Lifestyle

ชวนเที่ยว : ชีทวน ที่อุบลฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชวนเที่ยว : ชีทวน ที่อุบลฯ : เรื่อง / ภาพ ... นพพร วิจิตร์วงษ์

 
                              ถ้าขอนแก่นเป็นประตูสู่ดินแดนอีสานเหนือ อุบลราชธานีก็เป็นฮัปของอีสานใต้ จังหวัดที่สามารถเดินทางไปได้ทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน ที่มีวันละหลายๆ เที่ยว ของหลายสายการบิน และยังเป็นจุดผ่านแดนสำคัญไปประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว  จากอุบลราชธานี สามารถเดินทางต่อไปยังยังหวัดในอีสานตอนใต้ได้ใกล้ หรือจะต่อไปยังอีสานตอนบนก็ไม่ยาก  
 
                              อุบลราชธานี จัดเป็นจังหวัดใหญ่ แต่โดยมากนักท่องเที่ยวมาถึง ก็มักจะเดินทางต่อไปยังอำเภอรอบนอก เพราะเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะริมแม่น้ำโขงที่สวยงาม บ้างก็เดินทางต่อไปยังชายแดนที่ช่องเม็ก เพื่อข้ามไปยังประเทศลาว ซึ่งไม่กี่สิบกิโลเมตรก็ถึงเมืองปากเซ ของแขวงจำปาสักแล้ว หากแต่ในเมืองและรอบๆ เขตเมืองอุบลราชธานี ก็มีสถานที่น่าสนใจไม่น้อย 
 
                              ถึงตัวเมืองอุบลราชธานีแล้วนึกไม่ออกว่าจะไปไหนดี แวะที่นี่ก่อนก็ได้ พิพิธภัณฑ์เมืองอุบลราชธานี อยู่ติดกับศาลหลักเมืองและทุ่งศรีเมือง  เป็นตึกชั้นเดียว สีเหลืองมัสตาร์ด ตัดกับขอบสีเขียว รูปทรงโบราณ เพราะที่นี่เคยเป็นศาลากลางจังหวัดมาก่อน พอสร้างที่ใหม่ ก็ยกสมบัติให้ตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมของเก่าจากหลายๆ อำเภอมาไว้ที่นี่   
 
                              พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ถึงจะเป็นชั้นเดียว ช่วงนี้คนไทยยังเข้าฟรี  ด้านในแบ่งเป็นห้องๆ ต่อถึงกัน ทั้งหมด 10 ห้อง จากเรื่องราวความเป็นมาของเมืองอุบลราชธานี ภาพเขียนสีผาแต้ม กลองมโหระทึกสมัยก่อนประวัติศาสตร์ หม้อฝังศพโบราณ เครื่องประดับที่ขุดค้นพบ จนไปถึงห้องโบราณวัตถุ ที่เก็บรวบรวมมาจากแหล่งต่างๆ ทั้งหน้าบัน พระพุทธรูปสมัยก่อน ชิ้นส่วนวิหารร้าง และเทพ ที่ฉันต้องตาต้องใจดูอยู่เป็นนาน ก็คือ อรรธนารีศวร ในลัทธิไศวนิกาย ครึ่งขวามีลักษณะเป็นบุรุษ และอีกครึ่งเป็นสตรี ซึ่งเป็นภาคผสมระหว่างพระศิวะซีกขวา (ลักษณะเป็นบุรุษ) กับพระอุมาซีซ้าย (ลักษณะเป็นสตรี) ลวดลายและเครื่องประดับ 2 ฝั่งแต่งต่างกัน โดยสร้างขึ้นตามเรื่องราว ระหว่างพระอุมา กับฤาษีภิริงกิตที่เคารพพระศิวะแต่องค์เดียว ทำให้พระอุมาพิโรธและสาปให้เป็นร่างไร้เลือดเนื้อ แต่ต่อมาเกิดละอายจึงคืนคำสาป และขออธิษฐานให้พระวรกายของพระนางเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ด้วย สำหรับรูปประติมากรรมหินทรายนี้ คาดว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 13 พบในจังหวัดอุบลราชธานี
 
                              ในพิพิธภัณฑ์ยังมีส่วนแสดงถึงวิถีความเป็นอยู่ เครื่องแต่งกาย ผ้าซิ่นทอลายเอกลักษณ์ของอุบลราชธานี เรียกได้ว่า ใช้เวลาเพลินๆ อยู่ในพิภัธภัณฑ์หลังไม่ใหญ่นี้ได้เป็นนานสองนานเชียว
 
                              ออกจากพิพิธภัณฑ์ แวะ หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง ที่อยู่ไม่ไกลกัน วัดทุ่งศรีเมืองสร้างขึ้นในราวปี 2385 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่3) โดยสร้างหอไตรหรือหอพระไตรปิฎก และหอพระพุทธบาทหรืออุโบสถ ขึ้นมาพร้อมกัน มีญาคูช่าง ซึ่งเป็นพระสงฆ์ชาวเวียงจันทน์ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ลักษณะเป็นเรือนฝาไม้ประกบแบบเรือนไทยภาคกลาง บานประตูและหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ ภายในทำเป็นห้องสำหรับเก็บพระไตรปิฎก และใบลาน ผนังห้องเขียนลายรดน้ำเช่นเดียวกัน ปัจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโนราณสถานแห่งชาติไว้แล้ว 
 
                              ลวดลาย ความสวยงาม ของหอโตร ทำให้กลายเป็นจุดที่ดึงดูดผู้คนมาที่วัด รวมถึงคู่หนุ่มสาวยังมาถ่ายพรีเวดดิ้งในแบบฉบับไทยๆ ที่หอไตรแห่งนี้ 
 
                              คราวนี้ก็ได้เวลาตามหาความเกี่ยวพันข้ามโขงของคนไทยและลาวและขอม กันที่ บ้านชีทวน อยู่ในเขต อ.เขื่องใน ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก ใช้เวลาราวๆ ครึ่งชั่วโมงทางรถ  ที่เรียกกันว่า ชีทวน ก็เพราะเป็นจุดที่แม่น้ำชีไหลย้อนขึ้น หรือทวนขึ้น นั้นเอง ถ้าตามเรื่องเล่าเล่าขานก็ว่ากันว่า แต่เดิมเป็นถิ่นของพวกขอมก่อนจะร้างไป พระประทุมวงศา เจ้าเมืองอุบลฯ จึงให้ท้าวโหงนคำ พร้อมราษฎร 150 ครัวเรือน เดินทางขึ้นมาตามลำน้ำชีเพื่อสร้างเมืองใหม่ มาถึงโนนลำดวนช้าง (นครลำดวน) เห็นเมืองปรักหักพังมีหัวหน้าขอมนั่งเฝ้าอยู่ ท้าวโหงนคำจึงเข้าไปสอบถาม ขอมจึงเชิญท้าวโหงนคำสร้างเมือง ณ แห่งนี้ ปี พ.ศ. 2324 โดยตั้งชื่อเมืองว่า "ซีซ่วน" หรือชีทวน ในปัจุบันนั่นเอง 
 
                              ออกจากตัวเมืองอุบลฯ ราวๆ ครึ่งชั่วโมง ก็ถึงบ้านชีทวน หมู่บ้านเล็ก แต่มีวัดเก่าแก่ถึง 4 วัดในบริเวณไม่ไกลกัน แต่ฉันขอไปตั้งต้นที่สะพานข้ามทุ่งนา ก็ไหนๆ เขากำลังฮิตเรื่องสะพานข้ามทุ่งนากัน เลยอยากให้รู้ว่า ที่อุบลฯก็มีเหมือนกันนะ คนที่นี่เขาเรียก "สะพานยาว" คุณป้าคนหนึ่งเดินผ่านมา เลยได้ถามถึงที่มาที่ไปของสะพานนี้  ได้ความว่า เป็นสะพานที่เชื่อมจากหมู่บ้านฝั่งนี้ไปอีกฝั่ง ชาวบ้านเขาหาเงินมาช่วยๆ กันทำ เมื่อก่อนเป็นไม้ ไม้ก็ไม่ค่อยมีต้องไปเอาไม้โลงศพมาทำมั่ง ผสมกันไป แต่สะพานไม้มันพังเร็ว พอสร้างใหม่เลยเปลี่ยนเป็นสะพานปูน และสะพานแห่งนี้ก็เป็นสะพานที่ชาวบ้านใช้ไปมาหาสู่กัน รวมถึงการเดินทางไปทำบุญที่วัดในวันพระด้วย
 
                              ออกจากสะพานยาวหรือขัวน้อย ไป วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ วัดไม่ใหญ่ แต่เก่าแก่ด้วยศาสนสถาน และมีสิมไม้ ที่มีธรรมมาสสวยงามที่สุดและไม่เหมือนใคร เป็น ธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก  ซึ่งสมัยก่อนเพราะสงฆ์จะขึ้นนั่งเทศน์บนธรรมมาสสิงห์ แต่ปัจจุบันอนุรักษ์ไว้ ส่วนเพดานสิม มีจิตรกรรมลวดลายสวยงาม   
 
                              บุญจันทร์ ครองยุทธ หรือ พ่ออาจารย์จันทร์ เป็นไวยาวัจกรณ์ของวัด เล่าว่า หลวงปู่อุปัชฌาย์วงศ์ สร้างร่วมกับแจวเวียง โดยหลวงปู่ไปเทศน์มหาชาติที่บ้านปลาข่า เจอแจวเวียงกำลังสร้างปลาอานนท์ก็เลยเชิญมาสร้างธรรมมาสที่วัด ช่วงปี 2468-2470 ตอนนั้นราคา 275 บาท  ซึ่งแจวเวียงยังได้ปั้นรูปตัวเองกับเมียและลูกไว้ที่สิงห์นี้ด้วย ส่วนวัดศรีนวลฯ นั้นสร้างปีไหนไม่ปรากฏ แต่ตั้งชื่อสีนวลตามชื่อของนางสีนวลที่ได้ถวายที่ดินให้ขยายวัด และเพิ่มเติมเป็นวัดสีนวลแสงสว่างอารมณ์
 
                              สมัยก่อนพระสงฆ์จะขึ้นเทศน์บนธรรมมาสสิงห์ แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว แต่ยังเทศน์ตามคัมภีร์ใบลานที่จารึกเป็นภาษาไทยขอม 
 
                              นอกจากวัดสีนวลฯแล้ว ยังมีวัดใหล้เคียงอีก 3 วัด คือ วัดทุ่งศิวิไล ซึ่งที่วัดนี้ มีพระพุทธวิเศษอายุนับ 1,000 กว่าปี, พระร่วงโรจนฤทธิ์ พระเทพชัยสิทธิ์ ส่วนวัดธาตุสวนตาล มีพระมหาธาตุ สัตตบรรณเชิงเทียน พระธรรมเทโว เรือโบราณ ชื่อว่า เรือเจ้าแม่หงษ์ทอง ที่มีอายุหลายร้อยปี ยาวถึง 24 เมตร กว้าง 2.70 เมตร และ วัดศรีธาตุเจริญสุข อดีตคือทาสของพระยาเมืองนี้ เป็นพวกทำไร่ทำนาแล้วมาขึ้นกับเจ้าเมืองนี้ พอเลิกทาสก็สร้างวัดขึ้นมา คำว่าเจริญสุขหมายถึงเลิกทาสสมัย ร.5
 
                              หมู่บ้านที่ไม่ใหญ่แต่มีวัดเก่าแก่ถึง 4 วัด ที่สำคัญคือพลังศรัทธาที่ไม่เคยจางหาย ช่วงเข้าพรรษาชาวบ้านจะไปวัดฟังเทศน์กันทุกวัน แม้วันนี้ จะเริ่มมีนักท่องเที่ยว เข้าไป แต่กลิ่นอายของวิถีดั้งเดิมยังคงอยู่
 
 
 
------------------------
 
 
 
ชวนเที่ยว : ชีทวน ที่อุบลฯ
 
 
 
ทองเหลืองเลื่องชื่อที่ปะอาว
 
 
                              ระหว่างทางไปบ้านชีทวน อีกหมู่บ้านที่น่าสนใจไม่แวะไม่ได้ "บ้านปะอาว" หมู่บ้านทำทองเหลือง ที่ยังคงรูปแบบการทำแบบดั้งเดิม ที่เรียกกันว่า หล่อขี้ผึ้งหาย  ทุกวันนี้ชาวบ้านยังมารวมกลุ่มกัน เพื่อทำเครื่องทองเหลือง ที่ศูนย์หัตถกรรมประจำหมู่บ้าน  ขั้นตอนมีถึง 14 ขั้นตอน ตั้งแต่นำดินโคลนมาผสมขี้วัวปั้นหุ่นต้นแบบ แล้วนำไปตากให้แห้ง ก่อนนำมากลึง แต่งลาย ก็นำขี้ผึ้งมาพันรอบหุ่น แล้วพอกดินอีกครั้ง ก่อนจะนำไปเผาให้ขี้ผึ้งละลายไป แล้วเททองเหลืองลงไปแทน  แต่ละขั้นตอนต้องใช้ฝีมือล้วนๆ จนปัจจุบันมีทั้งระฆัง กระพรวน กระดึ่ง เชี่ยนหมาก ผะอบ ที่ทำขาย 
 
 
ชวนเที่ยว : ชีทวน ที่อุบลฯ
 
 
                              ลุงบุญมี ล้อมวงศ์ กรรมการประจำกลุ่มด้วยเล่าว่า สมัยก่อนทำกันทุกบ้าน ปีละครั้ง พองานบุญก็นำออกมาเล่ขาย ด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ พอใครเห็นก็รู้ว่ามาจากบ้านปะอาว ปัจจุบัน มีการรวมกลุ่มมาทำกันเหลือแค่ 8 คน ขณะที่ต้องใช้เวลาทำค่อนข้างนาน เพราะต้องอาศัยดินฟ้าอากาศ วันไหนแดดดีก็ตากได้ แม้จะมีออเดอร์เข้ามามาก แต่กำลังผลิตก็มีจำกัด เพราะคนส่วนใหญ่ไม่อยากทำเพราะเห็นเงินช้า 
 
                               "จนกว่าเราจะขายสินค้าได้นั่นแหล่ะ ถึงจะได้เงิน หักต้นทุนทั้งหมดออก เหลือเท่าไหร่ก็มาแบ่งเท่าๆ กัน ทุกคนเลยทำงานได้ทุกตำแหน่ง"
 
 
ชวนเที่ยว : ชีทวน ที่อุบลฯ
 
 
                              แม้ปัจจุบัน สินค้าพวกนี้เป็นที่ต้องการ ไปถึงตลาดต่างประเทศ แต่ก็ไม่สามารถเร่งงานได้ ใครจะสั่งซื้อต้องอดทน แต่สินค้าที่ได้ไป รับรองว่ามีชิ้นเดียวในโลกเพราะผ่านการทำมือ ด้วยความใส่ใจทุกขั้นตอน  
 
                              ติดต่อซื้อ หรือดูงาน : 08-1548-4292  (บุญมี ล้อมวงศ์)
 
 
 
 
 
------------------------
 
(ชวนเที่ยว : ชีทวน ที่อุบลฯ : เรื่อง / ภาพ ... นพพร วิจิตร์วงษ์)
 
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ