Lifestyle

'หุ่นเงา'สื่อใหม่ชุมชน-ปลูกฝังวัฒนธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำมาหากิน : ผลิต 'หุ่นเงา' เป็นสื่อใหม่ในชุมชน ตระเวนแสดงปลูกฝังวัฒนธรรม

 
                          จากความเจริญในด้านวิทยาการสมัยใหม่ ทำให้ เตือนใจ สิทธิบุรี หรือ "ป้าป้อม" ชาว อ.บางแก้ว จ.พัทลุง มองว่านับวันวัฒนธรรมอันดีงามในท้องถิ่นจะถูกเมินจากเด็กสมัยใหม่ ทำให้เธอมีแนวคิดผลิต "หุ่นเงา" เพื่อเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่เป็นตัวเชื่อมเด็กๆ ในท้องถิ่น ได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตรในท้องถิ่น ภายใต้โครงการพื้นที่สร้างสรรค์ ด้วยสายใยสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนปี 2 จังหวัดพัทลุง โดยได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 
 
                          เตือนใจ เล่าว่า “หุ่นเงา” ทำมาจากหนัง กระดาษแข็ง กระจกใส หรือพลาสติกก็ได้ ถ้าต้องการให้มีสี จะทาสีต่างๆ ลงไป มีลักษณะเป็นหุ่นแบนๆ เจาะลายฉลุ มีไม้เสียบกลางตัว และมีไม้โยงจากอวัยวะส่วนที่ต้องการ เพื่อดึงให้เคลื่อนไหวคล้ายหนังตะลุง หรือหนังใหญ่ การเชิดจะใช้แสงส่องผ่านตัวหุ่นให้เงาของหุ่นปรากฏบนจอผ้าขาวที่ขึงไว้ คนดูจะไม่เห็นตัวหุ่น แต่จะเห็นเฉพาะเงาของหุ่นเท่านั้น  เมื่อส่องไฟผ่านจะเห็นเป็นสีสันปรากฏที่จอ ส่วนวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ประกอบไปด้วย ฉากหรือผ้าฉาก กระดาษโปร่งแสง ไฟฉาย ไฟหลากหลายสีที่ทำให้เกิดเงาในหลากหลายมิติ  ซึ่งหุ่นเงาเหล่านนี้ผลิตขึ้นมาโดยมีความมุ่งมั่นว่าอยากจะใช้หุ่นเงาเป็นตัวเชื่อมเด็กๆ ในท้องถิ่น
 
                          อย่างในปี 2556 ได้นำหุ่นเงาไปแสดงในพื้นที่ ต.นาปะขอ และ ต.นาท่อม อ.บางแก้ว ซึ่งร่วมกันทำงานสืบค้นเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชนของตนเอง จนปัจจุบันนี้หุ่นเงา ถือเป็นสื่อสมัยใหม่ที่เด็กๆ สร้างสรรค์ให้อยู่คู่กับชุมชนตนเองไปแล้ว อย่างปีที่แล้ว เตือนใจ ชวนกลุ่มมานีมานะ ซึ่งเป็นกลุ่มนักทำกิจกรรมที่ใช้กระบวนการละครเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านศิลปะเชิงสร้างสรรค์ ด้วยหลักสูตรหุ่นเงาให้แก่เด็กๆ และเริ่มออกแสดงเรื่องแรกในชื่อตอนว่า "บ้านคลองกระอาน" เป็นเรื่องราวของเต่าที่เคยมีอยู่จำนวนมาก ส่วนที่ ต.นาท่อม แสดงเรื่องแรก คือ  “คืนข้ามปีที่นาท่อม” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่เก่าแก่ของนาท่อม
 
                          สุนิษา เนียมสกุล เด็กสาววัย 17 ปี หนึ่งในผลผลิตจากโครงการหุ่นเงาสภาเด็กและเยาวชน ต.นาท่อม และเป็นผู้เชิดหุ่นเงาเรื่อง “คืนข้ามปีที่นาท่อม” บอกว่า ได้รู้จักหุ่นกับเงาครั้งแรกเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว เห็นแล้วน่าสนใจจึงร่วมกับป้าป้อม ส่วนหุ่นเงาในอุดมคติที่คิดไว้ คือ การใช้เงาของมือในการแสดง เกิดเป็นรูปหรือสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น กระต่าย สุนัข เป็นต้น แต่เมื่อพี่ๆ ที่กลุ่มมานีมานะ เข้ามาฝึกสอนและให้ความรู้เกี่ยวกับหุ่นเงา ทำให้ความคิดที่มีต่อ “เงา” ในอุดมคติเดิมเปลี่ยนไป 
 
                          "เรื่องของการเรียนรู้การแสดง ที่พี่ๆ ได้แนะนำในทุกๆ ขั้นตอนเริ่มจากการวางโครงเรื่อง การวิเคราะห์ถึงตัวละครในเรื่อง รวมถึงบทละครที่สอดแทรกศิลปวัฒนธรรมและของดีต่างๆ ที่มีมาด้วยทำให้เด็กๆ อย่างเราๆ สามารถจดจำเรื่องราวต่างๆ ง่ายขึ้น ที่สำคัญเมื่อนำไปแสดงมีคนสนใจ และมีรอยยิ้มเกิดขึ้นด้วย" สุนิษา กล่าว
 
                          ส่วน นราวิชญ์ ผุดพัฒน์ เด็กชายวัย 11 ขวบ ผลผลิตจากโครงการหุ่นเงาสภาเด็กและเยาวชน ต.นาท่อม และผู้พากย์หุ่นเงา เรื่อง “คืนข้ามปีที่นาท่อม” บอกว่า ดีใจที่มีโอกาสออกแสดงหุ่นเงาตามสถานที่ต่างๆ ตื่นเต้นทุกครั้งที่ออกแสดง สำหรับเทคนิคในการพากย์เสียง พี่ๆ แนะนำมาว่า ต้องใช้อารมณ์ร่วมเหมือนเป็นนักแสดง แต่ใช้เงาเป็นตัวหลักในการสื่อความหมาย และสิ่งสำคัญที่นักพากย์จะต้องเรียนรู้ คือ การรอฉากหรือสถานการณ์ด้วย เวลาพากย์จะใช้ภาษาท้องถิ่น เพื่อเป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ พอแสดงจบได้ยินเสียงปรบมือจากคนดูก็รู้สึกชื่นใจ รู้สึกว่าเราสามารถที่จะทำออกมาได้ดี
 
                          นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว หุ่นเงา ก็ยังเป็นสื่อสมัยใหม่สำหรับท้องถิ่น จ.พัทลุง ที่คนกำลังสนใจในขณะนี้
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ