Lifestyle

'โจน จันใด'ผู้เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการพึ่งพาตนเองและการแบ่งปัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถิ่นไทยงาม : 'โจน จันใด' ผู้เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการพึ่งพาตนเองและการแบ่งปัน

 
                               "ชีวิตเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เราทำให้มันยากเอง" บทสรุปนิยามของการใช้ชีวิตสั้นๆ แต่ได้ใจความของ โจน จันใด หนุ่มใหญ่ที่ละทิ้งชีวิตในเมือง มาทำไร่ ทำนา สร้างบ้านดินอยู่อย่างพึ่งพาตนเอง และแบ่งปันไปสู่คนรอบข้าง ท้ายที่สุดก่อตั้งศูนย์พันพรรณ ศูนย์การเรียนรู้พึ่งพาตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์ อยู่ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
 
                               โจน จันใด ลูกชาวนายโสธร เข้ามาทำงานใช้เงินอยู่ในกรุงเทพฯ 7 ปี แต่ก็เห็นว่าชีวิตอยู่ยากเกินไป ทำงานมากเกินไปแต่ไม่เหลืออะไรเลย จึงเกิดความคิดว่า ชีวิตต้องทางเลือก  
 
                               “กลับมาบ้าน ลองทำนาอินทรีย์ เลิกซื้อเสื้อผ้า สิ่งฟุ่มเฟือย และดูแลสุขภาพมากขึ้น ก็เลยรู้สึกว่าชีวิตน่าอยู่ขึ้น อิ่มกับการมีชีวิตอยู่” ระหว่างนั้น โจน จันใด แต่งงานกับสาวอเมริกัน และมีโอกาสเดินทางไปอยู่อเมริกา 2 ปีตามคำร้องขอของภรรยา จนช่วงหนึ่งที่ได้ปั่นจักรยานเที่ยวไปตามรัฐต่างๆ จนไปเห็นบ้านดินของอินเดียนแดง จึงเข้าไปพูดคุยแล้วคิดว่าอยากทำ อยากกลับบ้านมาทำบ้านดิน 
 
                               พอกลับถึงเมืองไทยเขาทดลองทำบ้านดิน ลองผิดลองถูก เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ และแบ่งปันความรู้ไปยังท้องถิ่นอื่นๆ ช่วง 2 ปีแรกที่เขาต้องเดินทางอยู่ตลอดเพื่อไปสอนทำบ้านดิน โดยไม่เรียกร้องค่าตอบแทนใดๆ จนเหลือเงินก้อนสุดท้ายนำมาซื้อที่ดินอยู่ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และเริ่มลงมือปลูกพืชผักอาหารไปด้วย สร้างบ้านดินเพื่ออยู่อาศัยไปด้วย
 
                               วันนี้ ที่ดินของเขา 20 ไร่ ก่อเกิดเป็น ศูนย์พันพรรณ ด้วยความที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติมาอาศัยอยู่เพื่อเรียนรู้ และเป็นศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์พืช รวมถึงการแต่งงานครั้งที่ 2 ดูเหมือนชีวิตเขามั่นคงขึ้น บ้านหลังต่างๆ ในที่ดินของเขา ล้วนเป็นบ้านดิน ที่สร้างขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของเขาและอาสาสมัครที่มาพักเพื่อเรียนรู้เรื่องการทำบ้านดิน วิถีเกษตรพอเพียง รวมถึงเรื่องเมล็ดพันธุ์  
 
                               โจน จันใด จะเปิดคอร์สรับอาสาสมัครมาอยู่ที่ศูนย์เพื่อเรียนรู้วิถีเกษตรแบบพึ่งพาตนเองของเขาเป็นช่วงๆ มีอาสาสมัครจากหลากหลายประเทศมาอยู่ร่วมกัน ทุกคนต้องช่วยเหลือกันทุกอย่าง แม้กระทั่งเรื่องการอยู่การกิน การทำอาหาร โดยใช้พืชผักที่ปลูกจากไร่ของเขานั่นเอง  รวมถึงพี่ชายของภรรยาคนที่ 2 ของโจน จันใด ที่ตามมาดูชีวิตความเป็นอยู่ของน้องสาว หลังแต่งงานมาอยู่เมืองไทย กลับกลายเป็นว่า เขาก็ได้มาเรียนรู้วิธีการทำบ้านดิน จนสร้างบ้านสำหรับอยู่อาศัยได้เอง และยังช่วยเป็นครูสอนให้กับอาสาสมัครหน้าใหม่ๆ ที่เข้ามาเรียนรู้ที่ศูนย์แห่งนี้ด้วย 
 
                               “อิ่มกับชีวิต แต่รู้สึกว่าเมล็ดพันธุ์ใหม่หายไปจากโลก หายไปเร็วมาก เพราะทันทีที่ระบบอาหารถูกทำให้เป็นธุรกิจ จึงมีการดัดแปลงเพื่อให้ตอบโจทย์ทางการค้า อย่างการตัดต่อพันธุกรรม (GMO) ชีวิตที่เหลืออยู่ก็เลยอยากอยู่กับการเก็บเมล็ดพันธุ์” 
 
                               โจน จันใด เริ่มเก็บเมล็ดพันธุ์แท้ของพืชท้องถิ่นจากสถานที่ต่างๆ ทั่วโลกเท่าที่จะหาได้ พอลงมือปลูกได้ผล ก็แจกจ่ายคนไปยังคนอื่น แชร์เรื่องราวผ่านเฟสบุ๊ค จนมีคนสนใจขอเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูก พอได้ผลก็แจกจ่ายกันต่อไป ขณะเดียวกันก็มีคนส่งเมล็ดพันธุ์แท้จากที่อื่นๆ มาให้เขาด้วย จนวันนี้เขารวบรวมเมล็ดพันธุ์ได้ถึง 400 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นพวกผักต่างๆ เฉพาะมะเขือเทศก็มีมากกว่า 100 พันธุ์แล้ว
 
                               ทุกวันนี้ เขายังมุ่งมั่นเก็บเมล็ดพันธุ์ และมุ่งหวังเรื่องการแบ่งปันโดยไม่หวังผลตอบแทน จนได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่โครงการ คนดีแทนคุณแผ่นดินของหนังสือพิมพ์คมชัดลึก และได้รับเลือกเป็น คนดีแทนคุณแผ่นดินจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2557  
 
                               เขาเชื่อว่า เมล็ดพันธุ์พืชแท้ จะเป็นรากฐานของการพึ่งพาตนเอง จึงใช้เวลาที่เหลืออยู่กับการเก็บเมล็ดพันธุ์และแบ่งปันสู่คนรอบข้าง เพราะความสุขที่ยั่งยืน คือการแบ่งปัน
 
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ