Lifestyle

'หอมมะลิธรรมศาสตร์'ความหวังข้าวคุณภาพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำมาหากิน : วิจัยข้าวพันธุ์ใหม่ 'หอมมะลิธรรมศาสตร์' อีกความหวังชาวนาไทยผลิตข้าวคุณภาพ : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 
                          ข้าวหอมดอกมะลิ 105 ข้าวคุณภาพของไทยที่ปลูกได้ปีละครั้ง แต่จากนี้ไปจะปลูกได้ปีละ 3-4 ครั้ง หลังทีมนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการนำของ รศ.ดร.บุญหงษ์ จงคิด และคณะ ประสบความสำเร็จในการวิจัยปรับปรุงข้าวหอมดอกมะลิสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่ต่างไปจากพันธุ์ดั้งเดิม ภายใต้ชื่อ "ข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์" ล่าสุดคว้ารางวัลเหรียญเงินในกลุ่มงานด้านพืชสวนและเกษตรกรรมจากการส่งเข้าประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
 
                          "ผมต้องใช้เวลา 5 ปีเต็มในการทำวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 จนได้ข้าวหอมพันธุ์ใหม่ที่ความหอม ความอร่อยไม่ต่างไปจากพันธุ์ดั้งเดิม แต่เพิ่มผลผลิตต่อไร่สูงกว่าและปลูกได้ปีละหลายครั้ง หวังยกระดับข้าวคุณภาพส่งออกของไทยสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้น"
 
                          รศ.ดร.บุญหงษ์ จงคิด หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าทีมคิดค้นข้าวพันธุ์ใหม่เผยว่า “ข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์” เป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ปรับปรุงพันธุ์จากเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 โดยใช้เทคนิคการฉายรังสีแกมมาในสายพันธุ์เดิมและคัดเลือกสายพันธุ์จนได้สายพันธุ์ข้าวกลายพันธุ์ KDML105’ 10GR-TU-70-10 (หอมมะลิธรรมศาสตร์) ที่ยังคงมีลักษณะคุณภาพการหุงต้มและรับประทานดีเทียบเท่ากับพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 แต่มีคุณลักษณะที่โดดเด่นกว่า เพราะเป็นข้าวเจ้าที่ไม่ไวต่อแสงในการออกดอก 
 
                          "ลักษณะเด่นก็คือลำต้นเตี้ยสูงไม่เกิน 100 เซนติเมตร ไม่หักล้มง่าย ทนแล้ง ต้านทานต่อโรคและแมลงรบกวนได้ดี ส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ที่สำคัญสามารถเพาะปลูกได้ปีละหลายๆ ครั้ง ทั้งในฤดูนาปีและนาปรัง เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถของการผลิตข้าวหอมต่อปีได้มากขึ้น"
 
                          เจ้าของผลงานเด่นระบุอีกว่า ปกติข้าวหอมมะลิจะให้ผลผลิตต่อไร่น้อย เฉลี่ยไม่เกิน 400 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ข้าวพันธุ์ใหม่นี้เฉลี่ยสถิติล่าสุดคือ 900 กิโลกรัมต่อไร่ จะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตข้าวคุณภาพเพื่อการส่งออกได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีไม่ปัญหาในเรื่องการกลายพันธุ์ เพราะเป็นข้าวพันธุ์แท้จึงสามารถเก็บผลผลิตนำไปผลิตต่อในฤดูกาลต่อไปได้เป็นอย่างดี    
 
                          "ถ้าเป็นข้าวขาวธรรมดา ยังไงเราก็สู้เวียดนามไม่ได้ เพราะต้นทุนการผลิตเขาต่ำกว่า แต่ถ้าเป็นข้าวคุณภาพยังไงก็สู้เราไม่ได้ ข้าวคุณภาพผู้บริโภคไม่เกี่ยงเรื่องราคา เพียงผลผลิตออกมาน้อย เพราะมีข้อจำกัดเรื่องการเพาะปลูกคือปลูกได้ปีละครั้ง ต่อไปนี้ปัญหาดังกล่าวจะหมดไป เมื่อมีข้าวหอมพันธุ์ใหม่เข้ามาเสริม ซึ่งเกษตรกรต้องรออีกไม่เกิน 9 เดือนหลังได้รับการรับรองพันธุ์แล้วก็จะนำไปทดลองในโครงการพระราชดำริต่างๆ จากนั้นก็จะนำเมล็ดพันธุ์เผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป" รศ.ดร.บุญหงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
 
                          ขณะที่ ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์ว่าเป็นอีกผลงานเด่นที่ได้รับรางวัลเหรียญเงินในกลุ่มงานด้านพืชสวนและเกษตรกรรมจากการส่งเข้าประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นผลงานที่เป็นความหวังของประเทศไทยและเกษตรกรไทยในการเพิ่มผลผลิตข้าวหอมคุณภาพได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นข้าวที่ไม่มีปัญหาในเรื่องราคาและตลาดส่งออก เพียงแต่ผลิตออกมาน้อย เพราะปลูกได้ปีละครั้งเท่านั้น
 
                          "ก็ขอแสดงความยินดีกับนักวิจัยที่ได้รับรางวัล โดยเฉพาะข้าวนั้นเป็นอีกพืชเศรษฐกิจที่ทางรัฐบาลและวช.ให้ความสำคัญในการมุ่งเน้นงานวิจัยในทุกขั้นตอนการผลิตเพื่อเป้าหมายประเทศชาติและเกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุดนั่นเอง" เลขาธิการ วช.กล่าว
 
                          นับเป็นอีกก้าวของนักวิจัยไทยในการคิดค้นข้าวหอมคุณภาพสายพันธุ์ใหม่ ภายใต้ชื่อ "ข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์" ที่เป็นความหวังของเกษตรกรชาวนาไทยในอนาคต
 
 
 
 
-------------------------
 
(ทำมาหากิน : วิจัยข้าวพันธุ์ใหม่ 'หอมมะลิธรรมศาสตร์' อีกความหวังชาวนาไทยผลิตข้าวคุณภาพ : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ