พระเครื่อง

หลวงพ่อแววเจ้าตำรับ'ยันต์ตระกรุเงินตุงกระเป๋า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลวงพ่อแวว รวิวณฺโณวัดภูเงิน เจ้าตำรับ 'ยันต์ตระกรุเงินตุงกระเป๋า' : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

              "พระอธิการแวว รวิณโณ" หรือ "หลวงพ่อแวว" เจ้าอาวาสวัดภูเงิน บ้านภูเงิน ต.ภูเงิน อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว อาจจะไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนในหมู่กว้าง แต่ท่านเป็นพระเกจิดังของจ.สระแก้ว และปราจีนบุรี นอกจากนี้แล้วแม้ว่าวัดแห่งนี้จะอยู่ห่างไกลและขึ้นชื่อว่ากันดาร แต่ทุกๆ วัน จะมีญาติโยมแวะไปสนทนาธรรม ขอพร และที่ขาดไม่ได้ คือ "ยันต์เงินตุงกระเป๋า" ซึ่งมีคำรำลือของผู้ที่นำไปใช้ว่า "มีพุทธคุณด้านโภคทรัพย์เป็นเลิศ" 

              "ยันต์ตระกรุดเงินตุงกระเป๋า" ของหลวงพ่อแววนั้นที่แตกต่าง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร คือ การเขียนยันต์ ๒ ชุด ๒ ด้าน มียันต์ ๔ แถว ของแผ่นยันต์ ด้านหนึ่งเขียนเรียงตัวตามธรรมดา ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นการเขียนกลับกัน ปกติทั่วไปแล้วเมื่อเขียนยันต์เสร็จพระเกจิอาจารย์จะม้วนแผ่นยันต์เป็นตะกรุด แต่หลวงพ่อแววจะพับครึ่งแผ่นยันต์แล้วพับขอบ ๒ ด้าน เป็นกระเป๋า จากนั้นจะขอธนบัตรจากญาติโยม ๑ ใบ พร้อมทั้งขอ ชื่อ นามสกุล วัน เดือน ปีเกิด ของผู้ที่จะรับมอบมาลงอักขระเลขยันต์ เมื่อลงเสร็จก็จะพับธนบัตรยัดลงในแผ่นยันต์ก่อนที่จะพับปิดอีกด้านหนึ่งจึงมอบให้ญาติโยมกลับไปบูชา ทั้งนี้อาจารย์แววจะลงอักขระเลขยันต์ทุกตัวด้วยมือของตัวเอง 

              นอกจากนี้แล้วยังมีคาถาอยู่บทหนึ่งให้สวดภาวนาตื่นนอน ๓ จบ และก่อนนอน ๓ จบ เป็นการเรียกทรัพย์ เรียกเงิน เรียกทอง แลโชคลาภต่างๆ
หากใช้เวลาค้าขายยิ่งดีนักแล ที่ว่า "นะมามีมา มหาลาภา อิติพุทธัสสะ สุวัณณัง วา ระชะตัง วา มาณิง วา ธะนัง วา พีชัง วา อัตถัง วา ปัตถังวา เอหิ เอหิ อาคัจเฉยยะ อิติมีมา นะมามิหังฯ"

              สำหรับที่มาของ"ยันต์เงินตุงกระเป๋า" นั้น "หลวงพ่อแวว" เล่าให้ฟังว่า หลังจากบวชเป็นพระใหม่ได้ออกจาริกไปประเทศมาเลเซีย จากนั้นไปศึกษาเรื่องอักขระเลขยันต์ที่ภูเขาควาย ประเทศลาว รวมทั้งไปศึกษาเรื่องอักขระเลขยันต์ที่ภูเขาพนมกุเลน ประเทศกัมพูชา รวมทั้ง ศึกษาอักขระเลขยันต์ของไทย ซึ่งมียันต์ชุดหนึ่งที่เหมือนกันยันต์โภคทรัพย์ หรือ ยันต์หัวใจะระสิวลี ที่ว่า "นะ ชา ลิ ติ" โดยได้ลงยันต์ตัวนี้แจกญาติโยมที่กัมพูชาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓ จากนั้นมาอยูที่ประเทศไทยก็ทำแจกญาติมมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นต้นมา รวมแล้วน่าจะอยู่ในหลักหมื่นดอก

              คาถาหัวใจพระสีวลีถือว่าเป็นคาถาที่นิยมนำไปท่องจำตลอดจนมีการนำไปใช้ในวัตถุมงคลต่างๆ ที่มีความเด่นทางด้านให้โชคให้ลาภ เมตตามหานิยม ความร่ำรวย แต่คนโบราณส่วนใหญ่มักนิยมเรียกพระคาถาหัวใจพระสีวลีว่าพระคาถาหัวใจฉิมพลี ส่วนคนทางภาคเหนือของไทยนิยมเรียกว่า พระคาถาหัวใจลิมป๊ะลี ส่วนในตำราพรหมชาติ จะเรียกว่า พระคาถามหาลาภ โดยพระคาถาทั้งหมดนี้จะมีหัวใจสี่คำ คือ “นะ ชา ลิ ติ” ซึ่งมีความหมายดังนี้

              นะ หมายถึง ความนอบน้อมมีสัมมาคาราวะ

              ชา หมายถึง การขวนขวายเรื่องการงาน

              ลิ หมายถึง ไม่นอนมาก ไม่นอนดึก ไม่ตื่นสาย

              ติ หมายถึง ว่าโดยทั้งหมด
 
              ส่วนปัจจัยที่ได้จากศรัทธาของญาติโยมนั้น หลวงพ่อแวว บอกว่า มาจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ จากเดิมวัดแห่งนี้มีศาลาการเปรียญเก่าๆ เพียงหลังเดียวเท่านั้น ปัจจัยทั้งหมดส่วนใหญ่มาจากศรัทธาของญาติโยมที่มาเช่าบูชาวัตถุมงคล ซึ่งเป็นวัตถุมงคลที่วัดสร้างเองทั้งหมด วัดจะแล้วสมบูรณ์สมเป็นวัดต้องใช้เงินประมาณ ๒๕ ล้านบาท จะต้องจารตะกรุดสักแสนดอกก็ต้องทำ

              ทั้งนี้หลวงพ่อได้ให้คติธรรมทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า "การเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ และทุกข์จะเกิดได้กับสิ่งมีชีวิตเท่านั้น อย่าอาลัยอาวรณ์กับวันที่ผ่านมา อย่างวิตกังวลกับวันที่ยังมาไม่ถึง จงทำเวลานี้เดี๋ยวนี้ให้ดีที่สุด จงถึงความพร้อมด้วยความไม่ประมาท เรื่องยศและลาภตายไปหาบไปไม่ได้แน่ เว้นเสียแต่บุญกุศลที่จะตามไป ทิ้งสมบัติไว้ให้คนข้างหลัง แม้แต่ร่างของตนเขายังเอาไปเผาไฟ การใช้ตระกรุดเงินตุงกระเป๋าก็เหมือนกัน หากเรามีบุญมีกุศลเพรียบพร้อมไปด้วยความศรัทธา ชีวิตก็พลิกผันไปในทางที่ดีขึ้นได้"   


ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนา


              ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดภูเงิน เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดการเรียนการสอนโดยไม่เก็บค่าบำรุงการศึกษาใดๆ ทั้งสิ้น มีการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็ก และเยาวชนในวัดหยุด ในเรื่องธรรมะ และวิชาสามัญ ในพื้นที่ต.พระเพลิง จัดตั้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๑ ปัจจุบัน มีหลวงพ่อแวว เป็นประธานและพระผู้สอนวิทยาทานตามหลักการเผยแผ่ธรรมของพระพุทธศาสนา ด้านการเรียนการสอนเน้นในทางปฏิบัติโดยยึดหลักไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นแกนกลาง

              วัตถุประสงค์ของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดภูเงินจัดสร้างขึ้นเพื่อ ๑. เพื่อให้วัดและชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาด้านศีลธรรมให้เด็กและเยาวชน ๒. เพื่อให้เด็กและเยาวชนเกิดการพัฒนาด้านศีลธรรมอย่างมีระบบ ๓. เพื่อชักนำเด็กและเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาทางด้านทักษะชีวิต  ๔. เพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนตระหนักในวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม และ ๕. เพื่อให้เด็กและเยาวชนนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนาสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

              หลวงพ่อแวว พูดไว่อย่างน่าคิดว่า สภาพโดยรวมของวัดโดยเฉพาะศาลาการเปรียญที่สร้างมาคู่กับวัด ดูภายนอกอาจจะไม่พร้อมที่จะเป็นศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เหมือนวัดที่ตั้งอยู่ในเมือง แต่พระต้องทำหน้าที่จะมากจะน้อยก็ต้องทำ เพราะการเผยแผ่หลักธรรมไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่   


ร่วมบุญสร้างศาลาพุทธธรรม


              "ศาลาพุทธธรรม" เป็นศาลาที่หลวงพ่อแววจัดสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศาลาอเนกประสงค์ แทนศาลการเปรียญหลังเดิมที่สร้างจากไม้คู่มาพร้อมๆ กับการสร้างวัด ซึ่งชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างไปประมาณ ๕๐% ตั้องใช้ปัจจัยกว่า ๒๐ ล้านบาท เมื่อสร้างแล้วเสร็จนอกจากจะใช้เป็นศาลาบำเพ็ญบุญในวันและเทศกาลทางพุทธศาสนาแล้ว ยังใช้เป็นศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดภูเงินอีกด้วย

              อย่างไรก็ตามเพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จทางวัดจึงจัดสร้าง เหรียญพระพิฆเนศปางประทานพร เนื้อแร่เหล็กไหล ผสมแร่ธรรมชาติบำบัด สเคล่าร์ ลาวาภูเขาไฟ รุ่น ทรัพย์เพิ่มพูน สมปรารถนา และ รูปหล่อลอยองค์ พระพิฆเนศปางประทานพร เพนท์สี โดยมีพระเกจิอาจารย์ร่วมเจริญพระพุทธมนต์ในพิธีพุทธาภิเษก เช่น พระโสภณ พุทธิธาดา รองเจ้าคณะจังหวัดสระแก้ว พระครูสุนทร นิมมานการ เจ้าคณะอำเภอเมืองสระแก้ว พระครูปริยัตยาลังการ อำเภอเขาฉกรรจ์ พระครูธำรง ปริยัติคุณ รองเจ้าคณะอำเภอเมืองสระแก้ว พระครูวินิจ ปัญญาคุณ เจ้าคณะตำบลเขาสามสิบ พระมหาคำคูณ จนฺทโชโต เจ้าคณะอำเภอคลองหาด 

              นอกจากนี้หลวงพ่อแววยังจัดสร้างวัตถุมงคลอีกหลายชนิด เช่น เหรียญรุ่นชนะจน สมเด็จกรุวัดภูเงิน กุมารดูดรกเรียกทรัพย์ มีดหมอ  พระสังกัจจายน์ รุ่นรวยทันใจ และระหว่าวันที่ ๑-๓ มีนาคมนี้ ทางวัดจะจัดงานประจำปี มีกิจกรรมบุญที่น่าสนใจ เช่น ทอดผ้าป่าสามัคคี ถวายสังฆทาน เพื่อนำปัจจัยทั้งหมดสร้างศาลาพุทธธรรม  ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญสร้าศาลาพุทธธรรมกับหลวงพ่อแววได้ที่ วัดภูเงิน โทร. ๐๘-๖๐๔๒-๒๐๒๒ และ ๐๘-๙๐๙๘-๗๙๒๗

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ