พระเครื่อง

ศูนย์วิปัสสนาแนวปฏิบัติของ'อ.โกเอ็นก้า'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศูนย์วิปัสสนาแนวปฏิบัติของ'อ.โกเอ็นก้า' ในความดูแลของสำนักงานมูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐาน : เยือนถิ่นเรือนธรรม โดยพาบุญมา

              “อาจารย์สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า” (S.N. Goenka)หรือ "อ.โกเอ็นก้า” ผู้วางรากฐานการฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานให้มั่นคง สิ้นลมแล้วอย่างสงบที่บ้านพักเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เมื่อเวลา ๑๐.๔๐ น.วันอาทิตย์ที่ ๒๙ ก.ย.๒๕๕๖(เวลาอินเดีย) ด้วยวัย ๙๐ ปี โดยได้มีพิธีฌาปนกิจ เมื่อวันอังคารที่ ๑ ต.ค.๒๕๕๖ เวลา ๑๐.๓๐ ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการสูญเสียอาจารย์วิปัสสนากรรมฐานระดับโลก

              ทั้งนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ อ.โกเอ็นก้าเริ่มเดินทางไปเผยแผ่วิปัสสนาตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก หลักการสอนของท่านโกเอ็นก้าได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ทั้งในอินเดีย ประเทศที่ยังคงมีความแตกต่างทางด้านชนชั้นและศาสนาอย่างมาก และจากทั่วโลก ทั้งนี้เพราะคำสอนที่มีลักษณะเป็นสากล มิได้ขัดต่อหลักศาสนาใด ท่านเน้นเสมอว่ามนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใด นับถือศาสนาใด และมีผิวสีอะไร ต่างก็มีความทุกข์ในรูปแบบเดียวกันทั้งสิ้น ในเมื่อความทุกข์ของมนุษย์เป็นสากล วิธีการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากความทุกข์จึงต้องเป็นสากลเช่นกัน

              ต่อมาท่านได้เริ่มแต่งตั้งอาจารย์ผู้ช่วยให้ช่วยดำเนินการอบรมแทนท่าน โดยใช้เทปและวิดีโอของท่านเป็นแนวทางในการสอน เพื่อรองรับกับความต้องการที่จะเข้าอบรมซึ่งเพิ่มสูงขึ้น ทุกวันนี้มีอาจารย์ผู้ช่วยกว่า ๗๐๐ ท่าน และอาสาสมัครช่วยงาน ต่างๆ อีกนับพันๆ คน มีการจัดอบรมวิปัสสนาในประเทศต่างๆ กว่า ๙๐ ประเทศทั่วโลก ทั้งในอิหร่าน มัสกัต อาหรับเอมิเรตส์ แอฟริกาใต้ ซิมบับเว จีน มองโกเลีย รัสเซีย เซอร์เบีย ไต้หวัน กัมพูชา เม็กซิโก และประเทศต่างๆ ในอเมริกาใต้

              โดยมีการก่อสร้างศูนย์วิปัสสนาทั้งสิ้น ๘๐ แห่งใน  ๒๑ ประเทศทั่วโลก ในแต่ละปีจะมีการจัดอบรมหลักสูตรวิปัสสนาทั่วโลกกว่าหนึ่งพันหลักสูตร โดยไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าอบรม ที่พักหรือค่าอาหารใดๆ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจที่จะบริจาค ทั้งตัวท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเองและอาจารย์ผู้ช่วยต่างๆ ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากการอบรมดังกล่าวแม้แต่น้อย

              ในประเทศไทยมีศูนย์วิปัสสนาตามแนวทางของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ทั้งหมด ๕ ศูนย์ ประกอบด้วย ๑.ศูนย์วิปัสสนาธรรมกมลา ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ๒.ศูนย์วิปัสสนาธรรมอาภา ต.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ๓.ศูนย์วิปัสสนาธรรมสุวรรณา ต.บ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ๔.ศูนย์วิปัสสนาธรรมกาญจนา ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และ ๕.ศูนย์วิปัสสนาธรรมธานี แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ

              ศูนย์วิปัสสนาทั้ง ๕ แห่งนี้ อยู่ในความดูแลของสำนักงานมูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ได้ทรงเมตตารับไว้ในพระสังฆราชูปถัมภ์ โดยมีการจัดการอบรมหลักสูตรวิปัสสนา (หลักสูตรสติปัฏฐาน) ๑๐ วัน สำหรับพระภิกษุ สามเณร และฆารวาสทั่วไป หลักสูตรอานาปานสติสำหรับเด็กและเยาวชน รวมทั้งหลักสูตรวิปัสสนาในเรือนจำ

              คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ อ.โกเอ็นก้า แนะนำไว้ว่า "วิปัสสนาหมายถึง การมองดูสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง เป็นวิธีการปฏิบัติกรรมฐานที่เก่าแก่ที่สุดวิธีหนึ่งของอินเดีย ซึ่งได้สาบสูญไปจากมนุษยชาติมาเป็นเวลานาน แต่ก็ได้กลับมาค้นพบอีกครั้งโดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อกว่า ๒,๕๐๐ปี มาแล้ว  อันเป็นกระบวนการในการทำจิตให้บริสุทธิ์โดยการเฝ้าดูตนเอง เราจะเริ่มต้นด้วยการเฝ้าสังเกตดูลมหายใจตามธรรมชาติ เพื่อทำให้จิตมีสมาธิ
          
              เมื่อมีสติที่มั่นคง เราก็จะก้าวไปสู่การเฝ้าสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของกายและจิต ซึ่งจะทำให้ได้พบกับสัจธรรมที่เป็นสากล คือ ได้เห็นความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความทุกข์ (ทุกขัง) และความไม่มีตัวตน (อนัตตา) การที่ได้รู้เห็นถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงเหล่านี้จากประสบการณ์จึงเป็นวิธีการในการชำระจิตให้บริสุทธิ์ ธรรมะเป็นเรื่องสากล มีไว้สำหรับแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นสากล มิได้ผูกขาดเฉพาะศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือลัทธิใดลัทธิหนึ่ง ด้วยเหตุนี้บุคคลทุกคนจึงสามารถจะปฏิบัติได้อย่างเสรี โดยไม่มีข้อขัดแย้งในเรื่องของเชื้อชาติ ชั้นวรรณะ หรือศาสนา ทั้งในซีกโลกตะวันออกและตะวันตกทั่วทุกทวีป ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ และจะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆ คนโดยทั่วถึงกัน

              มูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐานในพระสังฆราชูปถัมภ์ ๔๒/๖๖๐ หมู่บ้านเค.ซี.การ์เด้นโฮม ถ.นิมิตใหม่ แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา
กทม. โทร.๐-๒๙๙๓-๒๗๑๑ เว็บไซต์:  www.thai.dhamma.org

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ