พระเครื่อง

พระหลวงพ่อทวดวัดช้างให้หลังหนังสือพิมพ์เล็กธรรมดาปี๒๕๐๕

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระหลวงพ่อทวดวัดช้างให้หลังหนังสือพิมพ์เล็กธรรมดาปี๒๕๐๕ : ปกิณกะพระเครื่อง ตาล ตันหยง

               พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๕ แบ่งออกได้ ๔ พิมพ์ (บล็อก) หลัก คือ พิมพ์เล็กมีตัว ท, พิมพ์เล็ก ว จุด, พิมพ์เล็ก วงเดือน และ พิมพ์เล็ก ธรรมดา

               แต่ละพิมพ์ที่ว่านี้ยังแบ่งออกได้เป็นพิมพ์ย่อยๆ อีกหลายพิมพ์ ซึ่งมักแบ่งย่อยตามลักษณะโครงหน้าของหลวงพ่อทวด และลักษณะของตัวหนังสือที่แตกต่างกันในรายละเอียด

               วันนี้จะเน้น พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก ธรรมดา ปี ๒๕๐๕ ซึ่งเท่าที่วงการเล่นหามีการแบ่งย่อยออกไปหลายพิมพ์ โดยการแบ่งลักษณะพิมพ์ย่อยจะนิยม มองไปที่ลักษณะตัวหนังสือ คือ “หัว ตัว ว” ของคำว่า “วัด” ที่แตกต่างกันในรายละเอียดเป็นสำคัญ จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ (หรือบล็อก) ต่างๆ เช่น พิมพ์ ว หัวกลวง, พิมพ์ ว หัวตัด, พิมพ์ ว หัวห่าง และ พิมพ์จมูกชมพู่-ว หัวตัน เป็นต้น

               วันนี้จะขอเจาะจงเฉพาะ พิมพ์ย่อยหลังหนังสือ พิมพ์เล็ก ธรรมดา ที่ว่านี้อย่างละเอียด

               องค์ที่ ๑ พิมพ์ ว หัวกลวง พิมพ์นี้มีจุดสังเกต คือ ที่หัวตัว ว ของคำว่า “วัด” มีลักษณะกลวง และที่ปลายตัว ว เดียวกันนี้จะแตกออกมาเป็นสองแฉก

               องค์ที่ ๒ พิมพ์ ว หัวตัด สอดคล้องกับชื่อพิมพ์ที่ตั้งคือหัว ตัว ว ของคำว่า “วัด” มีลักษณะตัดขาดไป และที่ปลายตัว ว เดียวกันนี้จะไม่แตกออกมาเป็นสองแฉก เหมือนพิมพ์ ว หัวกลวง (หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ด้านหลังของพระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ พิมพ์เล็กมีหู ปี ๒๕๐๖ จะมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ กับพิมพ์หัวกลวง หรือพิมพ์หัวตัด)

               อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาที่ด้านหน้าองค์พระ จะเห็นว่า ๒ พิมพ์มีลักษณะคล้ายกันมาก จะต่างกันเล็กน้อยตรงฟอร์มของสันจมูก และเม็ดตาของหลวงพ่อทวด กล่าวคือ พิมพ์ ว หัวตัน สันจมูกมักดูโด่งล่ำกว่า บางองค์มีเส้นแตกจากจมูกลงมาถึงริมฝีปาก และเม็ดตาฝั่งซ้ายหลวงพ่อทวดจะดูเล็กกว่า เมื่อเทียบกับ พิมพ์ ว หัวกลวง ส่วนรอยตัดข้างและก้นองค์พระไม่แตกต่างกัน (ดังแสดงในองค์ที่ ๒)...พระ ๒ องค์นี้จัดเป็นพระสวยสมบูรณ์แทบร้อยเปอร์เซ็นต์ มีผิวปรอทแบบเดิมๆ คลุมทั้งองค์ เคยเป็นแชมป์งานประกวดใหญ่ของสมาคมพระเครื่องมาแล้วหลายครั้ง

               อย่างไรก็ตามยังมีพิมพ์ย่อยอีกพิมพ์ที่มักไม่กล่าวถึงกันมากนัก อันเนื่องจากจำนวนพระมีน้อย ซึ่งพิมพ์ที่ว่านี้มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากพิมพ์ย่อยอื่น อย่างชัดเจน ตามที่โชว์องค์ที่ ๓ ในภาพนี้ กล่าวคือ สัณฐานของจมูกคล้ายกับผลชมพู่ เส้นเสี้ยนจะวิ่งในแนวนอน (พิมพ์อื่นส่วนใหญ่เส้นเสี้ยนวิ่งในแนวดิ่ง) และหัวตัว ว ไม่มีช่องกลวง มีลักษณะคล้าย ว หัวตัน จึงเรียกพระพิมพ์นี้ว่า พิมพ์จมูกชมพู่-ว หัวตัน...พระพิมพ์นี้ส่วนใหญ่ที่เจอจะแปลกมาก คือ จะเจอประเภทเนื้อทองเหลืองเปียกทอง มากกว่าเนื้อทองเหลืองรมดำ และมักจะเลี่ยมพลาสติกแบบโบราณปิดไว้ อย่างองค์เปียกทองที่โชว์นี้ (ผู้อ่านจะได้เห็นว่า การเลี่ยมแบบโบราณมีลักษณะอย่างไร ซึ่งบางครั้งสามารถใช้ประกอบพิจารณาความเป็นพระแท้พระเก๊ได้เช่นกัน)

               พระพิมพ์จมูกชมพู่-ว หัวตัน ที่โชว์นี้ ถือว่าเป็นพระที่ยังคงสภาพเดิมไว้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่ผ่านการสัมผัสมาก่อนเลย ในองค์ที่รมดำยังมีผิวปรอทคลุมทั้งองค์ และองค์เปียกทองเลี่ยมโบราณยังคงรักษาสภาพความสมบูรณ์ขององค์พระไว้ทั้งหมด

               องค์ที่ ๔ พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก ว จุด ปี ๒๕๐๕ โชว์ประกอบเพื่อให้เห็นความแตกต่างของ หัวตัว ว กรณีพิมพ์ ว จุด จะมีตุ่มเล็กๆ ที่ปลายหัว ตัว ว และข้อสังเกตอันหนึ่งในพิมพ์นี้คือ จะมีแพของเส้นเสี้ยนกระจายออกเป็นรัศมีบริเวณนี้

               พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก ธรรมดา ที่สวยสมบูรณ์ผ่านการเป็นแชมป์ทั้ง ๓ องค์ที่โชว์นี้ มูลค่าการเช่าหาเกินหลักแสนมานานแล้ว ยิ่งพิมพ์ ว จุด นั้นต้องว่ากันที่หลัก ๒ แสนบาทเป็นอย่างน้อย โดยเฉพาะในองค์ที่สวยสมบูรณ์ระดับแชมป์อย่างที่เห็นในภาพนี้

               ขอขอบพระคุณ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ผู้ชำนาญการพระสายหลวงพ่อทวด นักสะสมพระชุดหลวงพ่อทวด องค์สวยแชมป์ไว้แทบครบทุกพิมพ์ ซึ่งเป็นเจ้าของ พระหลวงพ่อทวดทั้ง ๔ องค์ ในคอลัมน์นี้ พร้อมทั้งให้ข้อมูลเชิงเทคนิคตามบทความนี้ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ