Lifestyle

'มาลัยไม้ไผ่' ของดีภูมิปัญญา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำมาหากิน : 'มาลัยไม้ไผ่' ของดีภูมิปัญญา งานฝีมือสร้างค่าชนเผ่าภูไท : โดย...ปัญญาพร สายทอง

 

                         ต้องยอมรับในงานฝีมือที่สร้างสรรค์จากคนภูไท โดยเฉพาะพวงมาลัยไม้ไผ่ที่มีลักษณะคล้ายกับดอกไม้ ขนาดเท่าฝามือที่มีความอ่อนช้อย ซึ่งเป็นงานประดิษฐ์จากกลุ่มอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมมาลัยไม่ไผ่ บ้านกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ที่ได้ร่วมกันผลิตขึ้นเพื่อใช้ในบุญข้าวประดับดิน ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีแล้วยังได้นำออกจำหน่ายให้ลูกค้าที่มีความสนใจ โดยจัดทำขึ้นเป็นเข็มกลัด ปิ่นปักผม และอื่นๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ

                         นารี ศรีกำพล รองประธานกลุ่มอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมมาลัยไม้ไผ่บ้านกุดหว้าย้อนที่มาให้ฟังว่า การทำพวงมาลัยไม้ไผ่นั้นมีมานานกว่า 100 ปีแล้ว เริ่มมาจากแต่เดิมทุกวันพระช่วงเทศกาลเข้าพรรษา โดยเฉพาะแรม 13-14 ค่ำ เดือน 9 กับวันขึ้น 14-15 ค่ำเดือน 10 กลางคืนจะมีหนุ่มสาวจำนวนมากไปฟังพระเทศน์ และได้จัดทำต้นกัลปพฤกษ์ถวายพระด้วย โดยใช้ปลายของไม้ไผ่เป็นที่แขวน หรือใช้ต้นหม่อน และนำใบมะพร้าวมาประดับให้สวยงาม คล้ายดอกไม้แล้วแขวนด้วยสิ่งของ เช่น พริก ยาสูบ ขนม สบู่ ยาสีฟัน และของใช้ต่างๆ เพื่อนำไปถวายพระ

                         จนเมื่อประมาณปี 2456 ได้มีพ่อค้ามาจากเมืองเวย์ อ.เรณูนคร จ.นครพนม ได้มาพักที่วัด มีความประสงค์จะร่วมทำบุญ แต่ไม่ได้เตรียมสิ่งของสำหรับทำบุญมาด้วย จึงนำไม้ไผ่ไร่ข้างๆ วัด มาทำเป็นพวงมาลัยคล้ายดอกไม้เพื่อใช้แขวนปัจจัย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพี่น้องชาวบ้านกุดหว้าจึงได้ทำพวงมาลัยไม้ไผ่จนถึงวันนี้นับมาเป็นเวลากว่า 100 ปี

                         "ชาวบ้านจะทำขึ้นจากการนำไม้ไผ่มาเหลาให้บางแล้วดัดทรงให้เป็นดอกไม้ ร้อยเป็นพวงมาลัยพร้อมปัจจัยต่างๆ แล้วนำไปวัดเพื่อแห่รอบโบสถ์ เรียกว่าแห่ยอดพวงมาลัย แล้วจะนำไปแขวนรวมกันไว้เป็นพุ่มขนาดใหญ่ที่ต้นกัลปพฤกษ์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา"

                         นารีเล่าต่อว่า จากนั้นประมาณปี 2526 ชาวบ้านได้ร่วมกลุ่มกันทำมาลัยไม้ไผ่ใช้ชื่อว่า กลุ่มอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมมาลัยไม้ไผ่ ปัจจุบันมีนายชูมา แสงชมพู เป็นประธานกลุ่ม โดยมองว่าเป็นการสืบสานวัฒนธรรมส่งต่อลูกหลานต่อไป อย่างไรก็ตามชาวบ้านนอกจากจะทำพวงมาลัยไม้ไผ่แล้วยังประดิษฐ์เป็นสิ่งของอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น เข็มกลัดลักษณะเหมือนดอกไม้ หรือแม้กระทั่งทำปิ่นปักผม และยังประดิษฐ์มาลัยไม้ไผ่ หรือเรียกว่า พวงมาลัยไม้ไผ่วิจิตรศิลป์ ซึ่งเป็นลักษณะอื่นๆ ไว้สำหรับตกแต่งไม่ว่าจะเป็น บ้าน อาคาร พุ่มดอกไม้ เป็นต้น ซึ่งขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป ซึ่งจะมีการจัดประกวดกันทุกปี

                         "แต่ก่อนจะทำในช่วงเทศกาลแล้วเก็บไว้ แต่เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานขอนแก่นมาเห็นจึงได้พาไปออกงานที่ จ.นครพนม เป็นครั้งแรก ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเมืองทองธานี จนทำให้ผู้คนที่พบเห็นเกิดความสนใจและสั่งสินค้าไปเป็นของฝากเป็นจำนวนมาก ทำให้กลุ่มได้ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายอีกทางหนึ่งด้วย โดยส่วนใหญ่ลูกค้าจะสั่งเป็นจำพวก เข็มกลัด ปิ่นปักผม ส่วนอีกอย่างจะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเป็นของฝาก อย่างมาลัยวิจิตรศิลป์"

                         รองประธานกลุ่มคนเดิมยังอธิบายถึงขั้นตอนการทำโดยระบุว่า สำหรับการประดิษฐ์มาลัยไม้ไผ่นี้ไม่ใช่เรื่องง่ายมากนัก ใช้วัตถุดิบเพียงไม้ไผ่ไร่ อายุ 3-4 ปี ตัดทิ้งไว้ 15 วัน มีด เขียงรองตอก กาวร้อน และแล็กเกอร์ ส่วนวิธีการนั้นจะนำไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ตัดเป็นท่อน ยาวประมาณ 1 ฟุต ผ่าเป็นซี่ เหลาให้บาง กว้าง 2 นิ้ว จำนวน 6 ชิ้น วัดระยะห่างเท่าๆ กัน หักพับให้เท่าๆ กัน เหลาลบมุมทุกชิ้น ผ่าเป็นซี่เล็ก 10 ซี่ จะนำชิ้นส่วนไม้ไผ่เล็กๆ ที่ตัดออกมาทำเป็นแผ่น แล้วผ่าออกเป็นซี่ๆ เมื่อได้ชิ้นส่วนมาครบจำนวนก็นำมาประกอบด้วยการเอาซี่ไม้ไผ่เสียบเข้าหากันสลับฟันปลา

                         จากนั้นจึงนำไม้ไผ่มาประกอบเป็นดอก โดยใช้ไม้ไผ่ที่เตรียมไว้มาประกบเข้าลายเพื่อทำเป็นดอกมาลัยไม้ไผ่ จะได้ 3 คู่ ซึ่งในขั้นตอนนี้ใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ผู้ทำต้องมีความชำนาญ คลี่ไม้ออกจะได้ดอกมาลัยไม้ไผ่ จำนวน 1 ดอก ส่วนมาลัยวิจิตรศิลป์ เป็นความคิดสร้างสรรค์ของภูมิปัญญาที่สรรค์สร้างให้สวยงามขึ้นอยู่กับความคิดของผู้ประดิษฐ์ว่าจะทำออกมาในรูปแบบไหน

                         ปัจจุบันได้พัฒนารูปแบบของมาลัยวิจิตรศิลป์ให้มีลักษณะที่หลากหลายและอนุรักษ์วัฒนธรรม ซึ่งเหมาะกับการเป็นของฝากที่มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ทำให้เริ่มมองว่าในอีสานมีอะไรบ้าง อย่างที่บั้งไฟ ตะไลล้าน ซึ่งมีที่เดียว คือ ที่บ้านกุดหว้า จึงนำบั้งไฟไปประกอบในมาลัยวิจิตรศิลป์ รวมไปถึงของอื่นๆ ที่มีความเป็นอีสาน ไม่ว่าจะเป็น พิณ แคน ก็นำมาประดิษฐ์และประกอบในมาลัยวิจิตรศิลป์ด้วยเช่นกัน เพื่อให้สินค้าสื่อออกมาเป็นสินค้าอีสานอย่างแท้จริง

                         "ราคาสินค้าขึ้นอยู่กับความประณีตและละเอียดของชิ้นงาน อย่างปิ่นปักผม เข็มกลัด ราคา 50 บาท หากมีความละเอียดมากขึ้นอย่างของที่ใช้แขวนหน้ารถ ราคาประมาณ 300 บาท ส่วนมาลัยวิจิตรศิลป์ราคาจะอยู่ที่ 2,500-3,000 บาท ใครสนใจสามารถติดต่อมาได้ที่ผมโดยตรง 08-2308-1997 ครับ" นารีบอก

                         นับเป็นผลิตภัณฑ์เด่นที่เป็นภูมิปัญญาของกลุ่มชนเผ่าภูไท จนสามารถนำมาต่อยอดในการสร้างอาชีพและรายได้ให้สมาชิกชุมชนได้เป็นอย่างดี

 

 

---------------------------

(ทำมาหากิน : 'มาลัยไม้ไผ่' ของดีภูมิปัญญา งานฝีมือสร้างค่าชนเผ่าภูไท : โดย...ปัญญาพร สายทอง)

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ