Lifestyle

สกว.ชี้ช่องรวยปลูกมะละกอครั่งรายได้นับแสน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สกว.ชี้ช่องทางรวยให้เกษตรกรปลูกมะละกอครั่งรายได้นับแสน

               28ก.พ.2557 ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว). พร้อมด้วย รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการด้านและคณะ เดินทางไปเยี่ยมชมผลงานวิจัยในโครงการ “ศูนย์วิจัยและพัฒนามะละกอบริโภคสดจังหวัดมหาสารคามและกลุ่มอีสานตอนกลาง” ซึ่ง สกว. ให้การสนับสนุนร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารสารคาม โดยมี รศ.ดร. รภัสสา เป็นหัวหน้าโครงการ ณ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดมะละกอพันธุ์ครั่งของกลุ่มเกษตรกร ประเด็นปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์มะละกอสายพันธุ์ครั่ง และการนำเมล็ดพันธุ์/กล้าพันธุ์มะละกอสายพันธุ์ที่ได้พัฒนาขึ้นไปใช้ประโยชน์

               มะละกอสายพันธุ์ครั่งเนื้อเหลืองที่พัฒนาได้เป็นพันธุ์ผิวเรียบที่มีความบริสุทธิ์และความสม่ำเสมอของสายพันธุ์ มีความทนทานต่อโรคใบจุดวงแหวน และสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เป็นอย่างดี ระยะเวลาเก็บเกี่ยวสามารถเก็บผลดิบได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน และผลสุกตั้งแต่อายุ 7 เดือนหลังการปลูก โดยมีปริมาณผลต่อต้นเฉลี่ยมากกว่า 100 ผล ผลผลิตสดต่อไร่เฉลี่ย 21,537 กิโลกรัมต่อไร่ น้ำหนักผลสดต่อลูกประมาณ 1.45 กิโลกรัม เนื้อผลดิบสีขาวเขียวกรอบมาก และผลสุกเนื้อเหลืองอมส้ม และเมื่อทดสอบความเหมาะสมต่อการบริโภคดิบของผู้นิยมบริโภคส้มตำและเจ้าของร้านส้มตำในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม พบว่าทั้งผู้บริโภคและแม่ค้าให้การยอมรับมะละกอสายพันธุ์ครั่งเนื้อเหลืองทั้งในเรื่องของน้ำหนักผล ระยะเวลาในการเก็บเส้นมะละกอดิบ สีเนื้อ เนื้อสัมผัส รสชาติ และความกรอบโดยเฉลี่ยรวมสูงถึงร้อยละ 88

               ผลการดำเนินงานเพียงระยะ 6 เดือนแรกหลังการลงนามความร่วมมือระหว่าง สกว. และมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม นักวิจัยสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์สายพันธุ์ครั่งเนื้อเหลือง (ศรีราชภัฏ) ที่มีความบริสุทธิ์ เพื่อจำหน่ายแก่เกษตรกร จนสามารถสร้างรายได้ให้แก่ศูนย์ฯ แล้วจำนวน 22,100 บาท ได้โรงเรือนเก็บรักษาต้นพันธุ์มะละกอและผลิตกล้าจำนวน 1 โรงเรือน ซึ่งตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้ออกบริการวิชาการเพื่อสร้างเครือข่ายการปลูกมะละกอในท้องถิ่นของจังหวัดมหาสารคามและยโสธรรวมจำนวน 7 ครั้ง โดยมีเกษตรผู้เข้ารับการอบรมรวมจำนวน 7,450 คน ได้ปัญหาพิเศษสำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรีจำนวน 5 เรื่อง และอยู่ระหว่างการตีพิมพ์ผลงานวิจัยจำนวน 1 เรื่อง นอกจากนี้ยังได้เผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการสำหรับทางเลือกให้กับเกษตรกรในการปลูกมะละกอสายพันธุ์ใหม่สำหรับการบริโภคผลดิบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านสื่อต่าง ๆ  

               สำหรับผลลัพธ์ที่เกิดจากการดำเนินงานของศูนย์ฯ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยเตย กุดรัง มะค่า หนองโก และชื่นชม จังหวัดมหาสารคาม สนับสนุนงบประมาณรวมจำนวน 2.1 แสนบาท ในการจัดฝึกอบรมการผลิตมะละกอในพื้นที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคามได้จัดทำแปลงสาธิตการผลิตมะละกอในพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรศึกษาดูงาน เรือนจำกลางจังหวัดมหาสารคามขอให้สำนักบริการวิชาการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 20,000 บาท ในการผลิตมะละกอเพื่ออาหารกลางวันและเพื่อการบำบัดน้ำเสียในโรงเรือน สถานีตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคามขอให้ศูนย์ฯ จัดฝึกอบรมการผลิตมะละกอให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนงบประมาณจำนวน 60,000 บาท ในการจัดคลินิกเคลื่อนที่ชุดการผลิตมะละกอปลอดสารและการเพาะมะละกอพันธุ์ศรีราชภัฏ เครือข่ายกสิกรรมทางเลือกภาคตะวันออกสนับสนุนงบประมาณจำนวน 30,000 บาท ในการผลิตเมล็ดพันธุ์และรวบรวมพันธุ์มะละกอ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวได้ขอความร่วมมือจากศูนย์ฯ ในการส่งเสริมการปลูกมะละกอให้กับนักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัย อีกทั้งได้มีกระจายเมล็ดพันธุ์ครั่งเนื้อเหลือง เพื่อนำไปปลูกใน 42 จังหวัดทั่วประเทศ

               “จากการดูงานมะละกอครั่งเนื้อเหลืองและครั่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ได้งบสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกว. เพื่อปรับปรุงพันธุ์เพื่อการบริโภคสด (มะละกอส้มตำ) และร่วมหารือกับเกษตรกร พบว่าสายพันธุ์ครั่งให้ผลผลิตสูงถึง 10-15 ตันต่อไร่ ทนทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวน ส่งผลให้เกษตรกรมีผลตอบแทนมากกว่า 1.5-2 แสนบาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต (ระยะเวลา 18 เดือน) นับว่างานวิจัยนี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก เพราะเห็นผลผลิตที่ชัดเจนในปริมาณมากพอ ผลผลิตดีกว่าสายพันธุ์เดิม และสามารถจำหน่ายสร้างรายได้และผลกำไรที่ดีแก่เกษตรกรโดยมีพ่อค้ามารับถึงสวน จึงนับว่าคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ” ผู้อำนวยการ สกว.ระบุ

               สำหรับผู้สนใจเมล็ดมะละกอสายพันธุ์ครั่งเนื้องเหลืองนี้ สามารถติดต่อซื้อได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนามะละกอบริโภคสดจังหวัดมหาสารคามและกลุ่มอีสานตอนกลาง โทรศัพท์ 08-9063-2770 หรือ http://aes.rmu.ac.th และ http://ag.rmu.ac.th/


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ