ข่าว

คอฟฟี่เบรค : TAMIS แอพนี้เพื่อชาวนา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอฟฟี่เบรค : TAMIS แอพนี้เพื่อชาวนา : เรื่อง / ภาพ ... สินีพร มฤคพิทักษ์

 
                        ยโสธร เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการทำเกษตรอินทรีย์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย และทางจังหวัดเองมียุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดให้เป็น “เมืองแห่งวิถีอีสาน เกษตรอินทรีย์ก้าวไกลสู่สากล” 
 
                        แต่การที่ชาวนาเป็นผู้ผลิตอย่างเดียว มีแต่จะจนลงๆ ยิ่งทำยิ่งจน เพราะกำไรไปตกอยู่กับพ่อค้าคนกลาง หากพวกเขาสามารถเพิ่มบทบาทเป็น “ผู้ประกอบการ” ด้วย คงทำให้มีรายรับให้แก่ครอบครัวอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มและได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพ  
 
                        กลางเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงจัดโครงการ “พัฒนานักประกอบการวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์” จ.ยโสธร ไฮไลท์หนึ่งคือ มอบแท็บเล็ตให้กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจข้าวอินทรีย์  
 
                        ไม่ได้ให้ไปเล่นเกมหรือเพื่อกิจกรรมอื่น แต่แท็บเล็ตดังกล่าวเอาไว้ให้ชาวนาใช้ในระบบสารสนเทศเพื่อการเกษตรแบบพกพา (TAMIS) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรในการเก็บข้อมูลเพื่อรับการประเมินเป็นเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ 
 
                        ระบบสารสนเทศเพื่อการเกษตรไทยแบบพกพา (Thailand Agriculture Mobile Information System : TAMIS) เป็นระบบที่เข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ในการลงทะเบียนเกษตรกรด้วยบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด พร้อมทั้งสามารถเก็บพิกัด GPS แปลงเพาะปลูกบนแผนที่กูเกิล ทำให้สามารถใช้งานระบบได้ทุกเวลา 
 
                        ระบบดังกล่าวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจแปลงข้าวให้แก่เจ้าหน้าที่ในการตรวจรับรองตามมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practice) โดยนำอุปกรณ์แท็บเล็ตมาใช้ทดแทนแบบฟอร์มกระดาษ เครื่องมือที่พัฒนาเริ่มตั้งแต่การรับลงทะเบียนเกษตรกร การตรวจประเมิน การรายงานผลแบบเรียลไทม์ เป็นการลดกระบวนการด้านงานเอกสาร และการประมวลผลด้วยมือ ใช้กระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยในการประมวลผล จะได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง เจ้าหน้าที่และผู้ตรวจประเมินสามารถบันทึกข้อมูล ทั้งประมวลผลหน้าแปลงนา และส่งผลลัพธ์เข้าศูนย์กลางข้อมูลแบบทันที 
 
                        ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการ กระทรวงวิทย์ โดย สวทช. ร่วมกับ สวทน. ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานในลักษณะภาคีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อเป้าหมายในการสร้างให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์ จ.ยโสธร เป็นต้นแบบการปลูกข้าวอินทรีย์ครบวงจร 
 
                        ปัจจุบันมีเกษตรกรแกนนำผลิตข้าวอินทรีย์ในพื้นที่เข้าร่วมโครงการ 7 กลุ่ม รวมเป็นเกษตรกรข้าวอินทรีย์ 4,565 ราย คิดเป็นพื้นที่นากว่า 45,000 ไร่ 
 
                        “เราถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์มาช่วยชุมชน และพื้นที่ต่างๆ การเกษตรหรือข้าวอินทรีย์เป็นตัวหนึ่ง การใช้วิทยาศาสตร์ทำให้มูลค่าการขายดีขึ้น เราทราบดีว่า เกษตรกรดำเนินการเท่าที่เอื้ออำนวย ต่างชาติเวลาซื้อต้องมีใบรับรอง การได้ใบรับรองเป็นเครดิตเกษตรกร ต้องติดตามย้อนกลับได้ สวทช.พัฒนาซอฟต์แวร์ให้ตรวจสอบย้อนกลับได้” 
 
                        สมศักดิ์ พลอยพานิชเจริญ ผู้จัดการงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ไบโอเทค ที่ทำงานพัฒนาด้านการเกษตร บอกว่า ในการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั้งในประเทศและระดับสากลต้องเก็บข้อมูลวิธีการทำนาของเกษตรกรเป็นรายบุคคล เจ้าหน้าที่ต้องตรวจและประเมินผลจากเอกสาร เพื่อให้การรับรอง 
 
                        ปัจจุบันการเก็บข้อมูลต่างๆ เป็นระบบเอกสาร ค่อนข้างยุ่งยากและมีข้อจำกัดในการสำรวจ และเก็บข้อมูลของเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบแปลงนา นอกจากระบุข้อมูลของชาวนาแล้ว ยังต้องระบุสภาพแวดล้อมรอบแปลงนา และขอบเขตพื้นที่คร่าวๆ เพื่อหาพิกัดว่าสภาพดังกล่าวเหมาะสมต่อการทำเกษตรอินทรีย์หรือไม่ ส่งผลให้เสียเวลาและอาจก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนขณะปฏิบัติงาน 
 
                        สายันต์ สีถาน เกษตรกรและฝ่ายการตลาด เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อม บอกว่า แอพดังกล่าวเป็นนวัตกรรมสำหรับใช้เก็บข้อมูลแปลงเพาะปลูก เมื่อก่อนใช้จดด้วยลายมือใส่สมุด เช่น แปลงนี้ของนายธงชัย เวลาวาดแผนที่ประกอบวาดด้วยดินสอ/ปากกา แล้วต้องมาลงตารางในโปรแกรมเอ็กซ์เซล พอมีแอพตัวนี้ เก็บข้อมูลง่ายขึ้น เดี๋ยวนี้เด็กๆ เก่งคอมพ์ให้ช่วยทำได้   
 
                        TAMIS จึงมีประโยชน์ต่อเกษตรกรด้วยประการฉะนี้ ผู้สนใจลงทะเบียนสมัครใช้งานได้ที่ 1.www.tamis.in.th <http://www.tamis.in.th> 2.โหลดแอพพลิเคชั่นจาก Google Play Store 3.ลงทะเบียนเกษตรกรที่เป็นสมาชิกด้วยบัตรสมาร์ทการ์ด
 
 
 
 
 
 
----------------------------
 
(คอฟฟี่เบรค : TAMIS แอพนี้เพื่อชาวนา : เรื่อง / ภาพ ...  สินีพร มฤคพิทักษ์)
 
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ