลับแห้ง แกล้งข้าวนั้น ได้มีการศึกษาวิจัยมาก่อนและพบว่าสามารถลดปริมาณการใช้น้ำในการทำนาข้าวได้ถึง 28% ของปริมาณน้ำที่ใช้ในการทำนาแบบทั่วไป ซึ่งโดยปกติจะใช้น้ำปริมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ แต่ถ้าทำนาแบบแกล้งข้าวจะใช้น้ำเพียง 860 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่เท่านั้น 
 
                            การรแกล้งข้าวนั้น จะปล่อยให้ข้าวขาดน้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้รากและลำต้นข้าวแข็งแรงส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตและการสร้างผลผลิต โดยเริ่มต้นจากการขังน้ำในแปลงนาที่ระดับความลึก 5 ซม. ในช่วงหลังปักดำจนกระทั่งข้าวอยู่ในช่วงตั้งท้องออกดอก จึงจะเพิ่มระดับน้ำในแปลงอยู่ที่ 7-10 ซม. จากนั้นจะปล่อยให้ข้าวขาดน้ำครั้งที่ 1 ในช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้น หรือข้าวมีอายุประมาณ 35-45 วันเป็นเวลา 14 วัน หรือจนกว่าระดับน้ำในแปลงลดลงต่ำกว่าผิวแปลง 10-15 ซม.หรือดินในแปลงนาแตกระแหง จากนั้นถึงปล่อยน้ำเข้านา จนกระทั่งข้าวแตกกอสูงสุด หรือข้าวอายุประมาณ 60-65 วัน ก็จะปล่อยให้ข้าวขาดน้ำครั้งที่ 2 เป็นระยะเวลาอีก 14 วัน 
 
                            เขา กล่าวอีกว่า การทำนาแบบเปียกสลับแห้งนอกจากจะลดปริมาณการใช้น้ำแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยใช้สารเคมีและน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวลดลงจากไร่ละประมาณ 5,600 บาท เหลือประมาณ 3,400 บาท หรือราว 40% รวมทั้งยังทำให้คุณภาพของข้าวดีขึ้น เพิ่มปริมาณผลผลิตสูงกว่าไร่ละ 1,200 กิโลกรัม เกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้นและที่สำคัญทำให้คุณภาพชีวิตของชาวนาดีขึ้น เยาวชนรุ่นหลังๆ หันมาสนใจการทำนา ซึ่งจะเป็นการรักษาพื้นที่ชลประทานให้คงที่ เกิดความสามัคคีในชุมชนที่ไม่ต้องแย่งน้ำกันต่อไป 
 
                            "จากการศึกษาจากข้อมูลพบว่า หากมีการขยายผลนำเทคโนโลยีการทำนาแบบเปียกสลับแห้งที่ว่านี้ ไปใช้เฉพาะนาปรังในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งในฤดูแล้งปี 2556/57 มีพื้นที่ทำนาปรังทั้งสิ้นประมาณ 2.85 ล้านไร่ มีความต้องการใช้น้ำประมาณ 3,309 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้ามีการปรับมาใช้เทคโนโลยีการทำนาแบบเปียกสลับแห้งจะใช้น้ำเพียงประมาณ 2,217 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น หรือประหยัดน้ำได้สูงสุดประมาณ 1,092 ล้านลูกบาศก์เมตร หากนำปริมาณน้ำจำนวนนี้ไปใช้ในการทำนาปรังจะสามารถขยายพื้นที่ทำนาปรังได้อีกไม่น้อยกว่า 940,093 ไร่" อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว 
 
                            ด้านนายสุพรรณ บอกว่า มีอาชีพทำนามานานแล้ว โดยปกติการทำนาแบบทั่วไปหากปลูกข้าวหอมมะลิจะได้ผลผลิตไร่ละ 600 กิโลกรัมแต่เป็นข้าวเหนียวจะได้ไร่ละ 700 กิโลกรัมต่อมาในพื้นที่จะประสบปัญหากับการขาดแคลนน้ำ พอดีทราบข่าวว่า การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง แกล้งดินใช้น้ำน้อย น่าสนใจ จึงศึกษารายอะเอียด ก่อนที่จะตัดสินใจใช้ที่นากว่า 2 ไร่เป็นแปลงทดลอง เจ้าแรกของ อ.พร้าว เมื่อปลายปี 2557 หลังจากที่ได้เริ่มทดลองมั่นใจว่าจะประหยัดน้ำและต้นทุนแน่นอน แต่ผลผลิตต้องรอดูก่อนเพราะเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น   
 
                            การทำนาเปียกสลับแห้ง..แกล้งข้าว นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางเลือกของเกษตรกร ในยุคที่ประเทศไทยกำลังประสบการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งนอกจากจะประหยัดน้ำแล้วยังประหยัดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตอีกด้วย
 
 
----------------------
 
 
จุดประกายในการ"แกล้งข้าว"
 
 
                            สำหรับที่มาของการทำนาเปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว ว่าที่ว่าที่ ร.ต.ไพเจน  มากสุวรรณ รองอธิบดีกรมชลประทาน บอกว่า มาจากการสัมมนาทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดโดยเครือข่ายนานาชาติด้านนํ้าและระบบนิเวศในนาข้าว ร่วมกับกรมชลประทานและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ เดือนสิงหาคม 2555 โดยมีการนำเสนองาน "วิธีการปฏิบัติงาน หรือกระบวนการทำงาน “ที่ดีที่สุด” คือ ประหยัด ปลอดภัยหรือที่เรียกว่า "Best Practice" เรื่องการทำนาเปียกสลับแห้ง จากเครือข่ายชาวนาวันหยุด (สุภชัย ปิติวุฒิ จากบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด) ที่มีประเด็นน่าสนใจคือการการทำนาใช้นํ้าน้อย ลดต้นทุนในเรื่องของการใช้ยา ปุ๋ย นํ้ามันสูบนํ้า แต่ผลผลิตที่ได้สูงกว่าการปลูกด้วยวิธีปกติ นับเป็นสิ่งหนึ่งที่จะดึงให้ลูกหลานชาวนากลับมาสนใจผืนนาของบรรพบุรุษและพร้อมรับช่วงต่อในรูปแบบของชาวนาวันหยุด เป็นต้น
 
                            "ประเด็นนี้เป็นที่สนใจของเครือข่ายนานาชาติด้านนํ้าและระบบนิเวศในนาข้าว และกรมชลประทาน เพราะตรงกับวิสัยทัศน์ของกรมชลประทาน เกี่ยวกับการบริหารจัดการนํ้า ป้องกันภัยจากนํ้าและสงวนรักษาพื้นที่ชลประทานให้อยู่ 1 ใน 10 ของโลก จรงนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการสานต่อด้านความร่วมมือเกี่ยวกับงานวิจัยว่าประหยัดน้ำเท่าไร และควรส่งเสริมวิธีการนี้ไปในทิศทางใดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า ทั้งประหยัดน้ำ ประหยัดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตด้วย" รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว
 
 
----------------------
 
(ทำมาหากิน : ทำนาเปียกสลับแห้ง..แกล้งข้าว นวัตกรรมทางเลือกยามน้ำมีน้อย : โดย...ดลมนัส กาเจ)
 
 
 
 
 
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ