พระเครื่อง

นายสมชาติ ศรีรัตนารุ่งเรือง'พระสมเด็จจิตรลดา'สุดยอดพุทธคุณ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นายสมชาติ ศรีรัตนารุ่งเรือง'พระสมเด็จจิตรลดา'สุดยอดแห่งพุทธคุณและมหามงคล : พระเครื่องคนดัง เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

              "ผมเกิดที่ อ.เบตง จ.ยะลา พ่อแม่ของผมไม่ใช่คนรวยมาแต่เกิด อาจจะเรียกว่ายากจนด้วยซ้ำ ชีวิตในวัยเด็กผมผ่านอะไรมาเยอะมาก หลังเรียนจบ ป.๔ อายุได้ ๑๒ ปี ก็นั่งรถไฟมาหางานทำในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เป็นเด็กเสิร์ฟ รวมทั้งคนรับใช้ จากนั้นก็จับธุรกิจซื้อมาขายไป จนกระทั่งอายุ ๒๐ ปี ก็เริ่มศึกษาธุรกิจรังนกเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ ขณะนั้นรังนกมีราคาเพียง ๒-๓ หมื่นบาทเท่านั้น และมาเริ่มอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งราคารังนกอยู่ในหลักแสนบาทต่อกิโลกรัม"

              ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของชีวิต "นายสมชาติ ศรีรัตนารุ่งเรือง" หรือเสี่ยสมชาติ เจ้าของธุรกิจรังนก ซึ่งมีพระสมเด็จจิตรลดา อยู่ในครอบครองประมาณ ๗๐-๘๐ องค์ ถือว่ามากที่สุดของวงการพระเครื่อง

              เสี่ยสมชาติ เล่าว่า เริ่มหาพระเครื่องมาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจมาตั้งแต่อายุ ๑๕-๑๖ ปี เริ่มจากพระหลวงปู่ทวดก่อน ตามประสาวัยรุ่นเพราะเชื่อปาฏิหาริย์ในองค์ของท่าน จากนั้นก็เริ่มสะสมพระสายอื่นๆ ทั้งพระชุดเบญจภาคี พระกรุ รวมทั้งพระคณาจารย์ต่างๆ ส่วนพระสมเด็จจิตรลดา เริ่มเช่าประมาณ พ.ศ.๒๕๒๐ โดยสมเด็จจิตรลดาองค์แรกเป็นพิมพ์ใหญ่ เช่ามาในราคา ๒ หมื่นบาท ทั้งนี้จะเช่าเพื่อมอบเป็นของที่ระลึกให้ผู้ใหญ่ที่นับถือ ในช่วงนั้นไม่ค่อยมีคนสนใจเช่ามากนักทำให้มีโอกาสได้เห็นและได้เลือกเช่าพระสมเด็จจิตรลดา จำนวนมากรวมแล้วน่าจะผ่านมือกว่า ๕๐๐ องค์ 

              ทั้งนี้หากศึกษาการจัดสร้างพระสมเด็จจิตรลดาของพระเจ้าอยู่หัว จะมีข้อคิดและเป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดียิ่ง เช่น ทุกครั้งที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระพิมพ์นี้ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะมีพระราชกระแสรับสั่ง ให้ผู้รับพระราชทาน จงประพฤติปฏิบัติคุณงามความดี อยู่ในศีลธรรม และยึดมั่นในอำนาจแห่งพระพุทธคุณ ทรงกำชับให้เอาทองคำเปลวปิด ที่ด้านหลังขององค์พระก่อนนำไปบูชา ขณะปิดทองให้ตั้งจิตเป็นสมาธิ อธิษฐาน ขอให้ความดีงามที่มีอยู่ในตัว จงดำรงอยู่ต่อไป และขอให้ยังความเป็นสิริมงคล จงบังเกิดแก่ตัวยิ่งขึ้น อีกทั้งให้ประสบแต่ความสุขความเจริญในทางที่ดีงาม

              ส่วนความเป็น สุดยอดแห่งพุทธคุณและมหามงคล ของพระสมเด็จจิตรลดา เสี่ยสมชาติ บอกว่า พระสมเด็จจิตรลดาเป็นพระที่ในหลวงทรงกดเป็นองค์พระด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก โดยได้ทรงรวบรวมมวลสารเครื่องผสมสร้างอันเป็นของวิเศษตามตำรา และของส่วนพระองค์ตามพิธีแล้ว เครื่องผสมเหล่านี้ยังได้มาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วพระราชอาณาจักรอีกด้วย ส่วนในพระองค์ประกอบด้วย ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ในการเสด็จพระราชดำเนิน เปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และได้ทรงแขวนไว้ที่องค์พระแก้วตลอดเทศกาล จนถึงคราวที่เปลี่ยนเครื่องทรงใหม่ (ปีละ ๓ ครั้ง หรือ ๓ ฤดู) ดอกไม้แห้งเหล่านี้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมไว้

              นอกจากนี้ยังมี เส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา) ซึ่งเจ้าพนักงานได้รวบรวมไว้ หลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ทุกครั้ง ดอกไม้แห้ง จากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตร และด้ามพระขรรค์ชัยศรี ในพระราชพิธีฉัตรมงคล, ชัน และสี ที่ขูดจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์, ชันและสี ซึ่งทรงขูดจากเรือพระที่นั่ง ขณะที่ทรงตกแต่งเรือใบพระที่นั่ง โดยทรงนำมาบดเป็นผง รวมกับเส้นพระเจ้า คลุกกับกาวเป็นเนื้อเดียวกัน


พระสมเด็จจิตรลดาพิมพ์เล็ก

              พระสมเด็จจิตรลดา หรือพระกำลังแผ่นดิน เป็นพระเครื่องทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขอบองค์พระด้านหน้าทั้ง ๓ ด้าน เฉียงป้านออกสู่ด้านหลังเล็กน้อย มี ๒ ขนาดพิมพ์ คือ พิมพ์เล็ก กว้าง ๑.๒ เซนติเมตร สูง ๑.๙ เซนติเมตร และพิมพ์ใหญ่ กว้าง ๒.๐ เซนติเมตร สูง ๓.๐ เซนติเมตร มีหลายสี ตามมวลสารที่ใช้ผลิตในแต่ละครั้งแตกต่างกัน ได้แก่ สีน้ำตาล สีน้ำตาล-อมเหลือง สีน้ำตาล-อมแดงคล้ายเทียน สีดำอมแดง หรือสีดำอมเขียว มีทั้งสีเข้มและอ่อน
พุทธลักษณะพระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระปางสมาธิ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พระพักตร์ทรงผลมะตูม องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ ประทับนั่งเหนือบัลลังก์ดอกบัว ประกอบด้วย กลีบบัวบานทั้ง ๙ กลีบ และเกสรดอกบัว ๙ จุด อยู่ในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว โดย ศ.ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ผู้เป็นผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในงานด้านประติมากรรม เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ ถวายเพื่อทรงพระราชวินิจฉัย แก้ไข จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย
            
              พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำพระสมเด็จจิตรลดา พิมพ์เล็ก สำหรับพระราชทานให้เด็ก มีจำนวน ๔๐ องค์ โดยสี่องค์แรก พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ทั้งสี่พระองค์ ฉะนั้นจึงมีเพียง ๓๖ องค์เท่านั้นที่อยู่ในความครอบครองของพสกนิกร และตามประวัติทรงพระราชทานให้เพียง ๒ ปีเท่านั้น คือ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๘-พ.ศ.๒๕๐๙
            
              พระสมเด็จจิตรลดา เป็นพระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้พสกนิกรผู้ประกอบแต่กรรมดีแก่ประเทศชาติ โดยทรงมิได้เลือกชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือชั้นผู้น้อย จนมาถึงคนขับรถ คนสวน แม่ครัว และบรรดาข้าราชการทหารที่ไปร่วมรบในสมรภูมิต่างๆ เช่น เวียดนามและลาว

กว่า ๒ ทศวรรษที่ทำเพื่อพ่อหลวง

              เสี่ยสมชาติ บอกว่า เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๓๐ ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานถวายในหลวงใน “โครงการส่วนพระองค์ เกี่ยวกับการเกษตร สวนจิตรลดา” ภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐานอันเป็นเขตพระราชฐานที่ประทับ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากในหลวงเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขตามสมควรแก่อัตภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตรซึ่งถือว่า เป็นอาชีพหลักของประเทศ

              โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มุ่งเน้นการดำเนินงานโดยยึดหลักปรัญชา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงาน ๓ ประการ คือ ๑.เป็นโครงการทดลองเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านเกษตรกรรมต่างๆ ๒.เป็นโครงการตัวอย่าง ให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาทำการศึกษา และสามารถนำไปดำเนินการเองได้ และ ๓.เป็นโครงการที่ดำเนินงานโดยไม่หวังผลตอบแทนเชิงธุรกิจ

              การดำเนินงานของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา แบ่งออกเป็น ๑.โครงการไม่ใช่ธุรกิจ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ รวมทั้ง หน่วยงานจากภาคเอกชน ที่ปฏิบัติงานสนองพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการเกษตรควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และ ๒. โครงการกึ่งธุรกิจ เป็นโครงการที่มีกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตร รวมทั้งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคาที่ไม่หวังผลกำไร เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคสินค้าที่ผลิตได้เองภายในประเทศ โดยรายได้จะนำมาใช้บริหารจัดการภายในโครงการต่อไป

              "สิ่งหนึ่งที่ผมทำมากว่า ๒๐ ปี คือ รับผลิตภัณฑ์ของโครงการส่วนพระองค์มาจำหน่ายโดยได้จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งของภัตตาคารสยาม ไชนีส เรสเทอรองท์ บริเวณถนนสีลมซอย ๙ จำหน่ายสินค้าจากโครงการส่วนพระองค์ไม่ได้บวกราคาเพิ่มแต่อย่างใด ราคาที่ขายหน้าร้นเท่ากับราคาที่ซื้อจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพราะผมอยากทำถวายพระองค์ท่าน" เสี่ยสมชาติกล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ